เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในสื่อโซเชียลของไทย ต่อนโยบายจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่เกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดรอบใหม่ จนล่าสุดมีการตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊กพร้อมทั้งติดแฮชแท็ก #ย้ายประเทศกันเถอะ เมื่อ 1 พ.ค.2564
กลุ่มส่วนตัวที่ใช้ชื่อ ย้ายประเทศกันเถอะ มีผู้เข้าร่วมราว 2.3 แสนบัญชี หลังจากที่ตั้งขึ้นไม่ถึง 24 ช.ม.ทั้งยังมีกลุ่มย่อยอื่นๆ ที่ระบุเจาะจงไปเลยว่าอยากย้ายไปยังประเทศไหน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือไม่ก็เป็นประเทศรัฐสวัสดิการ โดยผู้เข้ากลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าถ้าจะอพยพไปยังประเทศปลายทางต้องทำอย่างไร หรือมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
ขณะที่ ‘ชุมพล แจ้งไพร’ หรือ ‘เชฟชุมพล’ เชฟร้าน R-HAAN ที่ได้รับการติดดาวมิชลิน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว @Chefchumpol ระบุว่า “สำหรับคนที่ด่าประเทศไทย ผมอยากไห้คุณไปอยู่ USA .Russia,Germany ,UK, France .China ,UAE, etc..ประเทศละ1ปี...แล้วคุณจะ #รักประเทศไทย #love” ทำให้มีผู้โพสต์คอมเมนต์ถกเถียงกันอย่างหลากหลาย
มีคนจำนวนมากที่สนับสนุนความเห็นของเชฟ แต่ก็มีผู้ที่มาโต้แย้งเช่นกันว่าคนวิจารณ์เรื่องโควิดส่วนใหญ่ “ไม่ได้ด่าประเทศ แต่ด่ารัฐบาล” ซึ่ง ‘ปิติ ภิรมย์ภักดี’ นักธุรกิจทายาทเครือบุญรอด เจ้าของเบียร์สิงห์ ได้มาแสดงความเห็นท้ายโพสต์นี้เช่นกันว่า “ผมยังไม่เห็นคนด่าประเทศไทยเลย”
แม้ยังไม่อาจชี้วัดได้ว่าการหาข้อมูลย้ายประเทศจะอยู่ในความสนใจของคนในสังคมไทยไปอีกนานแค่ไหน แต่การหาทางไปต่างประเทศเพื่อทำงาน ตั้งรกราก หรือแสวงหาโอกาสในชีวิตที่มากกว่าการอยู่ในไทย “ไม่ใช่เรื่องใหม่” เพราะหลายทศวรรษที่ผ่านมาเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่อเนื่อง มีทั้งผู้ขอวีซ่าทำงานต่างประเทศถูกกฎหมาย และผู้ที่ไปด้วยวีซ่าประเภทอื่นแต่ลักลอบอยู่ทำงานต่อ เช่น กรณี ‘ผีน้อย’ ในเกาหลีใต้
ส่วน ‘ภาวะสมองไหล’ เป็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่เป็น ‘กุญแจของการเติบโตทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งจากยุคหลัง 2532 เป็นต้นมา คือ กลุ่มผู้มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก ในกรณีของไทย ผู้มีทักษะเหล่านี้มักจะไปทำงานหรือศึกษาต่อต่างประเทศ ก่อนจะกลายเป็นผู้อพยพถาวรในประเทศเหล่านั้น ทำให้รัฐบาลไทยต้องจัดตั้งโครงการสมองไหลกลับ (Reverse Brain Drain Project หรือ RDB) เพื่อดึงคนเหล่านี้กลับมา โดยยุคแรกอยู่ในความดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)
ขณะที่บทความในวารสารวิจัยทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าเหตุผลที่บุคลากรระดับมันสมองอพยพออกจากประเทศขนานใหญ่ ส่วนหนึ่งเกิดจาก ‘ความขัดแย้ง การขาดโอกาส ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และความเสี่ยงด้านสุขภาพ’ ซึ่งเป็นประเด็นร่วมในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ไทย
การจะดึงกลุ่มคนเหล่านี้กลับบ้านเกิดและดึงดูดให้อยู่ต่อได้โดยไม่ย้ายกลับไปต่างประเทศอีกคือ การพัฒนาและเสริมสร้างโอกาสที่เพียงพอในประเทศบ้านเกิด เพราะคนที่คิดจะย้ายประเทศในยุคนี้ และสามารถหาทางไปได้สำเร็จ ก็น่าจะเข้าข่าย ‘ผู้มีคุณสมบัติ’ ที่ประเทศอื่นๆ ต้องการตัวเช่นกัน
ในยุคเดียวกับที่คนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานจำนวนหนึ่งพยายามหาทางย้ายประเทศ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับประชากรในวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและองค์กรต่างๆ ก็เตือนมาได้สักพักใหญ่แล้วว่าไทยต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) โดยเร็ว เพื่อรับมือกับการขาดแคลนแรงงานในอนาคต