Skip to main content

แม้การพักอาศัยอยู่ใกล้สถานที่สำคัญต่างๆ จะช่วยให้มีความสะดวกสบาย และใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น แต่ความถี่ของการเดินทางบวกกับการเดินทางไปยังสถานที่ที่หลากหลายก็มีความสำคัญ โดยคนที่เดินทางไกลจากบ้านมากกว่า 24 กิโลเมตรเป็นประจำ มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพที่ดีกว่า แถมยังเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมทางสังคมที่เพิ่มขึ้น

งานวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London หรือ UCL) ได้ทำการศึกษาประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตอนเหนือของอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่ต้องเผชิญกับผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ย่ำแย่ และการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่เลวร้ายมากกว่าในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยนักวิจัยได้เชื่อมโยงปัจจัยทั้งสองเข้าด้วยกัน และชี้ให้เห็นว่าการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้น จะช่วยเหลือในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ  โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

“เราสำรวจความเชื่อมโยงของการเดินทางออกจากบ้านที่มากกว่า 24 กิโลเมตร ข้อมูลประชากร พื้นที่ และการมีส่วนร่วมทางสังคม ซึ่งนำไปสู่การค้นพบที่ว่า จำนวนสถานที่ต่างๆ ที่ผู้คนเดินทางไป นอกเหนือจากสถานที่ในท้องถิ่นของตัวเองแล้ว มีความเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมทางสังคมและสุขภาพที่ดีขึ้น” ดร.เปาโล แอนเซียส หัวหน้านักวิจัยในครั้งนี้ กล่าว

นักวิจัยทำการสำรวจออนไลน์ในกลุ่มประชาชนมากกว่า 3,014 คนในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ระบุว่า ข้อจำกัดในการเดินทางทำให้เกิดความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในพื้นที่นี้ แต่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่มาก่อน 

นักวิจัยใช้เทคนิคการวิจัยแบบ “การวิเคราะห์อิทธิพล” (Path Analysis) ซึ่งทำให้นักวิจัยค้นพบผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของความยากลำบากในการเดินทางออกนอกพื้นที่ของประชาชน

ผลการวิจัยพบว่า ข้อจำกัดในการเดินทาง การมีส่วนร่วมทางสังคม และสุขภาพ มีความเชื่อมโยงกันอย่างมากในกลุ่มประชาชนที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ซึ่งในคนกลุ่มนี้นี่เอง ที่ข้อจำกัดในการเดินทางกับจำนวนสถานที่ต่างๆ ที่พวกเขาสามารถเดินทางไปได้ มีความเชื่อมโยงกับการติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่น้อยลง รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในสังคมที่น้อยลงไปด้วย

“คนที่อายุมากกว่า 55 ปีมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกเหงามากขึ้น อย่างในพื้นที่ทางตอนเหนือของอังกฤษ หรือพื้นที่ชนบทและชานเมืองที่การเข้าถึงขนส่งมวลส่งมีอยู่อย่างจำกัด ก็มีแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่จะย้ายเขาไปอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีงานและตัวเลือกการเดินทางที่ดีกว่า ขณะที่คนรุ่นเก่าก็จะถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง พอขนส่งมวลชนมีน้อย คนแก่เหล่านี้ก็เดินทางไปไหนมาไหนได้น้อยลง ก็ทำให้การมีส่วนร่วมในสังคมลดน้อยลง และส่งผลกับสุขภาพของพวกเขา” ดร.แอนเซียส อธิบาย

งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างนโยบายสาธารณะที่จะช่วยลดข้อจำกัดในการเดินทางของประชาชน ทั้งการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้ออกมาเดินทางเปิดหูเปิดตา ซึ่งจะส่งผลดีกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ


ข้อมูลอ้างอิงจาก
Traveling farther away from home linked to better health

Better transport options linked to greater health and wellbeing, study finds