Skip to main content

เกิดความสับสนเกี่ยวกับ ‘วัคซีนโควิด-19’ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย เพราะข้อมูลในสื่อต่างชาติและองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ติดตามเรื่องวัคซีนโควิด บ่งชี้ว่าทางการไทยอนุญาตให้ใช้วัคซีนโควิดนอกเหนือจากที่องค์การอาหารและยา (อย.) เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

ข้อมูลของ The New York Times สื่อในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอัปเดตล่าสุดเมื่อ 3 พ.ค.2564 รวมถึงข้อมูลในเว็บไซต์ติดตามการกระจายวัคซีนโควิดทั่วโลก (covid19.trackvaccines.org) ระบุว่าไทยอนุญาตวัคซีนโควิดทั้งหมด 5 ตัว ได้แก่ ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, ซิโนแวค

Covid Vaccine Tracking

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสื่อสารองค์กร กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อ 3 พ.ค.เช่นกัน อ้างอิงคำแถลงของ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการ อย. ซึ่งเผยความคืบหน้าการพิจารณาอนุญาตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย โดยระบุว่า อย.ได้อนุมัติวัคซีนโควิดไปแล้วแค่ 3 ราย 

ประกอบด้วย (1) วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (2) วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค ซึ่งองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้นำเข้า และ (3) วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค

ส่วนวัคซีนที่อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียนกับ อย. มี 1 ราย คือ วัคซีนโมเดิร์นนา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และอีก 2 รายอยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารพร้อมประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนโควัคซีน โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และวัคซีนสปุตนิค V โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด

ข่าวประชาสัมพันธ์ อย. ระบุด้วยว่า "อย. มีความพร้อมในการพิจารณาอนุมัติวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้โดยเร็วและเพียงพอ ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ทุกรายการที่มายื่นขอขึ้นทะเบียน อย. จะพิจารณาทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลโดยจัดให้มีช่องทางพิเศษเพื่อรองรับการพิจารณาโดยเร็ว แต่ยังคงมาตรฐานสากล โดยใช้เวลาพิจารณาประมาณ30 วัน หลังจากยื่นเอกสารครบถ้วน"

COVID-19 Vaccine Tracking/ The New York Times

ช่วงค่ำวันที่ 4 พ.ค. ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย พูดคุยผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ โดยใช้ชื่อว่า Tony Woodsome และมีผู้ฟังแบบถ่ายทอดสดราว 60,000 คน โดยอดีตนายกฯ ระบุว่า ไทยอนุญาตการใช้งานวัคซีนไฟเซอร์แล้ว และสามารถตรวจสอบได้โดยตรงจากเว็บไซต์บริษัทไฟเซอร์ไบโอเอ็นเทค ผู้ผลิตวัคซีน

หลังจากนั้นมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งในไทยนำข้อมูลจากเดอะนิวยอร์กไทม์สมาเผยแพร่ต่อเพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อดีตนายกฯ ทักษิณ เผยแพร่ และผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคน รวมถึง นพ.วิทวัส ศิริประชัย ผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก Drama Addict ที่มีผู้ติดตามอยู่ราว 2.7 ล้านบัญชีได้ตั้งคำถามว่าเหตุใดข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนของทางการไทยกับที่ปรากฏในเว็บไซต์สื่อต่างประเทศจึงไม่ตรงกัน

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 1 เม.ย. ‘ธานี แสงรัตน์’ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เคยแถลงเกี่ยวกับการรับรองวัคซีนในประเทศไทยเช่นกัน โดยระบุว่า ชาวต่างชาติหรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศโดยมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบถ้วน จะได้รับการพิจารณาผ่อนผันให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน แต่ต้องฉีดวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และ อย. 

วัคซีนที่โฆษก กต.กล่าวถึงเมื่อเดือน เม.ย.มีทั้งหมด 7 ตัว ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า (ที่ผลิตโดยบริษัทออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า และที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์), ซิโนแวค, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, ไฟเซอร์, โควิชีลด์, โมเดอร์นา จึงมีผู้คาดการณ์ว่าข่าวดังกล่าวอาจเป็นข้อมูลให้สื่อต่างชาติรายงานว่าไทยมีการรับรองวัคซีนไฟเซอร์แล้ว