Skip to main content

แอฟริกาตะวันตกเฝ้าระวังเชื้อไวรัสอีโบลา หลังพบการแพร่ระบาดอีกครั้งในสาธารณรัฐกินี มีผู้ติดเชื้อ 7 ราย และเสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยทางการให้สัญญาเร่งฉีดวัคซีนและใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อควบคุมการระบาด

แถลงการณ์กระทรวงสาธารณสุขกินีเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมาระบุว่า พบผู้ติดเชื้ออีโบลาในประเทศ 7 ราย และเสียชีวิตแล้ว 3 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้งหมดเริ่มมีอาการท้องร่วง อาเจียนและเลือดออก หลังไปร่วมงานฝังศพพยาบาลคนหนึ่งในภูมิภาคเอ็นเซเรกอเร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยทั้งหมดถูกแยกรักษา เจ้าหน้าที่กำลังติดตามค้นหาผู้สัมผัสเชื้อและมีการตั้งศูนย์รักษาผู้ติดเชื้อแห่งหนึ่งขึ้นในพื้นที่แล้ว

รัฐมนตรีสาธารณสุขกินียืนยันว่า จะใช้มาตรการทั้งหมดเพื่อควบคุมการระบาดครั้งนี้ให้ได้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รัฐบาลขอให้ประชาชนแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขหากมีอาการป่วย รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและการป้องกัน พร้อมระบุว่าจะเร่งจัดส่งวัคซีนไปยังภูมิภาคที่พบการติดเชื้อ

กินีไม่พบผู้ติดเชื้ออีโบลามาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรายงานของนิวยอร์กไทม์สระบุว่าพยาบาลคนดังกล่าวเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกที่ได้รับรายงานจากการระบาดของอีโบลาครั้งนี้ โดยเริ่มมีอาการมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพยาบาลคนนี้คือผู้ป่วยรายแรก ซึ่งเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคกำลังพยายามค้นหาว่าพยาบาลคนนี้ติดเชื้อไวรัสได้อย่างไร

ด้าน 'อัลเฟรด จอร์จ คีเซอร์โบ' ผู้แทนองค์การอนามัยโลกในกินีระบุว่า องค์การอนามัยโลกเฝ้าระวังอย่างเต็มที่และอยู่ระหว่างการประสานกับผู้ผลิตวัคซีนเพื่อทำให้แน่ใจว่าปริมาณวัคซีนที่จำเป็นต้องใช้จะถูกเตรียมพร้อมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้เพื่อควบคุมไวรัส

อีโบลาเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้เฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อและเจ็บคอในระยะแรก ส่วนในระยะต่อมามีการอาเจียน ท้องร่วง ไปจนถึงเลือดออกทั้งภายในและภายนอก การติดเชื้อเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อผ่านเลือด อาเจียน อุจจาระ สารคัดหลั่งในร่างกาย หรือการสัมผัสทางอ้อมผ่านสภาพแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยมีแนวโน้มเสียชีวิตจากอาการท้องร่วงและอวัยวะภายในหลายอย่างล้มเหลว

การระบาดของไวรัสอีโบลาระหว่างปี 2556-2559 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในกินี ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 28,000 รายใน 10 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 11,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกอย่างกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน อย่างไรก็ตาม การระบาดเมื่อ 5 ปีก่อน ก็ทำให้มีการทดลองวัคซีนหลายตัว และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็ยังมีการพัฒนายาที่ช่วยทำให้อัตราการรอดชีวิตจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

::: ประเทศเพื่อนบ้านเฝ้าระวัง :::

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างเมื่อพิจารณาจากการค้าข้ามแดนระหว่างกินีกับประเทศข้างเคียงอย่างไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน รวมถึงการมีระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างอ่อนแอในประเทศเหล่านี้ โดยล่าสุดประธานาธิบดีไลบีเรียได้มีคำสั่งให้หน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มการเฝ้าระวังและป้องกัน ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในไลบีเรีย

ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ในเซียร์ราลีโอนมีความกังวลเรื่องการระบาดของอีโบลามากกว่าโควิด-19 แต่การที่มีวัคซีนป้องกันอีโบลาสำรองฉุกเฉินอยู่ประมาณ 500,000 โดส ภายใต้องค์กรพันธมิตรนานาชาติเพื่อวัคซีนอย่างกาวี (GAVI) ก็ทำให้ช่วยบรรเทาความกังวลได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั้งกินี ไลบีเรียและเซียร์ราลีโอนมีประชากรรวมกันประมาณ 22.5 ล้านคน ก็ทำให้เกิดความกังวลเช่นกันว่าผู้ผลิตวัคซีนอาจมีเวลาจำกัดในการผลิตวัคซีนเพิ่มหากจำเป็นในช่วงเวลานี้ที่การผลิตวัคซีนโควิด-19 ถูกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ การประกาศพบการระบาดใหม่ของอีโบลาในกินี ก็ยังเกิดขึ้นหลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การอนามัยโลกได้ยืนยันพบการระบาดใหม่อีกครั้งของไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) เพียง 3 เดือน หลังทางการดีอาร์คองโกเพิ่งประกาศว่าการระบาดครั้งล่าสุดที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 130 รายและเสียชีวิต 55 รายได้ยุติลง โดยครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นการระบาดเป็นครั้งที่ 12 ในดีอาร์คองโก แต่การฉีดวัคซีนป้องกันให้กับประชาชนกว่า 40,000 คน ก็ถูกชี้ว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยควบคุมการระบาด