Skip to main content

นักวิจัยค้นพบว่า ประเทศที่ติดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก มักมี “ความเท่าเทียมทางเพศ” มากที่สุดอีกด้วย

ประเด็น “ความเท่าเทียมทางเพศ” กลายเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ และพยายามทำให้สังคมของตัวเองเกิดความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยค้นพบว่า ในหมู่ประเทศที่ติดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก มีแนวโน้มที่จะมีความเท่าเทียมทางเพศในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกัน

ในแต่ละปี เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Solutions Network) จะจัดทำรายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ซึ่งจัดลำดับประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกประจำปีต่างๆ และประเทศอย่างไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ ก็มักจะติดอันดับต้นๆ ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกอยู่เสมอ

ไม่เพียงแค่ถูกอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ประเทศอันดับต้นๆ ของโลกเหล่านี้ยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดอีกด้วย โดยอ้างอิงจากรายงานช่องว่างทางเพศทั่วโลก (Global Gender Gap Report) ที่จัดทำขึ้นโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)

นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก มักจะติดอันดับประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความเท่าเทียมทางเพศที่มีมากขึ้น มีผลโดยตรงความสุขของประชากรในประเทศ ทั้งนี้ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติได้วัดความสุขของประชากรในประเทศต่างๆ ผ่านปัจจัย 6 ประการ ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคม รายได้ สุขภาพ เสรีภาพ ความเอื้ออาทร และการไม่มีการทุจริต

ขณะที่สภาเศรษฐกิจโลกคำนวณเรื่องของช่องว่างทางเพศในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัย 4 ประการ คือ โอกาสทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จทางการศึกษา สุขภาพและความอยู่รอด และการเสริมอำนาจทางการเมือง โดยพวกเขาระบุว่า นโยบายทางสังคม ความสุขในครอบครัว และความคล่องตัวในอาชีพการงานของผู้หญิง เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกสามารถบรรลุความเท่าเทียมทางเพศที่สูงขึ้นในสังคมของตัวเองได้

หลายประเทศมีนโยบาย “การลางาน” แต่ยังได้รับค่าจ้าง ที่มีระบบ ทำให้คนทำงานสามารถสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตครอบครัวได้ง่ายและยืดหยุ่นมากขึ้น อย่างเช่นพ่อแม่ในนอร์เวย์ที่มีสิทธิลาเลี้ยงดูบุตรได้ 49 สัปดาห์โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน หรือสิทธิลาเลี้ยงดูบุตรเป็นเวลา 59 สัปดาห์ และได้รับค่าจ้าง 80% จากค่าจ้างทั้งหมด

นอกจากนี้ ประชาชนในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ยังสามารถเข้าถึงบริการดูแลเด็กที่ราคาย่อมเยาที่สุดในโลก โดยสภาเศรษฐกิจโลกตั้งข้อสังเกตว่าบริการนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับความสุขของผู้หญิงและครอบครัว การที่รัฐบาลนอร์เวย์เพิ่มงบประมาณสำหรับสถานรับเลี้ยงเด็ก ส่งผลให้คุณแม่สามารถกลับไปทำงานได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม นอร์เวย์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีคุณแม่ทำงานนอกบ้านเป็นจำนวนมาก แต่ข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ชี้ว่าประเทศสวีเดนมีอัตราส่วนของคุณแม่ทำงานนอกบ้านสูงที่สุดจาก 38 ประเทศ

และไม่ใช่แค่ในประเทศกลุ่มนอร์ดิกเท่านั้นที่ดอกผลแห่งความเท่าเทียมทางเพศกำลังผลิบาน แต่ในประเทศนิวซีแลนด์เองก็มีความก้าวหน้าในด้านกฎหมายที่จะช่วยลดช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างเพศ ถึงแม้ว่านิวซีแลนด์จะมีช่องว่างเรื่องค่าจ้างที่น้อยที่สุดในโลกแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็ยังออกมาตรการที่กำหนดให้บริษัทในประเทศมากกว่า 900 แห่งต้องส่งรายงานช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างเพศให้กับรัฐบาลตรวจสอบ

สำหรับประเด็นเรื่องช่องว่างทางเพศของประเทศไทยนั้น สภาสภาเศรษฐกิจโลกได้ให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 74 จาก 146 ประเทศทั่วโลกในปี 2023  และอยู่ในอันดับที่ 60 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกจากรายงานความสุขโลกปี 2023 ของเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

----------
ข้อมูลอ้างอิงจาก:
Many of the World’s happiest countries are also the best places for women
World Happiness Report 2023
Global Gender Gap Report 2023
New Zealand to Require 900 Companies to Report Gender Pay Gaps
More than 120 Nations Provide Paid Maternity Leave