Skip to main content

‘โคลอี เจา’ หรือ ‘จ้าวถิง’ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Nomadland เป็นผู้หญิงเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และ ‘ฟรานเซส แม็กดอร์มาน’ นักแสดงนำหญิงของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ยังคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมไปครองเป็นรางวัลที่ 3

เจากล่าวสุนทรพจน์ขณะรับรางวัลออสการ์ โดยอ้างถึงชีวิตวัยเด็กที่เติบโตในจีน เธอและพ่อมักทายประโยคที่อ้างอิงจาก ‘คัมภีร์สามอักษร’ (Three Character Classic) ตำราเก่าแก่ของจีน และมีท่อนหนึ่งที่กล่าวว่า "มนุษย์เมื่อแรกเริ่มนั้นดีงาม" เธอจึงขออุทิศรางวัลให้แก่ทุกคนที่ยังมีความศรัทธาและความกล้าหาญที่จะยึดมั่นในความดีงาม

ก่อนจะได้รับรางวัลออสการ์ เจาได้รับรางวัลสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาก่อนจากเวทีลูกโลกทองคำ หรือ Golden Globe Award ของสหราชอาณาจักร และสื่อของรัฐบาลจีน Global Times เคยรายงานข่าวการรับรางวัลของเจาด้วยว่าเป็น ‘ความภาคภูมิใจของชาติ’ ก่อนที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนจะเปิดเผยข้อมูลว่าเจาเคยวิพากษ์วิจารณ์จีนเป็นประเทศที่ “เต็มไปด้วยคำโกหก” เมื่อปี 2556

หลังจากนั้น กระแสต่อต้านเจาก็เกิดขึ้นในสื่อออนไลน์ของจีน โดยมีผู้เรียกเธอว่า ‘คนทรยศ’ ที่ใส่ร้ายป้ายสีจีน และ The Guardian รายงานว่าข้อมูลเกี่ยวกับรางวัลออสการ์ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 25 เม.ย.ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ก็ถูกปิดกั้นในจีนเช่นกัน และการค้นหาชื่อเจาทั้งในภาษาอังกฤษและจีนในเสิร์ชเอ็นจิน Baidu และเครือข่ายสังคมออนไลน์ Weibo ก็ถูกปิดกั้นด้วย

Chloezhao/ CC BY-SA 4.0

บทสัมภาษณ์หลายชิ้นในสื่อต่างประเทศระบุว่า เจาเกิดที่กรุงปักกิ่งของจีน ทั้งยังเติบโตในครอบครัวที่ฐานะดี เพราะพ่อของเธอเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเหล็กรายใหญ่ของจีน ส่วนแม่เป็นพยาบาล เมื่ออายุ 15 ปี เธอถูกส่งไปเรียนต่อที่อังกฤษก่อนจะย้ายไปสหรัฐฯ เพื่อเรียนต่อมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย โดยเธอเรียนต่อในสาขารัฐศาสตร์ ก่อนจะมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก ‘Songs My Brother Taught Me’ เมื่อปี 2558

เจาทำงานในแวดวงภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2541 มาจนถึงปัจจุบัน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในนิวยอร์ก แต่ภาพยนตร์ล่าสุด Nomadland ที่เป็นผลงานคว้ารางวัลของเธอก็ไม่ได้มีเนื้อหายกย่องเชิดชูสหรัฐฯ เพราะนักวิจารณ์บางรายระบุว่านี่คือการสะท้อนภาพภาวะดิ้นรนของคนในสังคมอเมริกันยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคที่ค่านิยม ‘อเมริกันดรีม’ ล่มสลาย โดยหนังอ้างอิงเรื่องราวจากหนังสือชื่อเดียวกันของ ‘เจสสิกา บรูเดอร์’

CNN รายงานด้วยว่า ประเด็นการเมืองมีผลต่องานของเจา ทำให้ช่วงเวลาแห่งความภูมิใจของเธอได้รับผลกระทบ พร้อมระบุว่า ความเสียหายส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เจาให้สัมภาษณ์สื่อออสเตรเลียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และสื่อดังกล่าวรายงานบทสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษโดยระบุว่าเจาพูดถึงสหรัฐฯ ในฐานะ “ประเทศของฉันในตอนนี้” ("is now my country”)

ในความเป็นจริง เจาพูดว่า สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศของฉัน (“is not my country”) แต่ชาวเน็ตในจีนจำนวนมากอ้างอิงบทสัมภาษณ์ดังกล่าวในการโจมตีเจาว่าเป็นผู้ทรยศประเทศชาติ และภาพยนตร์ Nomadland อาจไม่ได้ฉายในจีนแผ่นดินใหญ่