Skip to main content

สรุป

  • จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติในเอเชีย หารือแนวโน้มเศรษฐกิจ, ความร่วมมือภาครัฐและเอกชน เพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • ประธานาธิบดีจีนเรียกร้องนานาชาติหนุนการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและการค้าเสรี พร้อมตำหนิประเทศที่พยายามทำตัวเป็นเจ้าโลก (hegemony) ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการพาดพิงสหรัฐอเมริกา 
  • แม้ ปธน.จีนจะต่อต้านการใช้อำนาจครอบงำ แต่ประชาชนในประเทศจีนยังถูกปิดกั้น โดยบทความล่าสุดของอดีตนายกฯ ที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ถูกเซ็นเซอร์ คาดว่าเพราะมีคำที่เป็นประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวพัน ปธน. เช่น เกษียณอายุ, ประเทศชาติ, ปฏิวัติวัฒนธรรม

สุนทรพจน์ของ ‘สีจิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ที่กล่าวในพิธีเปิดการประชุมโป๋อ่าว (Boao Forum For Asia) เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 ถูกจับตามองจากสื่อหลายสำนัก ในฐานะที่จีนมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก ทำให้การศึกษาแนวทางฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดจากโรคโควิด-19 ของจีนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินแนวโน้มตลาดเอเชียและตลาดโลก

สื่อของรัฐบาลจีน China Daily รายงานว่าผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกและอดีตผู้อำนวยการของโครงการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวชื่นชมบทบาทของจีนในการส่งวัคซีนโควิดไปช่วยประเทศต่างๆ

ขณะที่สีจิ้นผิงเน้นย้ำกับตัวแทนแต่ละประเทศและตัวแทนบริษัทเอกชนต่างชาติที่เข้าร่วมประชุม ให้สนับสนุนการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและการค้าเสรี และย้ำว่าประชาคมโลกต้องไม่ปล่อยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้กฎเกณฑ์ของตัวเองเข้าไปแทรกแซงในประเทศอื่นๆ หรือใช้แนวคิดเอกภาคีนิยม (unilateralism) เพื่อกำหนดจังหวะก้าวของทั้งโลก 

“โลกในวันนี้ต้องการความยุติธรรม ไม่ใช่ความเป็นเจ้าโลก” สีจิ้นผิงกล่าวในการประชุมโป๋อ่าว และสื่อหลายสำนักรายงานว่า ผู้นำจีนได้กล่าวพาดพิงถึง ‘สหรัฐอเมริกา’

ถอดรหัส ‘คำสำคัญ’ สะท้อนนโยบายจีนต่อสหรัฐฯ และพันธมิตร

แม้สีจิ้นผิงจะไม่ได้ระบุชื่อประเทศที่พยายามทำตัวเป็นเจ้าโลก (hegemony) ออกมาตรงๆ แต่คำอื่นๆ ที่ถูกพูดถึงเกี่ยวโยงกับสหรัฐฯ แบบเดาได้ไม่ยาก เพราะบทบาทสหรัฐฯ ในฐานะ ‘มหาอำนาจโลก’ ถูกศึกษาวิเคราะห์กันแพร่หลายในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และสุนทรพจน์สีจิ้นผิงก็เตือนประเทศที่ไม่ได้เอ่ยชื่อนั้นด้วยว่า “อย่าพยายามก่อสงครามเย็นครั้งใหม่” 

The Wall Street Journal รายงานว่าสีจิ้นผิงกล่าวถึง ‘อารยธรรม’ ในสุนทรพจน์ 6 ครั้ง เป็นการย้ำชัดว่าสิ่งที่จีนจะเดินหน้าต่อเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาลง คือ การผลักดันแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ที่เชื่อมโยงเส้นทางในประเทศจีนไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และเป็นต้นทางของการจัดประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย (Conference on Dialogue of Asian Civilizations) ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2562 และต้องเว้นไปในปี 2563 เพราะโควิด 

Mohame

ขณะที่บทความของ The New York Times ระบุว่า สีจิ้นผิงประณามความพยายามที่จะ ‘ก่อกำแพง’ ของบางประเทศว่าเป็นการ ‘สร้างความแตกแยก’ ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และคำดังกล่าวถูกตีความว่าพาดพิงนโยบายกำแพงภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศ 

สีจิ้นผิงได้กล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าตัวแทนบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการประชุมโป๋อ่าวทางออนไลน์ มีทั้ง ‘ทิม คุก’ ซีอีโอของแอปเปิล, ‘อีลอน มัสก์’ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเทสลา รวมถึง ‘เรย์ ดาลิโอ’ นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ และเมื่อมีผู้ทักท้วงว่าจีนกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์หลายอย่างที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนของบริษัทต่างชาติ สีจิ้นผิงได้ย้ำว่า รัฐบาลจีนจะเดินหน้าสนับสนุนการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจการค้าต่อไป และจะพยายามเจรจาความร่วมมือให้เกิดประโยชน์ที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม เพียง 2 วันหลังจากสีจิ้นผิงกล่าวสุนทรพจน์ รัฐบาลออสเตรเลียซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ก็ประกาศออกมาในวันที่ 22 เม.ย.2564 ว่าจะระงับความร่วมมือในแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) กับจีน โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลออสเตรเลียต้องปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และกล่าวว่าแผน BRI ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า

สำนักข่าว AFP รายงานอ้างอิงคำแถลงของ ‘เจน ซากี’ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่าการตัดสินใจของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรที่มีต่อความร่วมมือกับทางการจีน ได้ผ่านการหารือร่วมกันมาก่อน ทำให้สถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ตอบโต้ โดยระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลีย ‘ไร้เหตุผล’ และการระงับความร่วมมือ BRI เป็นการยั่วยุที่ไม่เกิดผลดี

เน้น ‘เปิดกว้าง’ ด้านเศรษฐกิจ แต่ในประเทศยัง ‘ปิดกั้น’ ความเห็น? 

แม้สีจิ้นผิงจะกล่าวสุนทรพจน์สนับสนุน ‘การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ’ และ ‘การค้าเสรี’ พร้อมย้ำว่าจีนจะไม่มีวันวางอำนาจและทำตัวเป็นเจ้าโลก แต่สถานการณ์ในประเทศยังพบการปิดกั้นความคิดเห็นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดถูกรายงานโดยสื่อสิงคโปร์ Channel News Asia (CNA) โดยอ้างอิงบทความที่ ‘เวินเจียเป่า’ อดีตนายกรัฐมนตรีจีนช่วงปี 2546-2556 เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แม่ของเขาเอง ถูกเซ็นเซอร์ในประเทศจีน

"Prime Minister of China Wen Jiabao receives President Kagame-Tianjin, 11 September 2012" by Paul Kagame is licensed under CC BY-NC-ND 2.0

ซีเอ็นเอระบุว่า บทความของเวินเจียเป่ามีทั้งหมด 4 ตอน ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สื่อท้องถิ่นจีนในมาเก๊า ได้แก่ Macao Journal และ Macao Herald ตั้งแต่เดือน มี.ค.จนถึงวันที่ 15 เม.ย.2564 แต่ผู้ใช้แอปพลิเคชันสนทนา WeChat และผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ Weibo ของจีน ไม่สามารถแชร์บทความดังกล่าวได้ และเมื่อเข้าไปยังลิงก์บทความจะพบข้อความเตือนว่าเนื้อหาที่ปรากฏในลิงก์ “ละเมิดกฎการใช้งาน” สื่อออนไลน์

หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสารสนเทศของจีนไม่ได้ชี้แจงว่าเพราะเหตุใดจึงต้องปิดกั้นการเข้าถึงบทความของอดีตนายกฯ เวินเจียเป่า แต่สื่อสิงคโปร์สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะบทความดังกล่าวมีหลายคำที่เป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองในประเทศจีน ซึ่งรวมถึงคำว่า เกษียณอายุ, ประเทศชาติ และการปฏิวัติวัฒนธรรม

ในบทความของเวินเจียเป่ามีคำว่า ‘เกษียณอายุ’ รวม 3 ครั้ง ซึ่งซีเอ็นเออธิบายว่าการที่เวินเจียเป่าพูดถึงการเกษียณอายุในเวลาที่เหมาะสมของพ่อแม่และตัวเขาเอง อาจถูกตีความว่าเป็นการพาดพิงถึงสีจิ้นผิง ซึ่งตามกำหนดเดิมจะครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีหน้า (2565) แต่เขากลับสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2561 เพื่อเปิดทางให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่อไปโดยไม่มีกำหนดเกษียณอายุ ซึ่งทำให้สีจิ้นผิงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อต่างชาติว่าพยายาม ‘ยื้ออำนาจ’ ไม่ต่างจากจักรพรรดิจีนในอดีต

นอกจากนี้บทความของเวินเจียเป่ายังมีคำว่า ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’ ในสมัยอดีตผู้นำเหมาเจ๋อตง 6 ครั้ง พร้อมบรรยายว่าเขารู้สึกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เพราะส่งผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนจำนวนมาก ขณะที่คำว่า ‘ประเทศชาติ’ ถูกพูดถึง 6 ครั้ง โดยเวินแสดงวิสัยทัศน์ว่าประเทศจีนควรคำนึงถึงมนุษยธรรมมากขึ้น แต่ไม่มีการพูดถึง ‘พรรคคอมมิวนิสต์จีน’ แม้สักครั้งเดียว สะท้อนว่าเวินให้ความสำคัญกับประเทศชาติมากกว่าจะให้ความสำคัญกับพรรค ซึ่งมีการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองภายในกันอย่างหนัก