Skip to main content

สรุป

  • บริษัทผลไม้กระป๋องในไทย ฟ้องร้องนักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ 'อานดี้ ฮอลล์' ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

  • ข้อกล่าวหามีทั้งละเมิดกฎหมายอาญา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์, คดีหมิ่นประมาท และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามมาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา และคดีทางแพ่ง จากการที่อานดี้ ฮอลล์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างชาติตอนที่อยู่ในเมียนมา 

  • คดีหมิ่นประมาทและ คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการตัดสินความผิดจากศาลชั้นต้น อานดี้ ฮอลล์ จึงอุทธรณ์และต่อไปถึงศาลฎีกา มีการพิจารณาพิพากษายกฟ้อง ส่วนคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 300 ล้านบาท ฝ่ายโจทก์ บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ตัดสินใจถอนฟ้อง

  • คดีทางแพ่ง ข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาเมื่อ 11 พ.ค. 2564 ให้ยกฟ้องคดี

อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยและนักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ ผู้จัดทำรายงานวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานชาวเมียนมาในอุตสาหกรรมอาหารของไทย ถูกบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด กิจการผลิตสินค้าสับปะรดกระป๋องในประเทศไทย ฟ้องร้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา สืบเนื่องจากฮอลล์ผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติในกิจการสับปะรดกระป๋องในไทย และให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่ประเทศเมียนมาพาดพิงการจ้างงานในประเทศไทย

ข้อหาที่บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด ฟ้องร้องอานดี้ ฮอลล์ ได้แก่ กระทำผิดมาตรา 14 (1) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์, คดีหมิ่นประมาทและหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามมาตรา 326 / 328 ประมวลกฎหมายอาญา จากการเผยแพร่งานวิจัย และคดีหมิ่นประมาททางแพ่ง 

ส่วน #คดีอานดี้ วันที่ 11 พ.ค. 2564 ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องคดีบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด ฟ้องฮอลล์ ข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย กรณีให้สัมภาษณ์นักข่าวที่ประเทศเมียนมาเกี่ยวกับการจ้างงาน

ยืนยัน ไม่ได้ทำให้ฝ่ายโจทก์เสียหาย

ศาลแพ่งพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา โดยสรุปว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการผลิตสินค้าประเภทสับปะรดกระป๋อง จำเลยเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแรงงานข้ามชาติและให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวที่เมียนมา มีข้อความเกี่ยวกับการจ้างงานของโจทก์ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่

ประเด็นนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวด้วยข้อความเกี่ยวกับการจ้างงานของโจทก์อันเป็นเท็จโดยมีการบันทึกภาพและเสียงที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเพื่อให้มีการเผยแพร่คำพูดของจำเลยให้แก่บุคคลทั่วไปทราบอันเป็นการจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับว่าเคยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา แต่ถ้อยคำที่ให้สัมภาษณ์เป็นข้อความจริงที่จำเลยได้จากการเก็บข้อมูลสภาพการทำงานของแรงงานต่างชาติจากคนงานบางส่วนที่ทำงานกับโจทก์โดยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวตามฟ้องเฉพาะสองตอนหลังเท่านั้น ส่วนข้อความตอนแรกนักข่าวที่ทำข่าวเป็นคนพูดกล่าวนำ จำเลยไม่ได้พูด และจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำบทสัมภาษณ์ทั้งภาพและเสียงเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตเนื่องจากเป็นการกระทำโดยอิสระของผู้เสนอข่าว จำเลยไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในอนาคตขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับ แต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่ ประเด็นนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวด้วยข้อความเกี่ยวกับการจ้างงานของโจทก์อันเป็นเท็จโดยมีการบันทึกภาพและเสียงที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเพื่อให้มีการเผยแพร่คำพูดของจำเลยให้แก่บุคคลทั่วไปทราบอันเป็นการจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ 

แต่ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยอันเป็นมูลละเมิดตามฟ้องไปฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.517/2556 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลละเมิดตามคำฟ้องที่เป็นความรับผิดในทางแพ่งของจำเลยเกิดขึ้นจากผลของการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยโดยตรงอันเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 เมื่อคดีอาญาศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจําเลยกระทำโดยสุจริตเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (3) ไม่ถือว่าการกระทําของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 7362 /2562 

ด้วยเหตุนี้เอง กรณีไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่า การที่จำเลยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวด้วยข้อความเกี่ยวกับการจ้างงานของโจทก์ เป็นการจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย จึงมิใช่เป็นการทำละเมิดที่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์ตามคำฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง