กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมมือกันต่อสู้กับภาวะวิกฤตที่อยู่อาศัย ด้วยการสร้างที่อยู่ที่มีเอกลักษณ์และราคาไม่แพง
ที่อยู่อาศัยกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนรุ่นใหม่เริ่มหยิบยกมาพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เมื่อราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงขึ้นพร้อมกับอัตราค่าครองชีพ แต่รายได้กลับสวนทางกับรายจ่าย แล้วคนรุ่นใหม่จะมีโอกาสได้เป็น ‘เจ้าของบ้าน’ หรือครอบครองที่อยู่อาศัยของตัวเองหรือไม่ จึงกลายเป็นคำถามที่คนรุ่นใหม่ทั่วโลกเริ่มหันกลับมาถามตัวเอง เช่นเดียวกับวัยรุ่นในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนอเธอร์แลนด์ ที่เริ่มมองอนาคตของตัวเอง และถามตัวเองว่า “พวกเขาจะมีเงินพอที่จะใช้ชีวิตในเมืองของตัวเองได้อย่างไร?”
นั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘De Torteltuin’ หรือ ‘Dove Garden’
“ในช่วงปี 2020 พวกเราอายุประมาณ 22 - 23 ปี ซึ่งเราก็มีความใฝ่ฝันกันว่าถ้าเราสร้างสถานที่ของเราเองล่ะ เราสร้างพื้นที่อยู่อาศัย สร้างโรงเรียนอนุบาล แล้วเราก็ปลูกผักเพื่อเป็นอาหารของพวกเราเองด้วย เราจึงมารวมตัวกันเพื่อคุยเรื่องนี้กันทุกเดือน จนมันเกิดขึ้นอย่างช้าๆ” ไอริส ลูเดน วิศกรและเป็นหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง กล่าว
อัมสเตอร์ดัมถือเป็นเมืองหลวงอีกแห่งหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตที่อยู่อาศัยฉับพลัน และเป็นเมืองในยุโรปที่การสร้างบ้านทำได้ยากที่สุด ขณะที่ค่าเช่าของภาคเอกชนก็สูงมากเช่นกัน โดยค่าเช่าบ้านในอัมสเตอร์ดัมอยู่ที่ 900 ยูโร (ประมาณ 35,000 บาท) สำหรับห้องพักในแฟลตรวม และอาจต้องใช้เวลารอนานถึง 20 ปีสำหรับที่อยู่อาศัยแบบเคหะชุมชนที่เป็นของรัฐบาล
“สถานการณ์มันแย่มาก ผู้คนต้องย้ายบ้านกันเป็นว่าเล่น เฉลี่ยปีละครั้งเลยก็ว่าได้ คุณอยู่ตรงนั้นเป็นเวลานานๆ ไม่ได้ เราจึงต้องการสถานที่สักแห่งที่ราคาไม่แพงและสามารถสร้างชุมชนได้” ลูเดน กล่าว
ความฝันของหนุ่มสาวกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ หากรัฐบาลท้องถิ่นไม่อนุมัติผ่านแผนสำหรับโครงการการสร้างบ้านสหกรณ์ 15-20 โครงการในระยะเวลา 4 ปี โดยโครงการนี้มีเป้าหมายคือกำหนดให้ 10% ของอาคารที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ในเมืองอัมสเตอร์ดัมต้องอยู่ในรูปแบบสหกรณ์หรือเจ้าของร่วม
“เราเริ่มจริงจังกับโครงการนี้มากขึ้น โดยเราได้จัดตั้งกลุ่มย่อยต่างๆ ทั้งกลุ่มที่ดูแลเรื่องการเงิน กลุ่มดูแลเรื่องความยั่งยืน และอื่นๆ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้อะไรเยอะมากในช่วงเวลาสั้นๆ จนเราสามารถจดทะเบียนเป็นสมาคม จากนั้นเราก็เขียนแผนโครงการ และเข้าสมัครกับรัฐบาลท้องถิ่น” ลูคัส เนิร์ล อีกหนึ่งสมาชิกของ ‘De Torteltuin’ เล่า
หลังโครงการได้รับการอนุมัติ พวกเขาเริ่มจัดหาทีมสถาปนิกที่มีประสบการณ์ในโครงการความร่วมมือที่ไม่แสวงหาผลกำไร ระดมทุนเพื่อจ่ายค่าสถาปนิด และนำเสนอแบบแปลนสำหรับอพาร์ทเมนต์ 40 ยูนิต แบ่งเป็นห้องแบบสตูดิโอไปจนถึงห้องแบบ 3 ห้องนอน โดยใช้วัสดุเป็นไม้และถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ‘De Torteltuin’ ยังได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐบาลท้องถิ่น โดยตั้งอยู่ที่ IJburg ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 20 นาทีโดยรถราง และ 45 นาทีโดยจักรยาน ซึ่งจะกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ
ขณะนี้อาคารที่อยู่อาศัยของโครงการ ‘De Torteltuin’ กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง แต่ภายในปีหน้าหรือต้นปี 2026 กลุ่มผู้อยู่อาศัยก็จะสามารถย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการพบปะสังสรรค์ มีห้องรับแขก มีห้องเครื่องมือที่สามารถใช้ร่วมกัน มีเวที สตูดิโอ และห้องใต้ดิน
โครงการ ‘De Torteltuin’ ไม่เพียงต่อสู้กับวิกฤตที่อยู่อาศัย แต่ยังเป็นการสร้างชุมชนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน พร้อมๆ กับการกำหนดวิสัยทัศน์ของการใช้ชีวิตในเมืองในอนาคต นั่นคือการสร้างบ้านที่ยั่งยืนและทุกคนสามารถเข้าถึงได้
----------
ข้อมูลอ้างอิง:
เว็บไซต์โครงการ
อินสตราแกรมโครงการ
‘What if we built our own?’: young Amsterdammers fight housing crisis with cooperative build