Skip to main content

แก๊งคุณยายจากสาธารณรัฐซิมบับเว พลิกโฉมการดูแลสุขภาพจิตด้วยการสร้าง ‘ม้านั่งแห่งมิตรภาพ’ ที่ราคาไม่แพง มาเจอกันได้เสมอ และเปี่ยมประสิทธิภาพในการฮีลใจลูกหลานได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางปัญหาสุขภาพจิตที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในซิมบับเว ‘นายแพทย์ดิกสัน ชิบันด้า’ จิตแพทย์หนุ่มมากความสามารถตัดสินใจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้คนที่กำลังต้องการการดูแลทางด้านสุขภาพจิต ทว่าซิมบับเวขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ว่า  ‘ชิบันด้า’เป็นหนึ่งในจิตแพทย์เพียง 15 คนของประเทศที่มีประชากรกว่า 16 ล้านคน 

หลังจากคนไข้หญิงสาวอนาคตไกลฆ่าตัวตาย ชิบันด้าอุทิศชีวิตให้กับการช่วยเหลือผู้คนที่เผชิญกับอุปสรรคทางการเงิน หรือปัญหาเชิงวัฒนธรรมอื่นๆ และหลังจากลองผิดลองถูกมากมาย เพื่อสรรหาและฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิต ชิบันด้าพบว่า ในซิมบับเวยังมีผู้ปฏิบัติงานกลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์ เปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจ และเป็นที่นับถือจำนวนมากอยู่แล้ว และคนกลุ่มนั้นก็คือ เหล่าคุณยายคุณย่าผู้สูงอายุนั่นเอง

“ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดและยังอยู่ในชุมชน คือคุณย่าคุณยายเหล่านี้ พวกเขาคือผู้รักษาดูแลวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้คงอยู่ได้” ชิบันด้ากล่าว

ชิบันด้าทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและการดูเด็ก เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยซิมบับเว เพื่อพัฒนาโครงการนำร่องในการฝึกอบรมหญิงสูงอายุเรื่องการบำบัดด้วยการพูดคุย หรือที่เรียกว่า “การบำบัดเพื่อแก้ปัญหา” โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามารถของผู้หญิงในการรับฟัง เช่นเดียวกับทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีคนได้ยินและมองเห็นปัญหาของพวกเขาจริงๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะมองหาวิธีแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง 

แต่แทนที่จะเป็นการนั่งพูดคุยกับคุณยายคุณย่าในห้องสี่เหลี่ยม ภายใต้แสงไฟฟลูออเรสเซนต์ และห้อมล้อมไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ชิบันด้าคิดว่าการนั่งอยู่ในพื้นที่เปิดและรายรอบด้วยธรรมชาติสีเขียวน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า และนั่นจึงนำไปสู่การใช้ม้านั่งในสวนสาธารณะเป็นพื้นที่ของการเปิดอกเล่าปัญหาให้คุณย่าคุณยายรับฟัง  

ในตอนแรก ชิบันด้าเสนอให้เรียกโครงการนี้ว่า ‘ม้านั่งสุขภาพจิต’ แต่คุณยายคุณย่าทั้งหลายต่างคัดค้าน และเสนอชื่อ ‘ม้านั่งแห่งมิตรภาพ’ เพื่อขจัดความอับอาย และภาพลักษณ์ที่อาจจะยังดูไม่ดีนักต่อเรื่องปัญหาสุขภาพจิตในสังคมซิมบับเว 

ซูซาน ชาลิ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการเล่าว่า เธอรายได้น้อย และไม่ได้เรียนสูง ทำให้เมื่อชีวิตแต่งงานของเธอตกอยู่ในภาวะวิกฤต ขณะที่เธอต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูลูกๆ และจ่ายค่าเล่าเรียน เธอจึงรู้สึกไม่มั่นใจที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต แต่เธอก็ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ และเมื่อเธอได้พบกับคุณยายซาบินาห์ โดวี เป็นครั้งแรก ก็ทำให้ชาลิรู้สึกได้ถึงความรักและความเคารพ กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป บทสนทนาของทั้งคู่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่การแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติ ซึ่งช่วยให้ชาลิสามารถสื่อสารกับสามีได้ดีขึ้น ทั้งยังพบวิธีหารายได้ให้กับตัวเองอีกด้วย

“น้ำเสียงและวิธีการพูดของคุณยายซาบินาห์ ช่วยปลดปล่อยความเจ็บปวดในหัวใจของฉัน ฉันร้องไห้อย่างหนัก แต่สุดท้ายก็รู้สึกได้ถึงความสุข ฉันรู้สึกเหมือนกับตัวเองได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแล้ว” ชาลิกล่าว 

ด้านคุณยายซาบินาห์และคุณยายคนอื่นๆ มากกว่า 100 คน ก็บอกว่าพวกเธอรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการขับเคลื่อนเรื่องปัญหาสุขภาพจิต และสิ่งที่พวกเธอทำคือ ยาแก้พิษความโดดเดี่ยวที่กำลังกัดกินหัวใจของคนมากมาย 

“เวลาฉันทำงานที่เก้าอี้แห่งมิตรภาพ ฉันทุ่มเทหัวใจและความพยายามอย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นช่วยสร้างอัตลักษณ์ตัวตนของฉัน และไม่ว่าฉันจะไปที่ไหน อัตลักษณ์ตัวตนนั้นก็จะติดตัวฉันไปทุกที่” คุณยายซาบินาห์กล่าว 

แม้ ‘ม้านั่งแห่งมิตรภาพ’ จะไม่ใช่การแก้ปัญหาสุขภาพจิตด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง ไม่ใช่นวัตกรรมที่พลิกโฉมการดูแลสุขภาพจิต แต่ความเรียบง่ายของมันก็ช่วยให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพและมีอิทธิพลกับคนในสังคม หรืออาจเรียกได้ว่า โครงการนี้เป็นการใช้สิ่งที่มนุษยชาติรู้จักมาตั้งแต่โบราณเพื่อรักษาสุขภาพจิตของกันและกัน ซึ่งนั่นคือการเชื่อมโยงทางใจระหว่างมนุษย์
 



ข้อมูลอ้างอิง:
เว็บไซต์โครงการ
A group of grandmothers in Zimbabwe is helping the world reimagine mental health care
The Friendship Bench