Skip to main content

สรุป

  • การรับตำแหน่งของ 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาลำดับที่ 46 ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่สหรัฐฯ เผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขั้นวิกฤต และมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก 

  • หลังจาก 100 วันที่รับตำแหน่ง ไบเดนได้แถลงผลงาน พบว่าชาวอเมริกันเกินครึ่งที่ตอบแบบสอบถาม ยอมรับผลงานของรัฐบาล และรู้สึกเชิงบวกต่อรัฐบาลไบเดน มากกว่าอดีต ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ 

  • ผลวิจัยสุนทรพจน์ผู้นำทั่วโลกช่วงโควิดระบาด พบว่ามี  5 ประเด็นหลักที่ผู้นำหลายๆ ประเทศสื่อสารกับประชาชน คือ ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ, ความเสี่ยงของประชาชนและสวัสดิการ, ความรักชาติ, การเรียกร้องความรับผิดชอบและการสั่งสอน

‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรส หลังปฏิบัติหน้าที่ครบรอบ 100 วัน ช่วงค่ำ 28 เม.ย.2564 โดยใช้เวลาพูดนานที่สุดเมื่อเทียบกับอดีต ปธน.คนอื่นในรอบ 40 ปี (1 ชั่วโมง 4 นาที 58 วินาที) แต่เกินครึ่งของประชาชนอเมริกันผู้ตอบแบบสอบถามมีความรู้สึก 'เชิงบวก' และยอมรับผลงานของไบเดนมากกว่าอดีต ปธน.คนก่อนหน้า

สำนักข่าว CNN จัดทำโพลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันที่มีต่อสุนทรพจน์ไบเดน พบว่า 7 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าฟังสุนทรพจน์แล้วรู้สึกเชิงบวกและมองโลกในแง่ดี ขณะที่ CBS สำรวจความเห็นผู้ชมการถ่ายทอดสุนทรพจน์ของไบเดน พบว่า 85% ยอมรับผลงานในช่วง 100 วันที่ผ่านมา

อีกหนึ่งโพลที่สำรวจโดย Politico ระบุว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 60% ยอมรับผลงานของไบเดน มากกว่าสถิติ 48% ที่สำรวจสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งครบ 100 วัน โดยเป็นคะแนนรวมจากการสำรวจความเห็นทั้งผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลเดโมแครต พรรคฝ่ายค้านรีพับลิกัน และผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ยอมรับ 'วิกฤต' และแจกแจง 'โอกาส'

ประเด็นสำคัญในสุนทรพจน์ของไบเดน มีทั้งการขอบคุณผู้ร่วมงาน เริ่มจากการกล่าวถึง ‘ประธานสภาหญิง’ และ ‘รองประธานาธิบหญิง’ คนแรกของสหรัฐฯ ซึ่งเน้นให้เห็นว่ารัฐบาลของเขาสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ตามด้วยการแถลงถึง ‘วิกฤต’ ที่เกิดขึ้นในประเทศ และ ‘โอกาส’ ซึ่งนำไปสู่การผลักดันผลงานให้เป็นรูปธรรมช่วง 100 วันที่ผ่านมา และตบท้ายด้วยนโยบายที่จะทำต่อไปในอนาคต

เรื่องแรกที่เป็นวาระเร่งด่วนคือ ‘การฉีดวัคซีนโควิด’ โดยไบเดนเทียบว่าตอนเข้ารับตำแหน่งเดือน ม.ค. มีผู้สูงอายุเพียง 1% ได้รับวัคซีน แต่ในช่วง 100 วัน ผู้สูงอายุ  70% ได้รับวัคซีนครบ ทั้งยังฉีดวัคซีนให้ประชาชนรวมกว่า 220 ล้านโดส เกินกว่าเป้าหมายเดิมซึ่งตั้งไว้ที่ 100 ล้านโดส  

ผลงานที่สำคัญอื่นๆ ของไบเดน ได้แก่ การอนุมัติ ‘เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ’ ให้เป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง, ส่งเช็คช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 กว่า 160 ล้านครัวเรือน, เสนอแผนการช่วยเหลือผู้กู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์และลงทุนรายย่อย, มีการกระจายศูนย์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ทำให้คนอเมริกาเข้าถึงการฉีดวัคซีนใกล้บ้านในรัศมีไม่เกิน 8 กิโลเมตร และแผนการช่วยเหลือทางโภชนาการแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย

แผนการทำงานในอนาคต ไบเดนพูดถึงการลงทุนเพื่อสร้างงานให้ชาวอเมริกันเพิ่ม (American Jobs Plan) และย้ำว่าช่วง 100 วัน มีการจ้างงานใหม่ 1.3 ล้านตำแหน่ง แต่ในอนาคตจะส่งเสริมการลงทุนบูรณะฟื้นฟูโครงสร้างสาธารณูปโภคทั่วประเทศ, เปลี่ยนระบบท่อประปาในครัวเรือนให้ประชาชนได้น้ำดื่มน้ำใช้สะอาด ไม่ปนเปื้อนตะกั่ว, การส่งเสริมโครงการอาหารแก่เด็กอเมริกันในโรงเรียน

นอกจากนี้ ไบเดนยังสนับสนุนงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้น เน้นด้านพลังงานสะอาด-สุขภาพ-เทคโนโลยี ไม่เน้นแค่ด้านกลาโหมเหมือนที่ผ่านมา และเตรียมพิจารณาเก็บภาษีเศรษฐีและผู้มีรายได้สูงเพิ่มจาก 37% เป็น 39.6% ซึ่งประเด็นนี้อาจโดนคัดค้านจากพรรคฝ่ายค้านรีพับลิกัน ซึ่งมีนายทุนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนหลายราย

ประเด็นสำคัญที่ผู้นำโลกสื่อสารกับประชาชนช่วงโควิด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ 'บิล&เมลินดา เกตส์' (Words matter: political and gender analysis of speeches made by heads of government during the COVID-19 pandemic) ศึกษาว่าคำพูดที่ใช้ในสุนทรพจน์ของผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกในช่วงโควิดแพร่ระบาด พูดถึงเรื่องใดบ้าง และมีความแตกต่างกันหรือไม่ระหว่างผู้นำที่เป็นผู้หญิงและผู้ชาย

การเก็บข้อมูลประกอบงานวิจัยนำมาจาก 122 สุนทรพจน์ของ 20 ผู้นำทั่วโลก: บังกลาเทศ เบลเยียม โบลิเวีย บราซิล สาธารณรัฐโดมินิกัน ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ไนเจอร์ อินโดนีเซีย นอร์เวย์ รัสเซีย เซาท์แอฟริกา สกอตแลนด์ เซนต์มาร์ติน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ไต้หวัน พบว่าเนื้อหาของสุนทรพจน์ไม่ต่างกันมากนักระหว่างผู้นำหญิงและผู้นำชาย

Mahamed Hassan/ Pixabay

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นสำคัญ 4 ข้อที่ผู้นำทั่วโลกเน้นสื่อสารกับประชาชนในช่วงโควิด 

(1) ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งผู้นำที่ได้รับคำชมเชยจะชี้แจงอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร และมีการเรียงลำดับความจำเป็นของประชาชนในแต่ละกลุ่ม รวมถึงกำหนดกรอบเวลาทำงานที่ชัดเจน 

(2) ความเสี่ยงของประชาชนและระบบสวัสดิการ ผู้นำทั่วโลกกล่าวถึงภาวะเสี่ยงของประชาชนในช่วงเกิดโรคระบาด ควบคู่กับการกล่าวถึงระบบสวัสดิการที่จะให้ความคุ้มครอง แต่มีเพียงผู้นำหญิงเท่านั้นที่กล่าวถึงภาวะเสี่ยงของประชาชนแบบลงลึกถึงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ใช่แค่ความปลอดภัยของพลเมือง แต่รวมถึงความปลอดภัยของ 'ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย' รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่ทำให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบ

(3) ความรักชาติ แนวคิดเรื่องความรักชาติและความสามัคคีภายในชาติ มักจะถูกผู้นำหลายประเทศหยิบยกมากล่าวถึงในสุนทรพจน์เมื่อจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการที่กีดกันหรือปิดกั้นการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างชาติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด ขณะที่ผู้นำชายหลายคนใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อกล่าวโทษต่างชาติว่าเป็นต้นเหตุแห่งการแพร่ระบาด

(5) การเรียกร้องความรับผิดชอบและการสั่งสอน สุนทรพจน์ของผู้นำทั่วโลกต่างขอให้ประชาชนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมถึงปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาด แต่ผู้นำบางส่วนใช้วิธีสอนสั่งหรือไม่ก็ทำให้ประชาชนรู้สึกผิดถ้าไม่ทำตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษากรณีที่เกิดขึ้นกับบราซิล หลังจากประธานาธิบดี 'ฌาอีร์ โบลโซนารู' ปฏิเสธความร้ายแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยครึ่งแรกของปี 2563 เป็นช่วงที่โควิดลุกลามข้ามพรมแดนไปแล้ว ปธน.โบลโซนารู ยังออกพบปะผู้คนโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และกลายเป็นผู้ติดเชื้อเสียเอง เมื่อรักษาตัวจนหายก็ยังแสดงความคิดเห็นทำนองว่า "โรคโควิดไม่ร้ายแรง" แต่หลังจากนั้น 1 ปี บราซิลมีผู้ติดเชื้อถึง 14.5 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 398,000 ราย 

ขณะที่บทความของ BBC Worklife ว่าด้วยการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ ระบุว่า ผู้นำควรสื่อสารกับประชาชนโดยไม่ปกปิดข้อเท็จจริงและไม่พยายามพูดถึงสถานการณ์ดีเกินจริง (sugar- coated) เพราะกลัวคนตื่นตระหนก และต้องชี้แจงวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานต่างๆ อย่างชัดเจน โดยที่นโยบายหรือข้อปฏิบัติต่างๆ ต้องเป็นเหตุเป็นผล มีความต่อเนื่อง ไม่ขัดแย้งกันเอง