ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1, รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกแพทยสภาคนที่ 2, และ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา แถลงจุดยืนแพทยสภา กรณีความรุนแรงกรณีสลายม็อบบุคลากรทางการแพทย์
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวลงชื่อโดย ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา และประธานคณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา เนื้อหาคือ เนื่องจากขณะนี้เกิดเหตุการณ์การชุมนุมโดยกลุ่มคนหลายครั้งในประเทศไทย จนเป็นเหตุให้มีประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ และอาสาสมัครทางการแพทย์ ได้รับบาดเจ็บ ดังปรากฎอย่างต่อเนื่อง กรรมการบริหารแพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพทางด้านสุขภาพ ขอแถลงจุดยืนเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว คือ
1. ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมาย และการใช้กำลังที่เกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในบริเวณ หรือสัญจรผ่านพื้นที่ใกล้เคียง
2. ขอให้ทุกฝ่ายให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่ทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายใดๆ ต่อบุคลากร และอาสาสมัครทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล
3. ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดให้มีระบบการให้การดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย ตามหลักสากล ที่สำคัญคือ ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดถือความเป็นกลาง มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
4. ขอแสดงความชื่นชมต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ทุกท่าน ที่เสียสละและมีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์การชุมนุมต่างๆ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ
เนื้อหาในแถลงการณ์ของแพทยสภาครั้งนี้ถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายรายนำไปเปรียบเทียบกับแถลงการณ์เมื่อปี 2556 ช่วงที่กลุ่ม กปปส.ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ซึ่งครั้งนั้นท่าทีของแพทยสภาชัดเจนกว่า โดยระบุให้ทุกฝ่าย "หยุดทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์"
::: ชมรมแพทย์ชนบท จี้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีแพทย์อาสาถูกทำร้าย :::
ด้านชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ กรณีการทำร้ายอาสาสมัครทางการแพทย์ที่เข้ามาปฏิบัติในการดูแลผู้ชุมนุมคืนวันที่ 13 ก.พ. 2564 โดยบอกว่า การปฏิบัติการช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล รักษารวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 2 ปี 2503
การรุมทำร้ายอาสาสมัครที่เข้ามาปฏิบัติดังกล่าวโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าผู้บาดเจ็บเป็นฝ่ายใด ถือเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศดังกล่าว และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง
ชมรมแพทย์ชนบท ในฐานะที่เป็นหนึ่งในภาคีบุคลากรทางสุขภาพของประเทศไทย ขอประณามการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคืนวันที่ 13 ก.พ. 2564 กรณีที่แพทย์อาสาที่เข้าดูแลผู้ชุมนุมกลุุ่มคณะราษฎรได้ถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่จนบาดเจ็บ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ทั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบทไม่สนับสนุนการใช้การรุนแรง หรือการยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงในพื้นที่การชุมนุมไม่ว่าการกระทำนั้นจะมาจากฝ่ายใด