Skip to main content

สรุป

  • ภาคประชาสังคมทวงถาม 'กรมทรัพย์สินทางปัญญา' ต้องปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรของบริษัทญี่ปุ่น เพื่อเปิดทางให้ไทยสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้
  • หากพิจารณาเรื่องล่าช้า ไทยอาจขาดยาฟาวิพิราเวียร์ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาโควิด-19 และโรคอื่นๆ อีกทั้งการนำเข้ายาจากต่างประเทศมีราคาแพงกว่ายาที่จะผลิตเอง
  • ถ้ากรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ยกคำขอฯ รัฐบาลต้องประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) เพื่อให้ไทยสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้โดยไม่ละเมิดกฎหมายสิทธิบัตร

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ทวงถามกรมทรัพย์สินทางปัญญาอีกครั้ง หลังจากที่เคยยื่นเอกสารข้อมูลที่ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ควรได้สิทธิบัตรให้กับอธิบดีเมื่อ 17 ก.ค. 2563 และได้เข้าพบอธิบดีเพื่อให้เร่งการพิจารณาเมื่อ 26 ม.ค. 2564 เพราะประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดโควิด-19 อีกระลอกและจำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์อีกจำนวนมาก

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า "จนถึงวันนี้ กรมฯ ยังไม่มีคำตัดสินออกมา และยังให้โอกาสบริษัทยาแก้ไขเอกสารคำขอฯ ได้อีก เป็นการซื้อเวลาออกไปอีก"

ถ้าการพิจารณาคำขอสิทธิบัตรยังล่าช้าอยู่เช่นนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมเรียกร้องรัฐบาลให้ประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือมาตรการซีแอลกับยาฟาวิพิราเวียร์ อย่างที่เคยประกาศใช้ในปี 2549 – 2550 เพื่อนำเข้าหรือผลิตยาเอง และนำมารักษาผู้ป่วย

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำ "กรณีนี้ถือว่าเป็นวิกฤตของประเทศ รัฐบาลต้องกล้าประกาศใช้ซีแอล เราจะหวังพึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์และมองการแก้ปัญหาของประเทศอย่างฉลาดกว่านี้"

องค์การเภสัชกรรมมีความพร้อมที่ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ โดยได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนยาเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ไปแล้ว และคาดว่าจะได้รับทะเบียนตำรับยาในเดือน ก.ย.นี

กรมทรัพย์สินทางปัญญา 'สวนทางโลก'?

บริษัทยาในอินเดียหลายบริษัทสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้เช่นกัน ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ที่จะผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมหรือที่ขายแล้วโดยบริษัทยาในอินเดีย มีราคาถูกว่าที่ไทยซื้อจากต่างประเทศอยู่อย่างน้อยราว 50% และยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไทยสั่งล็อตต่อไปจะมาจากญี่ปุ่นภายใน เม.ย. นี้ 

เฉลิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่เพียงไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาด แต่กำลังทำสิ่งที่สวนทางกับโลก 

"ในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายกร่าง ได้แก้ไขให้ใช้มาตรการซีแอลได้ยากขึ้น ภาวะโควิด-19 แสดงให้เห็นแล้วว่า การผูกขาดด้วยสิทธิบัตรเป็นปัญหา ชิลี อิสราเอล เอกวาดอร์ และรัสเซีย ประกาศใช้มาตรการซีแอลกับยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ป้องกันและรักษาโควิด-19 แล้ว เยอรมนี แคนาดา อินโดนีเซียออก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ให้แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรเพื่อลดขั้นตอนให้ประกาศใช้มาตรการซีแอลได้ง่ายขึ้น ในองค์การการค้าโลก แอฟริกาใต้และอินเดียยื่นข้อเสนอต่อองค์การการค้าโลก ให้ระงับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ ที่ใช้ต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งสมาชิกองค์การการค้าโลกกว่าครึ่งสนับสนุน" 

ในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร กรมทรัพย์ทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไขโดยที่การประกาศใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการซีแอล) ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งในกฎหมายปัจจุบันไม่ต้องผ่านความเห็นชอบฯ หน่วยราชการระดับกระทรวงและกรมสามารถประกาศได้ มิหนำซ้ำกรมทรัพย์สินฯ ยังแก้ไขให้เจ้าของสิทธิบัตรฟ้องต่อศาลขอให้ระงับการประกาศใช้มาตรการซีแอลได้ด้วย  ทั้งนี้ มาตรการซีแอลถือเป็นอำนาจของรัฐที่ใช้เพื่อคุ้มครองประชาชน เมื่อประเทศเกิดวิกฤตหรือภาวะฉุกเฉินเพราะสิทธิบัตรเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา 

นอกจากนี้ ในความตกลง CPTPP ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และรัฐสภามีความเห็นชอบแล้วว่าประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วม แต่รัฐบาลยังดื้อดึงพยายามที่จะเจรจาขอเข้าร่วมโดยไม่ฟังเสียงทัดทาน การใช้มาตรการซีแอลอาจถูกใช้เป็นเหตุในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายผ่านอนุญาโตตุลาการได้ และไทยจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านยามากขึ้นนับหมื่นล้าน เพราะเงื่อนไขในความตกลง CPTPP 

ทำไมยาฟาวิพิราเวียร์จึงสำคัญ?

'ฟาวิพิราเวียร์' เป็นยาต้านไวรัสซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัทญี่ปุ่น 'ฟูจิฟิล์ม-โทยามะ' และได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อการรักษาทางการแพทย์เมื่อปี 2557 โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า 'อาวิแกน' ภายหลังได้ถูกนำไปใช้บรรเทาและรักษาอาการที่เกิดจากไวรัส โดยรวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน แต่สิทธิบัตรยาดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อปี 2562 ทำให้หลายประเทศสามารถผลิตตัวยานี้ในชื่อสามัญได้ เช่น จีน อินเดีย

แต่กรณีของไทยยังไม่สามารถผลิตยาสามัญตัวนี้ เพราะบริษัทฟูจิฟิล์มฯ ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในปี 2563 และถ้าหน่วยงานรัฐบาลไทยยอมรับคำขอจดสิทธิบัตรของบริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้ จะทำให้ยาดังกล่าวได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 20 ปี ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทฟูจิฟิล์ม โทยามะฯ จะไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ และอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิดในไทยที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ 

ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมไทยได้เรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งพิจารณายกเลิกคำขอสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็ว เพื่อเปิดให้ผู้ผลิตยาในไทยสามารถผลิตยานี้ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ขณะที่ความล่าช้าในการพิจารณาของกรมฯ อาจทำให้คนไทยเสียโอกาส และอาจเผชิญกับภาวะขาดแคลนตัวยา เนื่องจากไทยต้องนำเข้ายาดังกล่าวจากต่างประเทศในราคาแพงกว่ายาที่จะผลิตเอง