Skip to main content

    คนควรจะเกษียณตอนอายุเท่าไร?

    นี่เป็นคำถามลอยๆ ที่ทุกคนน่าจะตอบด้วยความเคยชินว่า “ก็ต้อง 60 ปีสิ” เพราะคนไทยคุ้นเคยกันมาแต่เด็กว่า ตัวเลข 60 ปีเป็นอายุที่คนควรจะหยุดทำงานได้แล้ว มันคืออายุเกษียณของข้าราชการ และพนักงานบริษัทเอกชนส่วนใหญ่

    อย่างไรก็ดี ในโลกปัจจุบันอายุเฉลี่ยของการเกษียณขยับขึ้นเป็น 65 ปีแล้ว และกำลังปรับขึ้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งน่าจะแตะขั้นต่ำที่ 70 ปี

    เราจะเข้าใจปรากฎการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร?

    ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์เรื่องการเกษียณก่อน

    คอนเซ็ปต์เรื่องการเกษียณของสังคมยุโรปในอดีต คือคนต้องทำงานนานเท่าไรรัฐถึงจะจ่าย “บำนาญ” หรือ “เงินเดือนคนแก่” ให้ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต ซึ่งจริงๆ แนวคิดลักษณะนี้มีตั้งแต่ยุคโรมันแล้ว โดยในยุคโรมันการเกษียณนั้นเป็นเรื่องของทหาร และขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นรับใช้กองทัพโรมันมานานกี่ปี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าอายุเท่าไร

    ทั้งนี้ คอนเซ็ปต์การเกษียณแบบปัจจุบันนั้นเริ่มราวๆ ปลายศตวรรษที่ 19 ที่ “รัฐสวัสดิการสมัยใหม่ของโลก” ในเยอรมนียุคของบิสมาร์ค ซึ่งเคยตั้งอายุเกษียณไว้ครั้งแรกที่ 70 ปี ต่อมาไม่นานอังกฤษก็ตั้งตามที่ 70 ปีเช่นกัน และพอราวๆ ต้นศตวรรษที่ 20 รัฐในโลกตะวันตกก็มีอายุเกษียณกันหมดแล้ว โดยมาตรฐานอายุเกษียณยุคนั้นคือ 60 ปี ซึ่งในท้ายที่สุดทั้งเยอรมนีและอังกฤษก็ยอมลดอายุเกษียณลงมาเป็น 60 ปี และแนวคิดพวกนี้ก็แพร่ไปทั่วโลก ในแบบที่ช่วงราวหลังลงครามโลกครั้งที่ 2 อายุเกษียณเฉลี่ยๆ ของคนทั่วโลกมักจะอยู่ที่ 60 ปีทั้งนั้น

    คำถามก็คือ ทำไมต้อง 60 ปี? บางคนอาจเดาว่า เพราะอายุมากกว่านั้นน่าจะทำงานไม่ไหว แต่ความเป็นจริงมันโหดร้ายกว่านั้น

เพราะช่วงราวๆ ปี 1950 อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์คือ 60 ปีเท่านั้น และนั่นหมายความว่า มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกจะ “ตายก่อนเกษียณ” และอายุเกษียณ 60 ปี คือตั้งเอาไว้ให้คนที่โชคดีอายุยืนกว่าชาวบ้านไม่ลำบากเกินไปในยามแก่เท่านั้น


    ต้องเข้าใจก่อนเลยว่า อายุเกษียณยุคแรกๆ ไม่ได้ตั้งเอาไว้เพื่อเป็นสัญญาว่ารัฐจะดูแลยามแก่เฒ่า แต่ตั้งเอาไว้เป็น “หลักประกัน” ว่าถ้าคุณดัน “ผิดปกติ” มีชีวิตยืนยาวกว่าชาวบ้าน คุณจะไม่แก่ตายแบบอนาถา ซึ่งนี่เป็นคอนเซ็ปต์ “ประกันสังคม” ลักษณะเดียวกับการประกันการเจ็บป่วยและการพิการของรัฐสวัสดิการยุคแรกๆ

    อย่างไรก็ดี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนอายุยืนขึ้น ระบบรัฐสวัสดิการในตะวันตกจึงขยายขึ้น คอนเซ็ปต์ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นว่า รัฐมีหน้าที่ดูแลคนส่วนใหญ่ในยามแก่ ที่มีแนวโน้มจะมีอายุอยู่อีกสักพักหลังเกษียณ ดังนั้น ระบบประกันสังคมมันจะออกแบบมาให้สามารถเงินจ่ายคนแก่ได้

    ระบบแบบนี้ดำเนินไปได้ตราบที่ประชากรยังขยาย เพราะนั่นคือทำให้ฐานภาษีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อประชากรขยายไปพร้อมๆ กับคนแก่วัยเกษียณอายุยืนขึ้นในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ระบบสวัสดิการก็เลยดำเนินไปได้ เพราะคนแก่ยิ่งอายุยืน สวัสดิการต่างๆ ที่จะเหมาะสมกับคนแก่วัยเกษียณที่รัฐจะต้องหาให้ก็ต้องมากขึ้นๆ และสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ถ้าฐานภาษีที่ไม่ได้ขยายตัวไปเรื่อยๆ

    ...แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เริ่มพัง เมื่ออัตราการเติบโตประชากรเริ่มลดลง

    อันนี้ก็เรื่องเดิมๆ ประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วทุกประเทศประสบปัญหาเหมือนกัน คือเศรษฐกิจยิ่งพัฒนาไป คนก็ยิ่งมีลูกช้า หรือกระทั่งไม่มีลูก ซึ่งแม้ว่านี่จะเป็นทางเลือกอันชอบธรรมของปัจเจก แต่มันส่งผลกระทบร้ายแรงต่อรัฐสวัสดิการ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าถ้าคนแก่วัยเกษียณมีมากขึ้นๆ เพราะคนอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ รัฐจะหาเงินไหนมาจ่าย

รัฐต่างๆ จึงเริ่มมีการปรับอายุเกษียณ ซึ่งทำกันมาหลากหลายวิธี ตั้งแต่ปรับอายุเกษียณของผู้หญิงให้เท่ากับผู้ชาย (ใช่ครับ หลายๆ ประเทศ ดั้งเดิมผู้หญิงเกษียณได้ก่อนผู้ชาย) เริ่มเสนอสิทธิประโยชน์มากขึ้นกับคนที่เกษียณช้าลง ไปจนถึงค่อยๆ เขยิบอายุเกษียณให้ไปไกลขึ้นสำหรับคนที่กำลังจะเกษียณ


    ผลรวมๆ คือ อายุเกษียณขั้นต่ำของเหล่าประเทศที่มีสวัสดิการดีๆ ปัจจุบันเฉลี่ยคือ 65 ปี ซึ่งหลายๆ ชาติก็มีแผนจะขยายไปอีก โดยบางชาติก็เริ่มวางระบบในการขยายแบบ “อัตโนมัติ” แล้ว เช่นเดนมาร์กมีมาตรฐานว่ารัฐขยายได้เพิ่ม 1 ปีในทุก 5 ปี ส่วนอีกหลายๆ ชาติ การขยายอายุเกษียณก็เป็นไปแบบเฉพาะกิจ ซึ่งรัฐที่ขยายอายุเกษียณก็จะโดนด่าโดนประท้วงไปตามระเบียบ เช่นในปี 2023 ฝรั่งเศสจะขยายอายุเกษียณไป 2 ปี ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่โต แต่ประเด็นคือ สุดท้ายกฎหมายก็ผ่านอยู่ดี

    จะบอกก็ได้ว่า สิ่งเหล่านี้คือปรากฎการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของรัฐสวัสดิการในปัจจุบัน เพราะเมื่อรัฐเผชิญกับความเป็นไปไม่ได้ทางงบประมาณอันเนื่องจากความไม่สมดุลของประชากรวัยทำงานและวัยพึ่งพา สิ่งที่สมเหตุสมผลที่รัฐจะทำได้ก็คือ ขยายประชากรวัยทำงาน และลดประชากรวัยพึ่งพาซะ

นี่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ด้านมืด” ของรัฐสวัสดิการ เพราะด้านหนึ่งหมายความว่า รัฐจะสามารถยืดวันเวลาการทำงานของคุณไปเรื่อยๆ ได้โดยเลือนอายุเกษียณหรืออายุที่คุณจะเริ่มได้ “บำนาญ” จากรัฐไปเรื่อยๆ ได้ และคุณก็ทำอะไรไม่ได้ด้วยนอกจากมองตาปริบๆ และก้มหน้าก้มตาทำงานไปรอวันเกษียณที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไร

    คือเราอาจต้องเลิกมองภาพว่า รัฐสวัสดิการคือรัฐใจดีที่ให้คุณทำงานถึง 60 ปี แล้วเลี้ยงดูคุณอย่างดีไปจนจบชีวิตในอีก 20-30 ข้างหน้า มันไม่ได้เป็นแบบนั้น และจริงๆ คือมันไม่เคยเป็นแบบนั้นสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะอย่างที่เล่าแต่แรก แม้แต่รัฐสวัสดิการยุคแรกๆ สวัสดิการคนแก่วัยเกษียณนั้นจริงๆ ก็มีไว้สำหรับบางคนที่ดันโชคดีตายทีหลังชาวบ้านด้วยซ้ำ คนส่วนใหญ่จะตายก่อนอายุเกษียณ และด้วยความสัมพันธ์ระหว่างอายุขัยมนุษย์กับอายุเกษียณแบบนี้แหละ รัฐสวัสดิการมันเลยอยู่ได้

    ปัจจุบันอายุขัยมนุษย์เลื่อนไปไกล อายุเกษียณไม่ได้เลื่อนตาม ตอนแรกรัฐกัดฟันจ่ายไหว แต่สุดท้ายพอฐานภาษีน้อยลง เนื่องจากอัตราการขยายตัวของประชากรน้อยลง รัฐก็เริ่มไม่ไหว ต้องเลื่อนอายุเกษียณในที่สุด และพอเลื่อนได้ ก็เลื่อนรัวๆ เลย

    ซึ่งจะเลื่อนไปถึงไหน ก็เอาง่ายๆ ถ้าตอนนี้คุณอายุสัก 40 ปี กว่าคุณจะเกษียณ อายุเกษียณขั้นต่ำในโลกคือราวๆ 70 ปีแน่ๆ แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่ามันจะไม่ขึ้นไปอีก ตราบที่อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ยังขยายตัวไปเรื่อยๆ

    และจริงๆ เราก็จำง่ายๆ ก็ได้ว่า อายุเกษียณนั้นเฉลี่ยๆ จะต่ำกว่าอายุขัยเฉลี่ยได้ไม่เกิน 10 ปี ไม่เกินนั้น เพราะนั่นคือความสมดุลคร่าวๆ ที่เกิดในช่วงที่รัฐสวัสดิการพีคๆ แต่พอคนอายุยืนขึ้นประชากรวัยทำงานลด รัฐต้องใช้เยอะขึ้น แต่รัฐมันก็ "เสกเงินจากอากาศ" ไม่ได้ การปรับเปลี่ยนต่างๆ ก็ต้องเกิด และมันก็ไม่มีอะไรที่จะง่ายและสมเหตุสมผลไปกว่าการยืดอายุเกษียณให้ช่วงเวลาเฉลี่ยที่รัฐต้องจ่ายบำนาญให้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม

    คิดง่ายๆ ถ้าเราในวัยทำงานมีลูกมีหลานแล้วเล่าให้ฟังว่า รุ่นปู่ย่าตายายเกษียณกันอายุ 60 ปี ลูกหลานก็คงจะตื่นเต้นน่าดู เพราะในอนาคตการเกษียณอายุ 60 ปีคงเป็นความทรงจำอันไกลโพ้นแล้ว แต่ก็นั่นแหละ คนในวัยทำงานปัจจุบันเหลือสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่คิดจะมีลูก ซึ่งบางทีเราคงเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่เราจะต้องทำงานกันไปยาวๆ จนอายุ 70 ปีแบบไม่มีทางเลือกนั่นเอง
 



ข้อมูลอ้างอิง:
Retirement age trends around the globe 
What Raising the Retirement Age to 70 Would Mean for You
Raising UK state pension age to 71 would bring ‘misery’ to millions
Retirement age