Skip to main content

ทีมงานเด็กเล็กประมาณ 70 คนได้รับ ‘การว่าจ้าง’ เพื่อทำงานสร้างรอยยิ้มและทำให้วันของ ‘คนแก่’ ในเมืองสดใสมากขึ้น ท่ามกลางวิกฤตความเหงาที่กำลังเป็นปัญหารุนแรงในสังคมญี่ปุ่น

หากพูดถึงประเทศญี่ปุ่น แง่มุมหนึ่งที่ใครหลายคนคิดถึงคงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งตามมาด้วยปัญหาเรื่อง ‘ความเหงา’ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาทางเพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้กลายเป็นปัญหาใหญ่มากกว่านี้ และวิธีการหนึ่งที่บ้านพักคนชราอิโชอัน ในเมืองคิตะคิวชู คิดได้คือการว่าจ้าง ‘เด็กเล็ก’ มาทำงานสร้างรอยยิ้มและกำจัดความเหงาให้ผู้เฒ่าเหล่านี้

“พอได้เจอกับเด็กๆ ก็ทำให้ฉันมีกำลังใจมากขึ้น และสิ่งนี้ก็ช่วยฉันได้มากเลยล่ะ” ทัตสึโอะ โอจิโระ วัย 93 ปี กล่าว

ความเหงาและโดดเดี่ยวเป็นปัญหาที่รุนแรงของประเทศญี่ปุ่น กระทั่งในปี 2021 รัฐบาลญี่ปุ่นได้แต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงความเหงาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีหน้าที่ช่วยทให้ผู้คนทุกวันสามารถเชื่อมต่อกัน และเข้าใจกันและกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

คิมิเอะ กอนโด ผู้อำนวยการบ้านพักคนชราอิโชอัน ได้แนวคิดเรื่องการว่าจ้างเด็กเล็กมาดูแลคนแก่ เมื่อครั้งที่หลานสาวของเธอมาเยี่ยม และเธอก็เห็นว่ามันทำให้คนแก่ที่อยู่ในบ้านพักคนชรามีความสุขมากเหลือเกิน โดยเธอเล่าว่า “พอเห็นผู้สูงอายุยิ้มมีความสุข ฉันก็ตระหนักได้ถึงพลังที่เด็กเล็กมี”


ปัจจุบันนี้ บ้านพักคนชราแห่งนี้ได้ทำการว่าจ้างเด็กเล็กประมาณ 70 คน ซึ่งเด็กๆ จะเข้ามาทำงานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยมีหน้าที่หลักคือการสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับคนชราที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ทั้งนี้ เด็กเล็กทุกคนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นผ้าอ้อมและไอศกรีม แต่นั่นไม่ใช่รางวัลเพียงอย่างเดียวของพวกเขาเท่านั้น แต่การมาที่บ้านพักคนชรายังทำให้เด็กๆ ได้พบปะกับผู้คนใหม่ๆ ซึ่งมีทั้งคนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันและคนต่างอายุกัน

“เด็กๆ จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กวัยเดียวกัน รวมถึงคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายทั้งหลายที่พบเจอได้ยาก” ชิโนฮาระ ผู้ปกครองของเด็กเล็กคนหนึ่งกล่าว พร้อมระบุว่าผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราแห่งนี้ เปรียบเสมือน “ครูแห่งชีวิตผู้ยิ้งใหญ่” ของเด็กๆ

สำหรับคุณสมบัติของเด็กเล็กที่จะเข้ามาทำงานนี้นั้น กอนโดระบุว่า พวกเขาต้องมีอายุต่ำกว่า 3 ปี และยิ่งพูดน้อยก็จะยิ่งดี เนื่องจากผู้สูงอายุอาจจะมีปัญหาในการพูดและการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขามีปัญหาเรื่องความจำ หรือมีภาวะความจำเสื่อม และไม่เพียงแค่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่การมาเยี่ยมของเด็กเล็กยังทำให้รู้สึกถึงความเป็นครอบครัวญี่ปุ่นที่มีสมาชิกในครอบครัวหลายรุ่นอยู่อาศัยร่วมกันภายใต้ชายคาเดียวกันอีกด้วย



ข้อมูลอ้างอิงจาก:
Toddlers are put to work spreading cheer at Japanese nursing home
How one nursing home is tapping a new work force: Toddlers
Toddlers 'hired' in Japanese nursing home to tackle loneliness