Skip to main content

สรุป

  • องค์กรด้านความโปร่งใสจัดทำมาตรวัดคอร์รัปชันโลก และมีบทความพูดถึงเอเชียโดยเฉพาะ พบว่าประเทศในแถบนี้มีประเด็นท้าทายร่วมกัน คือ ปัญหาการทุจริตในภาครัฐ การติดสินบน การใช้เส้นสาย 

  • คนไทย 88% ที่ตอบแบบสอบถาม มองว่าการทุจริตในภาครัฐเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด และ 73% มองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาทุจริตได้แย่ ขณะที่ 59% ไม่เชื่อมั่นต่อตำรวจ และ 40% ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม

  • แนวทางแก้ปัญหาทุจริต ติดสินบน และใช้เส้นสาย ต้องให้อำนาจและการเข้าถึงข้อมูลแก่ประชาชน และจะต้องปรับปรุงความโปร่งใสทางการเงินในระบบการเมือง เพื่อช่วยลดผลประโยชน์ทับซ้อน และต้องให้ความคุ้มครองผู้ที่ต่อต้านระบอบโจราธิปไตย (kleptocracy)

‘มาตรวัดคอร์รัปชันโลก’ (Global Corruption Barometer หรือ GCB) จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (TI) สำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 180 ประเทศทั่วโลก ระหว่างเดือน มี.ค. 2562 - ก.ย. 2563 ก่อนจะประเมินผลการเก็บข้อมูลและเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อเดือน ม.ค.2564 

องค์กร TI ได้จัดทำรายงานพิเศษเฉพาะเอเชีย HOW DOES CORRUPTION SHAPE ASIA? โดยระบุว่าประเทศในทวีปนี้มีความหลากหลายด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมือง แต่ประเด็นที่เป็นความท้าทายร่วมกันก็คือ การทุจริตในภาครัฐ (Government Corruption) การติดสินบน (Bribery) และการใช้เส้นสาย-ความสัมพันธ์ส่วนตัว (Personal Connection)

ข้อมูลจากมาตรวัดคอร์รัปชันโลกระบุว่า คนเอเชีย 1 ใน 5 จ่ายเงินสินบนเพื่อให้ได้รับบริการภาครัฐ เช่น พบหมอในโรงพยาบาล เพื่อให้การดำเนินเรื่องเอกสารต่างๆ สะดวกราบรื่น หรือเพื่อให้ได้คะแนนสอบดีๆ ทำให้การทุจริตที่เกิดขึ้นในเอเชียต่างจากแอฟริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ได้คะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันน้อยที่สุด มีปัญหาทุจริตเชิงระบบ เช่น การทุจริตเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศมาเข้ากระเป๋ากลุ่มผู้มีอำนาจ 

Slon Pics/ Pixabay

ผู้ตอบแบบสอบถาม 74% ในเอเชียมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด แต่การทุจริตในระดับปัจเจกก็เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเช่นกัน เพราะผู้ตอบแบบสอบถาม 22% บอกว่าเคยติดสินบน หรือรู้จักคนที่เคยติดสินบน และเคยใช้เส้นสายส่วนตัวเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ต้องการในช่วง 12 เดือนที่ TI และองค์กรที่เป็นเครือข่ายร่วมกันเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำมาตรวัดคอร์รัปชันโลก

เหตุผลที่คนจ่ายสินบน มีทั้งถูกเรียกร้องให้จ่าย, ยอมจ่ายเพื่อตัดปัญหายุ่งยาก, ยอมจ่ายเพราะเป็นเรื่องที่ทำตามกันมาจนเป็นธรรมเนียม และยอมจ่ายเพื่อแสดงน้ำใจ ซึ่งการจ่ายสินบนและการใช้เส้นสายล้วนมีผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมในสังคม ผู้ที่ไม่สามารถจ่ายสินบนหรือไม่มีเส้นสาย อาจไม่มีโอกาสได้รับหรือเข้าถึงบริการภาครัฐ

หน่วยงานที่มีผู้ตอบว่ารับเงินสินบนมากที่สุด 23% คือ ‘ตำรวจ’ แต่หน่วยงานที่มีการใช้เส้นสายส่วนตัวเพื่อต่อรองเรื่องต่างๆ มากที่สุด 20% คือ ‘หน่วยงานยุติธรรม’ ขณะที่องค์กรต่อต้านการทุจริตในบางประเทศ รวมถึงไทย ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า ‘ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ’

กรณีของประเทศไทย 88% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่าการทุจริตของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด และ 24% บอกว่าเคยจ่ายเงินสินบนในช่วง 12 เดือนที่ TI จัดทำรายงาน อีก 27% ใช้เส้นสายเพื่อขอรับบริการสาธารณะ 28% ได้รับข้อเสนอเกี่ยวกับซื้อสิทธิขายเสียงช่วงเลือกตั้ง และ 15% เคยเจอหรือมีคนรู้จักเคยเจอการข่มขู่และละเมิดทางเพศ เพื่อแลกเปลี่ยนกับบริการภาครัฐ (sextortion) ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ผู้ตอบแบบสอบถามเจอกับเหตุการณ์ sextortion มากเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและศรีลังกา

ข้อเสนอ สกัดทุจริต-ติดสินบน-ใช้เส้นสาย

ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 60% ยอมรับว่าเลือกที่จะนิ่งเงียบเมื่อพบเห็นการทุจริตติดสินบนและใช้เส้นสาย เพราะกลัวจะถูก ‘เอาคืน’ จากกลุ่มที่ถูกเปิดโปงในภายหลัง และคนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อมั่นว่าการแจ้งเรื่องให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบการทุจริตจะได้ผล

ด้วยเหตุนี้ รายงานประกอบมาตรวัดคอร์รัปชันจึงระบุว่า ถ้าหากปล่อยให้สถานการณ์ทุจริตดำเนินต่อไป จะส่งผลให้ประชาชนสูญเสียความไว้วางใจต่อรัฐบาล จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาแนวทางกระตุ้นให้คนในสังคมเอเชียหันมามีบทบาทในการกำจัดการทุจริตในภูมิภาค โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการให้อำนาจแก่พลเมืองด้วยการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอย่างเข้มงวด เพื่อให้คนกล้าที่จะรายงานเหตุไม่ชอบมาพากลที่พบเห็น

อีกประเด็นหนึ่งการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักธรรมาภิบาลและส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อลดการซื้อหรือขายเสียง การติดสินบน การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องเพื่อให้การเข้าถึงบริการภาครัฐ และต้องปกป้องบุคคลที่ต่อต้านระบบโจราธิปไตย (Kleptocracy) ไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้มีอำนาจ, กลุ่มทุน, หรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลเพียงกลุ่มเดียว

ส่วนกรณีข่มขูและละเมิดทางเพศเพื่อแลกเปลี่ยนกับการรับบริการภาครัฐ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการทุจริตที่กระทบต่อผู้หญิงมาก และการแก้ปัญหาทุจริตทั้งหมดต้องส่งเสริมความอิสระของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกำกับดูแลระบบตรวจสอบและความโปร่งใส เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและกำจัดให้ถึงต้นตอของการทุจริต

ข้อมูลอ้างอิง:

BRIBERY OR PERSONAL CONNECTIONS?

HOW DOES CORRUPTION SHAPE ASIA?

Global Corruption Barometer Asia 2020 - Citizen's views and Experience on Corruption

Corruption Remains a Major Problem in Asia, Damaging Trust in Government, Survey Finds

สรุปสาระสำคัญ มาตรวัดคอร์รัปชันโลกของภูมิภาคเอชีย ประจำปี 2020: มุมมองและประสบการณ์ของประชาชนเกี่ยวกับการทุจริต