"ข้ายอมปล่อยให้พวกแกมีชีวิตรอดนั่นก็บุญแค่ไหนแล้ว คนใกล้ตัวโดนฆ่าแล้วยังไง จงคิดว่าตัวเองช่างโชคดีแล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ซะก็จบแล้ว"
"มนุษย์ที่ตายไปไม่มีทางฟื้นกลับมาได้ อย่ามัวแต่ยึดติดกับเรื่องพรรค์นั้นแล้วก้มหน้าทำงานหาเงินใช้ชีวิตอย่างสงบไปก็พอแล้ว มนุษย์ส่วนใหญ่ก็ทำเช่นนั้นกัน ทำไมพวกแกถึงไม่ทำอย่างนั้นบ้างล่ะ"
‘คิบุซึจิ มุซัน’ อสูรอายุนับพันปีในมังงะและแอนิเมชันชื่อดัง ‘ดาบพิฆาตอสูร-Kimetsu no Yaiba’ ผู้เป็นต้นธารแห่งสายเลือดที่สามารถเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นอสูรได้ บอกกับ ‘คามาโดะ ทันจิโร่’ นักดาบวัย 15 ปีที่เข้าร่วมกับสมาคมดาบพิฆาตอสูรเพื่อแก้แค้นให้ครอบครัวที่ถูกมุซันสังหารหมู่ โดยทั้งสองได้เผชิญหน้าและได้พูดคุยกันในช่วงไคลแมกซ์ของเรื่อง
คำถามของมุซันฟังดู ‘อิกนอแรนต์’ เพราะครั้งหนึ่งเขาก็เคยเป็นมนุษย์ แต่ความเข้าอกเข้าใจในความเป็นมนุษย์นั้นเลือนหายไปหมดแล้ว หลังจากที่เขาได้รับตัวยาที่เปลี่ยนร่างกายมนุษย์จนก้าวข้ามความเจ็บป่วยและความตายไปได้ สิ่งเดียวที่เป็นเป้าหมายในชีวิตอมตะของเขาก็คือการหาทางเอาชนะสิ่งเดียวที่ตัวเองพ่ายแพ้ ซึ่งก็คือ ‘แสงอาทิตย์’
ระหว่างทางไปสู่เป้าหมายของตัวเอง มุซันได้สร้างอสูรขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อทดลองว่าร่างกายมนุษย์คนไหนที่เปลี่ยนเป็นอสูรแล้วจะทนทานต่อแสงแดดได้ ส่วนอสูรที่เขาให้กำเนิดมีเงื่อนไขคล้ายๆ กันคือต้องกินมนุษย์เพื่อความอยู่รอด มนุษย์จำนวนหนึ่งจึงถูกอสูรฆ่าเป็นอาหาร
แต่มนุษย์ธรรมดาในดาบพิฆาตอสูรพยายามร่วมมือกันเพื่อหาทางเอาชนะอสูรที่แข็งแกร่งกว่าตัวเองมาก และเรื่องราวการดิ้นรนต่อสู้ของเหล่าผู้คนตัวเล็กตัวน้อย อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่คนอ่านจำนวนมาก ‘รู้สึกร่วม’ จนการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องนี้กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับผู้สร้างมังงะและภาพยนตร์แอนิเมชั่น
นอกจากนี้ ตัวละครในดาบพิฆาตอสูรก็มีความหลากหลาย ทั้ง ‘เสาหลัก’ ที่เป็นนักดาบฝีมือระดับเทพ, นักดาบมือใหม่ที่ ‘มีใจ’ แต่ยังไม่ค่อยมีฝีมือ อย่าง ‘ทันจิโร่และเพื่อน’ ‘คามาโดะ เนซึโกะ’ น้องสาวทันจิโร่ที่ถูกเปลี่ยนเป็นอสูร แต่ก็สู้กับตัวเองจนชนะสัญชาตญาณอสูร-ไม่ทำร้ายคน เรื่อยไปจนถึง 'คาคุชิ' หน่วยเก็บกวาดและอำนวยความสะดวก ดูเหมือนจะตอกย้ำกลายๆ ว่า “ทุกคนล้วนสำคัญ” เพราะการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายต้องการคนหลากหลาย เพื่อทำหน้าที่ที่แตกต่างกันไปตามกำลังความสามารถ
ขับเคลื่อนด้วยความแค้นอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย
ตัวละครหลักอย่างทันจิโร่มีพื้นฐานความเห็นอกเห็นใจในอสูร ไม่ตัดสินว่าอสูรคือสิ่งชั่วร้ายเลวทราม แต่พยายามเข้าใจเหตุผลผู้ที่ยอมเป็นอสูร พบว่าบางรายอยากแข็งแกร่งเพื่อเอาชนะสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่ตัวเองเคยได้รับตอนเป็นมนุษย์ และบางรายถูกล่อลวงให้หวั่นไหวด้วยคำโฆษณาว่าการเป็นอสูรนั้น ‘เหนือกว่า’ การเป็นมนุษย์
การที่มุซันมองว่าสมาคมดาบพิฆาตอสูรเป็นพวก ‘วิปลาส’ เพราะสมาชิกแต่ละคนไม่ยอมอยู่เฉยๆ ใช้ชีวิตของตัวเองไปวันๆ แต่กลับทุ่มเทฝึกฝนและเสี่ยงตายเพื่อกำจัดอสูร ทำให้เด็กที่มีจิตใจอ่อนโยนอย่างทันจิโร่ถึงกับเดือดดาล และมองว่ามุซันคือสิ่งที่ “ไม่ควรมีตัวตน” เพราะไม่เข้าใจและไม่สนใจความรู้สึกคับแค้นของผู้ที่สูญเสียครอบครัวให้กับเหล่าอสูร
ทันจิโร่และนักดาบคนอื่นๆ มองว่าถ้าไม่ต่อสู้เพื่อกำจัดมุซัน ซึ่งเป็นต้นตอการบ่มเพาะอสูรและเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ คนจำนวนมากก็จะต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวและกลายเป็นเหยื่อของอสูรในสักวันหนึ่ง
แต่ความคับแค้นเพียงอย่างเดียวไม่อาจขับเคลื่อนเหล่านักดาบให้บรรลุเป้าหมาย สมาคมดาบพิฆาตอสูรที่ก่อตั้งขึ้นมานานหลายร้อยปีจึงมีหน้าที่ ‘ส่งต่อ’ อุดมการณ์และแนวทางการต่อสู้ให้นักดาบรุ่นหลัง เพื่อจะได้ฝึกฝนเคี่ยวกรำหาวิถีดาบที่เหมาะสมในการเอาชนะอสูรซึ่งก็ปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นกัน บทเรียนการต่อสู้ของนักดาบรุ่นก่อนจึงสืบทอดมาจนถึงรุ่นของทันจิโร่ที่ได้ต่อกรกับมุซันในที่สุด
ก่อนจะเผชิญหน้ากับศัตรูตัวฉกาจ ทันจิโร่เคยผ่านการต่อสู้ที่แสนสาหัสมาแล้ว ซึ่งเขาก็ต้องเตือนตัวเองไม่ให้หลงลืมความเป็นมนุษย์ที่เจ็บปวดและตายได้เช่นกัน และถึงที่สุดแล้วก็ต้องยืนยันให้ชัดเจน เมื่อถูกชักชวนว่าจะเลือกเป็นมนุษย์หรือจะเป็นอสูร
"มนุษย์มีขีดจำกัดอยู่ 2 ประการ เมื่อถึง 'ขีดจำกัดของพลังกาย' มนุษย์จะทรมานและไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ถึงความโกรธรุนแรงขนาดทำให้เลือดขึ้นตาจะทำให้เคลื่อนไหวได้โดยลืมความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานก็ตาม แต่สิ่งที่ตามมาคือ 'ขีดจำกัดของชีวิต' หากก้าวข้ามขีดจำกัดนั้น มนุษย์จะตาย"
"คนที่ฝืนยืดขีดจำกัดนั้นให้นานขึ้นแม้แต่นิดเพื่อต่อสู้กับอสูร จะต้องใช้ความมานะพยายามทุกวันๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนแทบรากเลือด"
"หากอาศัยเพียงความโกรธเอาชนะอสูรได้ล่ะก็ ในโลกนี้คงไม่มีอสูรหลงเหลือแล้ว"
การอ่านการ์ตูนมังงะที่ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระในวันที่เรื่องราวรอบตัวดูไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลสักเท่าไหร่ อาจทำให้คนอ่านต้องทบทวน ‘ความเป็นมนุษย์’ ในใจตัวเองกันอีกครั้ง
ดาบพิฆาตอสูร - Demon Slayer - Kimetsu no Yaiba
- ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2559 ในโชเน็งจัมป์รายสัปดาห์ นิตยสารการ์ตูนแนวผู้ชายยอดนิยมของญี่ปุ่น
- นักเขียน 'โคโยฮารุ โกโตเกะ' ใช้การ์ตูนแทนตัวเองเป็นรูป 'จระเข้ใส่แว่น' ทั้งยังเป็นผู้หญิงไม่กี่คนที่วาดการ์ตูนผู้ชาย และได้รับเลือกเป็น 1 ใน 100 บุคคลแห่งปี 2021 ของนิตยสารไทม์ในสหรัฐอเมริกา (NEXT 100) แต่เธอไม่เปิดเผยใบหน้าต่อสื่อมวลชนเลย
- ผลงานฉบับพิมพ์ของดาบพิฆาตอสูรได้รับความนิยมอย่างมาก โดยปี 2562 - 2563 มียอดขายโดยรวมแซงหน้า One Piece และขายได้ทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านเล่ม อ้างอิงสถิติช่วงต้นปี 2564
- ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องดาบพิฆาตอสูรออกฉายที่ญี่ปุ่นและทำรายได้ทุบสถิติ Spirited Away ที่เคยติดอันดับแอนิเมชันทำเงินสูงสุดของญี่ปุ่น ก่อนจะออกฉายในประเทศอื่นๆ รวมไทย
- ดาบพิฆาตอสูรได้รับรางวัลพิเศษด้านวัฒนธรรม เทซูกะ โอซามุ ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 1 พ.ค. แต่จะทำพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการที่สำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์อาซาฮีในกรุงโตเกียว วันที่ 3 มิ.ย.2564