ควังจู หรือ กวางจู เป็นชื่อเมืองที่ไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปเกาหลีใต้แต่สำหรับผู้ที่สนใจการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย มันคือเมืองศูนย์กลางการเรียนรู้การเปลี่ยนผ่านจากการปกครองเผด็จการสู่ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้
ผมยอมรับว่าไม่ค่อยมีความรู้หรือติดตามกระบวนการทางประชาธิปไตยเกาหลีใต้มากเท่าไร ภาพจำเรื่องนี้สำหรับผมไม่ค่อยมีเท่าไร แต่วันนี้ 18 พ.ค. 2021 ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 41 ปีก่อนที่หลายช่วงหลายตอนไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย คำถามแรกคืออะไรทำให้เกาหลีใต้หลุดจากวงจรการทำรัฐประหาร ก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างที่เห็นทุกวันนี้
ย้อนไปเมื่อปี 1980 การปกครองก่อนหน้านั้นของเกาหลีใต้ที่เพิ่งหลุดจากการปกครองของญี่ปุ่นและต่อด้วยสงครามเกาหลีที่ทำให้ต้องแยกเป็น 2 ประเทศ คนที่ปกครองมาจากกองทัพและมักมีการทำรัฐประหารผลัดเปลี่ยนผู้นำ การปกครองแบบเผด็จการนำมาซึ่งการกดขี่ประชาชน เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ปัญหาเหล่านี้สะสมมาหลายสิบปีจนมาถึงการลอบสังหารประธานาธิบดี พัคจุงฮี ที่ถูกลอบสังหารทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เปิดทางให้นายพล ชุนดูฮวาน เข้ายึดอำนาจประกาศกฎอัยการศึก จุดนี้เองที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วง รัฐบาลเข้าปราบปรามหลายจุดสลายการชุมนุมเหลืออยู่เพียงเมืองเดียวที่ยืนยัดประท้วงนั่นก็คือเมือง ควันจู หรือ กวางจูเมืองทางตอนใต้ของประเทศ สมัยนั้นการติดต่อไม่ได้ดีเหมือนสมัยนี้ นักศึกษาในเมืองไม่รู้เลยว่าจุดอื่นๆได้สลายการชุมนุมไปแล้ว รัฐบาลทหารในตอนนั้นปิดเมืองทำการปราบปรามอย่างหนักเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ไปจนถึง 27 พ.ค.จากตัวเลขของทางการระบุว่ามีประชาชนนและนักศึกษาเสียชีวิตไปเกือบ 200 คนแต่คาดว่าผู้เสียชีวิตที่แท้จริงน่าจะมากกว่านั้น
การต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนที่เมืองควันจูถึงแม้จะจบลงด้วยการเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่กระบวนการทางประชาธิปไตยไม่ได้หยุดแค่นั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการต่อสู้ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องถึงความจริงและความยุติธรรม และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้นที่เกาหลีใต้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้ประชาชนสามารถเลือกประธานาธิบดีได้โดยตรงและกลายเป็นรัฐบาลพลเรือนมีประธานิบดีที่มาจากการเลือกตั้งในปี 1993 ทหารถอยกลับเข้ากรมกอง แม้แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาที่มีการดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดี พัคกึนเฮ ลูกสาว ของพัคจุงฮี ท่ามกลางความหวาดระแวงว่าอาจเกิดรัฐประหารอีกแต่ก็ไม่เกิดขึ้น พัคกึนเฮ ถูกปลดและถูกดำเนินคดี
คำถามที่ตามมาเกิดอะไรขึ้นกับสังคมและความคิดของคนเกาหลีใต้รวมถึงกองทัพที่ยอมลงจากอำนาจทั้งๆที่หลังเหตุการณ์ที่ ควันจู ก็ยังอยู่ในอำนาจต่อไปได้อย่างสบาย การพูดคุยกับอาจารย์ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้แปลหนังสือ “18 พฤษภาคม การลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตย” ได้ให้ความเห็นว่าการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในสังคมในทิศทางเดียวกันมีส่วนกดดันทั้ง ศาสนจักรที่ทรงอิทธิพล กลุ่มเอ็นจีโอ ทัศนคติของประชาชน กลุ่มธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
เหตุการณ์ 18 พ.ค. 1980 เกิดหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมของไทย ประมาณ 3 ปี เหตุผลที่รัฐใช้ในการปราบปรามนักศึกษาคล้ายกันคือการตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นวาทกรรมที่นำมาใช้ในการปราบปรามในช่วงสงครามเย็น นักศึกษาที่ควันจู ถูกกล่าวหาว่าได้รับการหนุนหลังจากเกาหลีเหนือ ทำให้มีคำถามตามมาอีกว่าสหรัฐที่เข้าประจำการที่เส้นแบ่งที่ 38 จึงปล่อยให้มีการสังหารประชาชนเป็นจำนวนมากซึ่งคำตอบอาจอยู่ที่คำว่า “คอมมิวนิสต์”
ถึงแม้เหตุการณ์ทีเกิดขึ้นที่เกาหลีใต้จะคล้ายกับไทยแต่สิ่งที่ต่างคือการค้นหาข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น กลุ่มนักศึกษาที่ควันจูถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธ เป็นพวกก่อจลาจลสมควรที่จะถูกปราบปรามมาเป็นเวลานาน แต่การต่อสู้ของพวกเขาเพื่อบอกความจริงต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตอนนี้พวกเขาหลุดจากตราที่ถูกตี ข้อเท็จจริงปรากฎแล้วว่าพวกเขาคือพลเรือนธรรมดาที่ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย การรวบรวมหลักฐาน คำบอกเล่าของผู้ที่เห็นเหตุการณ์อย่างเป็นระบบ นำมาซึ่งการดำเนินการทางกฎหมาย รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดใช้กับผู้สูญเสีย ตัวของนายพล ชุนดูฮวาน ถูกนำขึ้นศาลและถูกตัดสินว่ามีความผิดถึงแม้ตอนหลังจะได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดี คิมแดจุง เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวในตอนนั้นที่ทั้งถูกจับและทรมานด้วยเหตุผลเพื่อสร้างความปรองดองในประเทศ แต่ถึงแม้เรื่องต่างๆได้ผ่านมา 41 ปีแต่กระบวนการค้นหาความจริงก็ยังไม่สิ้นสุดตอนนี้ก็ยังดำเนินอยู่เนื่องจากยังคงมีคำถามหลายอย่างที่ยังไม่ได้คำตอบ โดยเฉพาะ ใครเป็นคนออกคำสั่งให้ปราบปรามประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมหรือไม่ เพราะจนถึงขณะนี้ การดำเนินคดีเรื่องนี้ยังอยู่ในศาล และ ชุนดูฮวาน ยังคงปฏิเสธเรื่องการออกคำสั่งและการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน
ใครสนใจเรื่องราวของเหตุการณ์นี้ติดตามฟังได้ที่ไลฟ์การพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ 18 พ.ค. 1980 หรือสนใจอยากอ่านหนังสือมีแจก 5 เล่มเข้าไปกดไลค์กดแชร์และแสดงความเห็นทำทั้งสามอย่างทีมงานจะสุ่มเพื่อแจกหนังสือครับ