รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแรงจูงใจรอบใหม่ให้คนย้ายออกจากเมืองใหญ่อย่างโตเกียว โดยเสนอเงินให้ครัวเรือนละ 1 ล้านเยน หรือราวๆ 257,000 บาท ต่อลูกหนึ่งคน หวังช่วยลดความแออัดในเมืองใหญ่ได้ แต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนดให้
ประเทศญี่ปุ่นเสนอเงิน 1 ล้านเยน หรือประมาณ 257,000 บาท ต่อลูกหนึ่งคนให้กับครอบครัวที่มีความประสงค์จะย้ายถิ่นฐานออกจากกรุงโตเกียวไปยังพื้นที่ชนบทของประเทศ โดยโครงการนี้จะเริ่มในเดือน เม.ย. 2023 นี้ จำนวนเงินนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าที่ให้เพียงครอบครัวละ 700,000 เยน (ประมาณ 180,000 บาท) เท่านั้น
ข้อเสนอนี้อาจทำให้บางครอบครัวจะได้รับเงินสูงสุด 5 ล้านเยน หรือประมาณ 1.28 ล้านบาท แม้จำนวนเงินที่ได้จะดูมาก แต่เงินเหล่านี้ก็จะถูกใช้จ่ายอย่างรวดเร็วในการย้ายบ้านใหม่, งานการและชุมชน รวมถึงบางครอบครัวอาจประสบกับรายได้ที่ลดลงด้วย
โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือความต้องการลดความแออัดในภูมิภาคโตเกียว รวมไปถึงฟื้นฟูพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกลของญี่ปุ่นด้วยการอัดฉีดเงินไปยังเยาวชนและผลักดันให้ประชาชนหันไปประกอบอาชีพในชนบท ซึ่งรัฐบาลประกาศนโยบายนี้ช่วงเดือน ธ.ค. 2022 ก่อนวันหยุดปีใหม่ เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางกลับบ้านได้คิดทบทวนข้อเสนอนี้
และนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศโครงการชักจูงคนสู่ชนบท เพราะหลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีความพยายามมาอย่างต่อเนื่องแต่ล้มเหลว ทำให้ทางการญี่ปุ่นหวังว่าโครงการล่าสุดนี้จะนำพาชาวญี่ปุ่นราวๆ 1,000 คนต่อปีย้ายออกจากเมืองที่แออัดออกไปใช้ชีวิตยังชนบทได้
แต่มีเงื่อนไขสำหรับการย้ายอยู่ว่า ผู้มีรายได้อย่างน้อยหนึ่งคนในแต่ละครัวเรือนต้องตั้งธุรกิจในสถานที่ใหม่ของตัวเอง หรือรับงานในองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดกลางของที่นั่น และครอบครัวจะต้องอยู่อย่างน้อย 5 ปี หากผิดเงื่อนไขครอบครัวนั้นต้องคืนเงินที่ได้รับไปก่อนหน้า
ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น แต่มีหลายประเทศที่เสนอเงินให้คนย้ายออกจากเมืองใหญ่
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศแรกที่เสนอเงินให้คนย้ายถิ่นฐานไปยังชนบท ในปี 2021 ไอร์แลนด์ เริ่มย้ายพนักงานของภาครัฐจำนวน 68,000 คนออกจากกรุงดับลิน เมืองหลวงยังพื้นที่แถบชนบทของประเทศ ภายใต้โครงการชื่อ Our Rural Future
ส่วนช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศเช่น สวิตเซอร์แลนด์, สเปน และอิตาลี ใช้ประโยชน์จากการทำงานทางไกลที่ยืดหยุ่นได้นี้ เสนอเงิน 3,000 ปอนด์ หรือประมาณ 120,000 บาทเพื่อใช้สำหรับซื้อที่อยู่บ้านและเข้าไปอยู่ได้เลย
ก่อนหน้า ญี่ปุ่นสมัยทานากะ คาเคอิ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ที่ดำรงตำแหน่งช่วงทศวรรษที่ 1970 ได้ลงทุนโครงการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามกระตุ้นการจ้างงาน และสร้างเสถียรภาพให้กับประชาชน ซึ่งแผนของเขาได้ผลอยู่ช่วงหนึ่ง แต่กระบวนการดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ญี่ปุ่นยังต้องปรับตัว
ส่วนช่วงทศวรรษที่ 1980 โครงการ One Village One Product หรือที่ไทยรู้จักในชื่อ "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" เปิดตัวในจังหวัดโออิตะในคิวชู ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดูอ่อนโยนกว่าของคาเคอิ ทำให้ได้รับการส่งเสริมในระดับสากลโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการพัฒนาในต่างประเทศของญี่ปุ่น
การขยายตัวของเมือง สร้างความกังวลไปทั่วโลก
การขยายตัวของเมือง และความว่างเปล่าในชนบท เป็นสิ่งคู่กันในยุคศตวรรษที่ 21 และเป็นแบบนี้เหมือนกันทั่วโลก ท่ามประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น กระบวนการทำให้กลายเป็นเมืองไม่จำเป็นต้องส่งผลเสียต่อชนบทเสมอไป บางชุมชนได้ประโยชน์จากคนหนุ่มสาวที่ย้ายออกไปหางานทำ การศึกษา และการแต่งงานในเมืองใกล้เคียง เนื่องจากครอบครัวมักทีลูกมากกว่าที่พวกเขาจะเลี้ยงดูได้ แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วถือว่าเป็นช่วงสิ้นสุดของการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศแล้ว
ซึ่งญี่ปุ่นเองเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออก ปี 1974 อัตราการเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นลดต่ำกว่าอัตราการแทนที่ของประชากรที่ 2.1 โดยนักประชากรศาสตร์จะรู้ดีว่า หากสภาวะนี้ยังอยู่ ประเทศจะสูญเสียประชากรไปในที่สุด โดยปัจจุบันโตเกียวมีประชากร 13 ล้านคน แต่ภูมิภาคคันโตซึ่งเป็นแกนหลักมีประชากรมากกว่า 37 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรทั้งหมดของญี่ปุ่น ส่วนที่อื่นๆ ในประเทศนี้ หมู่บ้านเล็กๆ และหมู่บ้านในชนบทหลายร้อยแห่งเผชิญกับการใกล้สูญพันธุ์
ขณะที่กรุงโซลมีประชากรประมาณ 25 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเกาหลีใต้อยู่ในเขตเมืองเดียว และส่วนที่เหลือกระจายอยู่ทั่วประเทศ และในประเทศจีน พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลซึ่งครอบคลุมฮ่องกง เสิ่นเจิ้น มาเก๊า และกวางโจว มีประชากรนับ 100 ล้านคนอาศัยอยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าว ในปัจจุบันมี 155 เมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน
ผลกระทบเชิงพื้นที่ของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรนี้เกิดขึ้นอย่างมากที่สุดในภูมิภาคชนบทของเอเชียแปซิฟิก สิ่งเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในศตวรรษที่ 20 และปัจจุบันเผชิญกับจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างรวดเร็วเกือบเท่าๆ กัน ในศตวรรษที่ 21 ชุมชนทั้งหมดกำลังหายไป ที่ดินและที่อยู่อาศัยถูกทิ้งร้าง โครงสร้างพื้นฐานกำลังเสื่อมโทรม
ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจริญรอยตามญี่ปุ่น พื้นที่นี้เหมือนห้องทดลองสำหรับการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมจากการลดลงของจำนวนประชากร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่จะรับรู้ได้ทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา : Japantoday