Skip to main content

สรุป

  • ตัวแทน Sex worker ประเทศไทยระบุการจดทะเบียนพนักงานบริการจะทำให้เกิดการแบ่งแยกและตีตราผู้ประกอบอาชีพนี้
  • ปัญหาหลักคือกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่ยังเอาผิดทางอาญาและทำกับคนทำงานเหมือนเป็นอาชญากรอยู่ เสนอให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ และให้พนักงานบริการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน 

ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการกิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และ ผู้มีความหลากหลายทางเพศของรัฐสภาได้ตั้งคณะอนุกรรมธิการเพื่อศึกษาพิจารณายกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พร้อมทั้งเตรียมจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่ภายใต้ชื่อการค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการซึ่งจะมีการเตรียมจดทะเบียนพนักงานบริการ  

ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหลายฝ่ายต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ล่าสุดมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งทำงานคุ้มครองดูแลพนักงานบริการในประเทศไทยได้จัดเวทีเสวนาผ่านแอพพลิเคชั่นซูมในหัวข้อ 'จดทะเบียน  Sex worker แก้ปัญหา จริง หรือ หลอก' โดยมีวิทยากรจากไทยและต่างประเทศที่ทำงานคุ้มครองดูแลสิทธิของพนักงานบริการร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในครั้งนี้

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลในฐานะโฆษกกมธ.กิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และ ผู้มีความหลากหลายทางเพศของรัฐสภากล่าวถึงเหตุผลในการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาว่า เป้าหมายของเราที่ร่างพรบ.ฉบับนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้การค้าประเวณีในประเทศไทยเป็นงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งเราต้องการคุ้มครองผู้ให้บริการ โดยก่อนหน้านี้เราได้รับข้อมูลต่าง ๆ มากมายจากภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐว่าทางออกและข้อเสนอใหม่ของการค้าประเวณีในประเทศไทยควรเป็นอย่างไร ซึ่งภาคประชาชนก็บอกว่าการขึ้นทะเบียนนั้นจะมีปัญหาเพราะจะทำให้เกิดการตีตราเกิดขึ้น แต่ก็มีอีกฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างกม.ฉบับนี้ 

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ได้รับฟังข้อมูลมาจากหลายส่วน จึงอยากจะนำข้อเสนอใหม่มานำเสนอให้กับสังคม ซึ่งเราจะต้องทำให้ผู้ประกอบการถูกกฎหมายและเขาต้องได้รับการปกป้องดูแลในฐานะผู้ประกอบการด้วย โดยจะมี 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ที่ต้องการนำเสนอ ดังนี้ 1. ถ้าสถานบริการนั้นมีการจดทะเบียนการค้าประเวณีที่ถูกต้อง พนักงานที่ทำงานหรือค้าประเวณีในสถานบริการนั้น ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐ ก็สามารถทำงานกับร้านเหล่านั้นที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายได้ 2. คือการจดทะเบียนในกรณีที่ผู้ให้บริการต้องการที่จะทำงานเป็นฟรีแล๊นซ์ ก็สามารถขึ้นทะเบียนได้และจะได้รับการปกป้องดูแลจากรัฐไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ หรือการต้องการพัฒนาตนเอง คนที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐก็จะเข้าสู่การคุ้มครองและการก้าวต่อไปในการประกอบอาชีพต่างๆ 3. เราไม่ต้องการให้การค้าประเวณีมีความผิดทางอาญา เราเอาความผิดทางอาญาออกไป  ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ก็จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกๆฝ่ายเพื่อนำมาประกอบการร่างกม.ให้เกิดความรอบด้านอีกครั้งด้วย

ขณะที่ รูท มอร์แกน โทมัส ตัวแทนจากเครือข่าย เซ็กส์เวิร์คเกอร์เน็ตเวิร์ค (NSWP) กล่าวว่า สถานการณ์เรื่องการจดทะเบียนอาชีพค้าบริการทั่วโลก  เกือบ 200 ประเทศ มีเพียง 23 ประเทศเท่านั้นที่กำหนดว่าคนที่จะทำงานบริการทางเพศจะต้องมาจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ มีการกำหนดว่าจะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับทางการ แต่กลับบอกว่าการจ้างเซ็กเวิร์คเกอร์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้คนที่ทำอาชีพให้บริการทางเพศไม่มีทางเลือก ยังต้องทำงานแบบจ้างตัวเอง ไม่ได้มีนายจ้าง และทำให้พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองเรื่องสิทธิแรงงาน และยังไม่ให้มีการรวมตัวกันของผู้ที่ทำอาชีพบริการทางเพศ เป็นการจำกัดสิทธิในการมีอำนาจต่อรองของคนทำงานบริการ และทำให้พวกเขาต้องไปทำงานที่มีความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น  

นอกจากนี้ก็มีเพียง 2 ประเทศ จาก 25 ประเทศเท่านั้น ที่ยอมรับว่างานบริการก็คืองานประเภทหนึ่ง ที่เหลือนั้นใช้มาตรการการจดทะเบียน เพื่อมาควบคุมจำกัดสิทธิมากกว่า และมีการกำหนดว่าคนที่ทำงานบริการต้องมีการตรวจเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ อาจจะทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน และมีการบันทึกข้อมูลเอาไว้ในบัตร ในบางประเทศยังบังคับด้วยว่าคนที่ทำงานจะต้องถือบัตรติดตัว และโชว์หากลูกค้าขอ  ทั้งนี้การบังคับตรวจโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ถูกประณามจากหน่วยงานของยูเอ็นทั้งองค์การอนามัยโลกและเอ็นจีโอ ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตามยังมีอยู่ 21 ประเทศ จาก 25 ประเทศ ที่มีการจดทะเบียนอาชีพให้บริการทางเพศ ที่บังคับให้ต้องมีการตรวจหาเชื้อ มีบางประเทศห้ามพลเมืองตัวเองไปจดทะเบียนหรือห้ามพลเมืองตัวเองทำอาชีพให้บริการทางเพศ  แต่บางประเทศก็ห้ามแรงงานข้ามชาติค้าบริการ นอกจากนั้น มี 2 ประเทศที่ห้ามคนแต่งงานแล้วมาขายบริการ ทั้งที่เป็นชาย หญิง หรือคนข้ามเพศ และมีอีก 1 ประเทศที่อนุญาตเฉพาะคนที่แต่งงานแล้วมาทำอาชีพนี้  

ด้าน เชอรี่  นักกิจกรรมซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานบริการจากประเทศสิงคโปร์  กล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการจดทะเบียนพนักงานให้บริการทางเพศและมีการตรวจโรคเป็นประจำด้วย การจดทะเบียนมีเป้าหมายหลักเป็นการรับรองที่ทางการรับรองพวกเราที่ทำงานนี้  สิงคโปร์อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนทำงานได้ แต่พอครบกำหนดระยะเวลาจะห้ามกลับเข้าประเทศอีก สิ่งที่ตนไม่ชอบ ในกระบวนการนี้คือถ้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายในสถานประกอบการที่ถูกกฎหมาย หากติดโรคต้องถูกส่งกลับแทนที่จะได้รับการรักษา  ทั้งนี้ประเด็นสิงคโปร์กำหนดให้มีการจดทะเบียนพนักงานบริการทางเพศ มีเป้าหมายเดียวคือป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อเอชไอวีเท่านั้น
 
ขณะที่ ชาร์ล็อต ตัวแทนองค์กร the English Collective of Prostitutes (ECP) ทีทำงานกับเครือข่ายพนักงานบริการในประเทศอังกฤษ กล่าวว่า อีซีพีเป็นเครือข่ายของคนทำงานบริการทางเพศที่ทำงานเพื่อความปลอดภัยและคุ้มครองคนทำงานบริการทางเพศ นอกจากนั้นเราเป็นเครือข่ายองค์กรต่างๆ ทั่วโลกด้วย  งานของเราคือการรณรงค์ให้มีการยกเลิกกฎหมายโสเภณี ซึ่งทำให้คนทำงานบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย  อีกทั้งเรายังรณรงค์ให้บริการต่างๆ เช่น สวัสดิการที่พักอาศัย เพื่อให้คนที่อยากจะออกจากงานนี้สามารถมีทางเลือกได้ ในอังกฤษแม้งานบริการทางเพศถูกกฎหมาย แต่การออกไปยืนหาลูกค้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย  นอกจากนั้นมีการข่มขืน และการใช้ความรุนแรงกับคนทำงานบริการทางเพศค่อนข้างมาก  องค์การที่ทำงานร่วมกับเราระบุว่าคนที่ข่มขืนไม่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะหากข่มขืนคนที่ทำงานบริการทางเพศ ทุกปีมีคนเป็นพันๆ คนที่ถูกบุกไปตรวจจับและถูกดำเนินคดี และมีการบันทึกประวัติว่าทำผิดกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาเวลาไปสมัครงานอื่น  นายจ้างไม่อยากรับคนที่มีประวัติอาชญากรรม 

ด้านลอร่า ตัวแทนองค์กร the English Collective of Prostitutes (ECP) ที่ทำงานกับเครือข่ายพนักงานบริการในประเทศอังกฤษ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนทำงานบริการไม่ได้มีสถานะเดียวกับคนทั่วไป เราถูกจัดเป็นหมวดคนสถานภาพพิเศษที่ต้องเผชิญกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ และมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้มันอยู่ใต้บริบทที่มองว่างานบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หลายคนไม่กล้าไปจดทะเบียนกับระบบประกันสุขภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะคนที่เป็นแม่ ยิ่งไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะเกรงจะส่งผลกระทบต่อลูก ทำให้หลายคนไม่ไปจดทะเบียนและต้องอยู่แบบผิดกฎหมาย  การทำระบบให้ถูกกฎหมายนั้นก็ไม่ได้ดีกับสังคมโดยรวมนัก เพราะผู้หญิงเป็นคนเลี้ยงดูครอบครัวเป็นหลัก ถ้าต้องเผชิญกับสถานะที่มีการตีตราให้เป็นอาชญากรรมหรือกระทำการที่ผิดกฎหมาย ก็จะส่งผลกระทบต่อลูกและคนที่เราต้องดูแลในครอบครัวด้วย ซึ่งการทำงานเหล่านี้จะต้องถูกนำมาคำนวณเป็นรายได้ในการดูแลครอบครัวด้วย
  
ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ระบุการจดทะเบียนไม่ได้แก้ปัญหาสังคมได้จริง นำมาสู่การตีตรา และปัญหาส่วยและคอรัปชั่นก็จะยังคงอยู่ ระบุอุปสรรคของพนักงานบริการคือกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่ยังเอาผิดทางอาญากับพนักงานบริการอยู่ 

ด้าน ไหม จันทร์ตา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์กล่าวในส่วนของประเทศไทยว่า เหตุผลที่พนักงานบริการในประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการจดทะเบียน เนื่องจากพนักงานบริการจำนวนมากในประเทศไทยไม่สามารถเข้าร่วมจดทะเบียนได้ทุกคน และการจดทะเบียนพวกเราก็มองว่าไม่ได้แก้ไขปัญหาสังคมได้จริง เพราะส่วยหรือการคอรัปชั่นยังมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหนแต่อาจจะมาในรูปแบบใหม่หรืออาจจะมีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ  

นอกจากนี้งานบริการที่เราทำมาอยู่พวกเราก็จดทะเบียนมาโดยตลอดในรูปแบบของการทำประกันสังคม ซึ่งมีการระบุนายจ้าง สถานที่ทำงานและขึ้นทะเบียนต่อกรมจัดหางาน โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องส่งรายชื่อให้กรมจัดหางานหรือกรมสวัสดิการแรงงาน ถ้ามีลูกจ้างมากกว่า 1 คนขึ้นไป  

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้คือ พนักงานบริการไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมและการจ้างงานที่เป็นธรรมได้ทุกคน เพราะยังมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 (กฎหมายการค้าประเวณี) ที่บอกว่าเราเป็นอาชญากรและมีความผิดทางอาญา  ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานได้จริง และขณะนี้เราเห็นว่าสังคมเปิดกว้างขึ้น มองเห็นสิทธิของพนักงานบริการ ทุกคนควรที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เราก็ยอมรับว่างานของเรายังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมสักเท่าไร เราจึงไม่เห็นด้วยกับการจดทะเบียน ซึ่งการจดทะเบียนจะนำมาซึ่งการตีตรา เพราะจากตัวอย่างของต่างประเทศว่าแค่จะได้ลงทะเบียนมีการถูกแบ่งแยก ถูกกีดกัน เป็นต้น  อาชีพงานบริการของเรา เราไม่ต้องการอะไรที่พิเศษว่าอาชีพอื่นๆ ถ้าจะแย่ก็ให้แย่ไปเท่าๆกัน ถ้าได้ก็อยากให้ได้เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่ต้องมีกฎหมายเฉพาะ หรือกฎหมายที่ออกมาควบคุมเฉพาะในอาชีพของเรา 

การตรากฎหมายขึ้นมาใหม่นั้นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งควรที่จะนำงบประมาณนั้นมาจัดให้กรมจัดหางาน หรือกระทรวงแรงงานเพื่อนำงบประมาณนั้นมาตรวจสอบสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบกิจการ เงื่อนไขการทำงานของพนักงานบริการที่ไม่เป็นธรรมหรือ การถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือความปลอดภัยในการทำงานหรือสถานที่ทำงานซึ่งจะเป็นผลดีกว่า เพราะบางครั้งเงื่อนไขการทำงานของเจ้าของสถานประกอบกิจการนั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขตามกฎมายแรงงาน ซึ่งจะทำให้เราถูดเอารัดเอาเปรียบในสถานที่ทำงาน ดังนั้นการจดทะเบียนจึงไม่ตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง จึงเสนอให้ยกเลิกการเอาผิดกับพนักงานบริการและให้เราไม่เป็นเป็นอาชญากร และให้พนักงานบริการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรได้รับและอยู่ภายในกฎหมายแรงงาน และจะทำให้เราได้สิทธิอื่นตามมาด้วย

ผู้ประสานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์เชื่อหากทำให้พนักงานบริการไม่ผิดกฏหมายจะสามารถลดการคอรัปชั่นได้และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐ