Skip to main content

    ปี 1883 เป็นปีที่ "คาร์ล มาร์กซ์" (Karl Marx) จากโลกนี้ไป ทว่าปีเดียวกันนี้เองระบบ "รัฐสวัสดิการสมัยใหม่" ได้ถือกำเนิดขึ้น ผ่านกฎหมายประกันสุขภาพของประเทศเยอรมนี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกโลกที่มีการสร้างระบบสวัสดิการ โดยคนงานต้องจ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคม และนายจ้างจ่ายสมทบ 

    ระบบดังกล่าวกลายมาเป็นรากฐานของรัฐสวัสดิการทั่วโลก เพราะมันเป็นระบบที่สมเหตุสมผลทางการคลัง หลังจากเกิดการประกันการรักษาพยาบาแล้ว ในปี 1884 ก็มีการประกันอุบัติเหตุผ่านระบบประกันสังคม และต่อมาปี 1889 ก็มีระบบประกันการพิการผ่านระบบประกันสังคมตามมา

    ถ้านับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของ "รัฐสวัสดิการสมัยใหม่" ที่เกิดจากการจ่ายภาษีของ "คนทำงาน" โดยตรงแล้ว เยอรมนีคือ "จุดกำเนิด" ของรัฐสวัสดิการสมัยใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะไม่มีรัฐไหนในโลกใช้ระบบแบบนี้มาก่อน

    แต่มันแปลกไหมครับว่า ทำไมแม้แต่ผู้นิยมรัฐสวัสดิการรวมถึงระบบสังคมนิยมกลับไม่ได้ยินดีปรีดา หรือกระทั่งเฉลิมฉลองเชิดชูเยอรมนีในฐานะดินแดนต้นกำเนิดรัฐสวัสดิการเลย?

    คำตอบเร็วๆ คือเพราะ "รัฐสวัสดิการสมัยใหม่" ไม่ได้เกิดจาก "รัฐบาลฝ่ายซ้าย" แต่เกิดจาก "รัฐบาลฝ่ายขวา" และนักการเมืองอนุรักษ์นิยมอย่าง "ออตโต วอน บิสมาร์ค"  (Otto Von Bismarck)

    แต่ก่อนจะไปตรงนั้น เราต้องย้อนหน่อย.....

    ในปี 1871 หลายๆ รัฐชนชาติเยอรมันมารวมกันก่อตั้งเป็นประเทศเยอรมนี โดยมีผู้นำฝ่ายบริหารคือ "ออตโต วอน บิสมาร์ค" ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือสมัยนั้นเยอรมนีมี "สภา" ก็จริง  และก็มีการเลือกตั้งที่ผู้ชายอายุ 25 ปีทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้งก็จริง แต่สภากลับไม่มีอำนาจบริหาร โดยอำนาจบริหารจริงๆ อยู่กับบิสมาร์คผู้รับอำนาจบริหารจากจักรพรรดิ์วิลเฮล์มที่ 1 มาตรงๆ 

    ถ้าจะอธิบายง่ายๆ โดยไม่ต้องเทียบว่า ตำแหน่งชานเซลเลอร์ (Chancellor) เทียบได้กับคำใดในภาษาไทย บิสมาร์คน่าจะเรียกได้ว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้ง" จากจักรพรรดิ์

    กล่าวคือ เยอรมันตอนนั้นมีพรรคการเมืองจริง มีการเลือกตั้งจริง มีผู้แทนประชาชนในสภาจริง แต่ผู้มีอำนาจบริหารไม่ใช้นักการเมืองพวกนั้น

    ทีนี้ หลังบิสมาร์ครวมชาติเยอรมันเสร็จ สิ่งที่สร้างความปวดหัวทันทีคือ ขบวนการสังคมนิยมที่ขยายตัวมากๆ ในยุโรป อันเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมขยายตัว และมันสร้างชนชั้นแรงงานที่มีความทุกข์ระทมในชีวิตทุกหย่อมหญ้า และนี่ก็เป็นภัยมากๆ ต่อชาติที่เพิ่งเกิดใหม่อย่างเยอรมนี ซึ่งแน่นอนว่า บิสมาร์คได้ทำการออกกฎหมายต่อต้านสังคมนิยมมาในปี 1878 เพื่อคุมการขยายตัว 

    ทว่าผลคือ กฎหมายมันไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไร ขบวนการพวกนี้ลงไปใต้ดิน และขยายตัวไปเรื่อยๆ ส่วนปีกบนดินของขบวนการอย่าง Social Democratic Party (นิยมเรียกย่อจากภาษาเยอรมันว่า SPD) ก็ขยายตัวเรื่อยๆ ในสภา

    นี่ทำให้บิสมาร์คมองว่า ต้องทำอะไรสักอย่างให้ "แรงงาน" มีความพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น และไม่ไปฝักไฝ่ขบวนการหัวรุนแรงอย่างสังคมนิยม

    และผลที่ตลกร้ายจัดๆ คือ ในทศวรรษ 1880 รัฐบาลของบิสมาร์คก็ผ่านกฎหมายสร้างระบบสวัสดิการสังคม โดยเก็บค่าประกันสังคมจากลูกจ้างและนายจ้างมารัวๆ อย่างที่เล่าตอนแรก ซึ่งทำให้เยอรมนีกลายเป็นรัฐสวัสดิการสมัยใหม่แห่งแรกของโลกในที่สุด

    ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ก่อนหน้านี้ พวกจักรวรรดิ์และรัฐใหญ่ๆ มันมีสวัสดิการให้ประชาชนในบางระดับมาตลอด แต่สิ่งที่ทำให้รัฐสวัสดิการสมัยใหม่ต่างจากสวัสดิการสมัยก่อนก็คือ การสร้างระบบในการเก็บเงินจากลูกจ้างและนายจ้างอย่างเป็นระบบ ทำให้ก้อนเงินประกันสังคมมีขนาดใหญ่มากๆ และสามารถทำให้มีการประกันที่ครอบคลุมขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งในเชิงประชากรและขอบเขตการคุ้มครอง

    อย่างไรก็ดี ตรงนี้พวกนักประวัติศาสต์ต่างเห็นตรงกันว่า จริงๆ บิสมาร์คไม่ได้มีความใส่ใจด้านสวัสดิการอะไรทั้งนั้น เค้าแค่ต้องการนโยบายที่จะทำให้เหล่าแรงงานมีชีวิตที่ดีพอที่จะไม่ลุกฮือขึ้นมาก่อความวุ่ยวายในสังคม

    และถ้ามองในแง่นี้ บิสมาร์คทำถูกต้อง เพราะเยอรมันไม่ได้มี "การปฏิวัติ" อะไรจริงๆ แม้ว่าอีกด้านหนึ่ง ถ้ามองจากมุมนักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายก็จะบอกว่า โครงการต่างๆ ของบิสมาร์คไม่ได้ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลงเลย แต่จริงๆ กลับแข็งแกร่งขึ้นไปเรื่อยๆ ดังเช่นในปี 1890 ที่บิสมาร์คลงจากตำแหน่ง คะแนนเสียงของพรรค SPD ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัวจากการเลือกตั้งในปี 1884 หลังจากกฎหมายประกันสุขภาพฉบับแรกของโลกผ่านมาหมาดๆ

    ตลกร้ายทางการเมืองคือ พรรค SPD เสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ ในช่วงสาธาณรัฐไวมาร์ ก่อนจะโดนแบนไปในยุคนาซี ซึ่งนาซีก็เอาระบบ "ประกันสังคมแบบเยอรมนี" ที่เกิดในสมัยบิสมาร์ค ไปเผยแพร่ในฝรั่งเศส เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ และประเทศเหล่านี้ก็ใช้ระบบดังกล่าวมาต่อเนื่องจากยุคที่ตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลนาซี

    และนี่คือตลกร้ายที่แท้จริง เพราะแม้ว่าเยอรมนีจะมีคุณปการต่อการบุกเกิดรัฐสวัสดิการในยุโรปและของโลกเยอะ แต่ตัวการในการสร้างคุณณูปการตรงๆ คือรัฐบาลฝ่ายขวาทั้งนั้น

    แน่นอน นักประวัติศาสตร์และขบวนการฝ่ายซ้ายก็จะบอกว่า ถ้าในสมัยบิสมาร์คไม่มีแรงกดดันจากขบวนการแรงงาน และพรรคสังคมนิยม กฎหมายสร้างรัฐสวัสดิการชุดใหญ่ก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็เป็นอย่างว่าที่ "ผู้ผลักดันรัฐสวัสดิการออกมาจนสำเร็จ" คือรัฐบาลฝ่ายขวา และนี่เป็นตัวอย่างระดับคลาสสิคที่เค้าบอกว่า รัฐสวัสดิการในภาพใหญ่ไม่ใช่ผลผลิตของฝ่ายซ้าย (หรือฝั่งสังคมนิยม) แต่เป็นผลผลิตของรัฐบาลฝ่ายขวา (ไม่ว่าจะเป็นอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม หรือทุนนิยม) ที่ต้องการสร้างการประนีประนอมไม่ให้เกิดการลุกฮือขึ้น

    นี่คือคำอธิบายว่า ทำไมรัฐสวัสดิการถึงดูห่างไกลจากสังคมอุดมคติในแนวสังคมนิยมที่ต้องการให้ "ทุกคนเท่ากัน" เพราะในเมื่อแก่นสารของรัฐสวัสดิการคือ การสร้างความประนีประนอมไม่ให้คนปฏิวัติ เป้าของสวัสดิการเลยมุ่งไปยังกลุ่มคนที่ถ้าไม่ได้รับสวัสดิการชีวิตจะบัดซบจนลุกขึ้นมาปฏิวัติ หรือพูดอีกแบบคือ สวัสดิการมุ่งไปยังกลุ่มคนที่อ่อนแอสุดในสังคมเป็นหลัก สวัสดิการจะไม่ทำให้คนรู้สึกชีวิตแย่เกินไป เท่านั้นพอ จะไม่ทำอะไรมากกว่านั้น

   ทั้งหมดคือ แก่นสารต้นกำเนิดของรัฐสวัสดิการที่นักกิจกรรมรุ่นใหม่ๆ อาจหลงลืมไป และการหลงลืมนี้มันก็เริ่มจากการไม่มีความจำที่แจ่มชัดว่า รัฐสวัสดิการสมัยใหม่แบบที่เราเห็นๆ กันทุกวันนี้ เกิดในยุคที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารประเทศด้วยซ้ำ

แหล่งข้อมูลจาก

https://www.smithsonianmag.com/history/bismarck-tried-end-socialisms-grip-offering-government-healthcare-180964064/  

https://jacobin.com/2019/12/otto-von-bismarck-germany-social-democratic-party-spd  

https://fee.org/articles/otto-von-bismarck-the-man-behind-the-modern-welfare-state/