Skip to main content

รายงาน IMF เผยแผนที่ประเทศที่เผชิญวิกฤตอาหาร ไทยถูกระบุเป็นประเทศที่เผชิญกับปัญหาจากราคาอาหารสูงขึ้นเพราะราคาพืชและปุ๋ยพุ่งสูง โดยรายงานดังกล่าวเผยแพร่เมื่อ 30 ก.ย. 2565 กลุ่มประเทศที่เผชิญวิกฤตอาหาร 3 แบบ คือ 1) ประเทศที่เผชิญกับภาวะอดอยาก อาหารไม่พอเพียง 2) ประเทศที่เผชิญปัญหาราคาอาหารสูงเพราะผลกระทบจากราคาพืชและปุ๋ย และ 3) กลุ่มประเทศที่เผชิญปัญหาทั้งสองอย่างข้างต้น

รายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า วิกฤตอาหารโลกเป็นความท้าทายด้านมนุษยธรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่ไม่มีอาหารเพียงพอ รวมทั้งจัดหาเงินทุนให้กับประเทศที่ต้องการด้วย

ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ความไม่มั่นคงทางอาหารเพิ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2018 ก่อนรัสเซียจะบุกยูเครน ความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งในภูมิภาค และการแพร่ระบาดของไวรัส ล้วนส่งผลกระทบต่อการผลิตและจำหน่ายอาหาร ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงดูผู้คนในครอบครัวสูงขึ้น

และสถานการณ์เปลี่ยนไปอีกหลังจากสงครามในยูเครน เพราะทำให้ราคาอาหารและปุ๋ยสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อผู้นำเข้าและกระตุ้นให้หลายประเทศกำหนดมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าของตัวเอง และรายงานจาก World Food Programme ระบุว่า ผลที่ตามมาคือ ประชากร 345 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่ในอันตรายจากความไม่มั่นคงทางอาหารแบบเฉียบพลัน และทั่วโลกมีมากกว่า 828 ล้านคนที่เข้านอนแบบหิวโหยทุกคืน

ผลของการขาดแคลนอาหารส่งไปทั่วทุกที่ แต่เลวร้ายที่สุดใน 48 ประเทศ (ดูแผนภูมิภาพได้ที่ : IMF) โดยประเทศเหล่านี้พึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากยูเครนและรัสเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศรายได้ต่ำ ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งมีความเสี่ยงเป็นพิเศษเนื่องจากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่รุนแรง สถาบันที่อ่อนแลและเปราะบาง

และนอกเหนือจากการสูญเสียของมนุษย์แล้ว ต้นทุนทางการเงินยังเพิ่มขึ้นด้วย รายงานฉบับใหม่โดยเจ้าหน้าที่ของไอเอ็มเอฟประมาณการว่า ผลกระทบของต้นทุนการนำเข้าอาหารและปุ๋ยที่สูงขึ้นจากความไม่มั่นคงทางอาหารจะเพิ่มมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 313,920 ล้านบาทให้กับแรงกดดันด้านดุลการชำระเงินในปี 2565 และ 2566 ซึ่งจะกัดกินเงินสำรองระหว่างประเทศและความสามารถของประเทศเหล่านั้นในการชำระค่านำเข้าอาหารและปุ๋ย โดยรายงานของ IMF ประเมินว่า แค่ปีนี้ปีเดียว ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ ต้องการเงินมากถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 244,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่ยากจนที่สุด

ไอเอ็มเอฟ เสนอ 4 ด้านบรรเทาวิกฤติอาหารโลก

ในรายงานจากไอเอ็มเอฟ แนะแนวดำเนินนโยบายที่เข็มแข็งและรวดเร็ว 4 ด้านเพื่อบรรเทาวิกฤตอาหารโลกและหลีกเลี่ยงความทุกข์ทรมานของผู้คนไว้คือ

ประการแรก ช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และเพียงพอแก่ผู้คนที่เสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารผ่านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากโครงการอาหารโลกและองค์กรอื่นๆ ควบคู่กับมาตรการทางการคลังในประเทศที่มีประสิทธิภาพ ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกควรให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อและปกป้องผู้ที่เปราะบางที่สุดเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ ส่วนความช่วยเหลือระยะสั้นควรมุ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลลือด้านอาหารฉุกเฉิน หรือการโอนเงินให้กับคนยากจน

ประการสอง รักษาการค้าแบบเปิด รวมถึงภายในภูมิภาค เพื่อให้อาหารไหลจากพื้นที่ส่วนเกินไปยังผู้ที่ต้องการ ควรต่อยอดจากความคืบหน้าภายใต้โครงการ Black Sea Grain Initiative และในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกครั้งที่ 12 โดยยุติการห้ามส่งออกที่กำหนดโดยผู้ผลิตอาหารรายใหญ่อย่างเร่งด่วน มาตรการกีดกันทางการค้ามีแต่จะทำให้วิกฤตอาหารเลวร้ายลง โดยคิดเป็นร้อยละ 9 ของการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวสาลีในตลาดโลก ตามข้อมูลของธนาคารโลก

ประการที่สาม เพิ่มการผลิตอาหารและปรับปรุงการจัดจำหน่าย รวมถึงผ่านการรับรองการเข้าถึงปุ๋ยและความหลากหลายของพืชผลอย่างเพียงพอ การเพิ่มการจัดหาเงินทุนเพื่อการค้าและการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานมีความสำคัญต่อการจัดการกับภาวะการขึ้นของราคาอาหารในปัจจุบัน ธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีอื่นๆ มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากธนาคารเหล่านี้เพิ่มการจัดหาเงินทุนทางการค้าสำหรับสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ และสนับสนุนประเทศต่างๆ สำหรับการยกระดับโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

ประการที่สี่ การลงทุนในภาคการเกษตรที่ยืดหยุ่นต่อสภาพอาการจะมีความสำคัญในการเพิ่มผลผลิตในอนาคต เหตุการณ์ทางภูมิอากาศที่รุนแรงและคาดเดาไม่ได้มากขึ้นกำลังเพิ่มความไม่มั่นคงทางอาหาร ประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีการเตรียมพร้อมน้อยที่สุดที่จะเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ปัญหาควรปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ของประเทศ โดยเน้นที่มาตรการต้นทุนต่ำและผลกระทบสูง เช่น การลงทุนในพันธุ์พืชใหม่ การปรับปรุงการจัดการน้ำ และการเผยแพร่ข้อมูล

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังแนะนำด้วยว่า ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดหาทุนที่จำเป็นเพื่อจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้นทันที และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระยะกลางถึงระยะยาวได้ด้วย ซึ่งสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหาร เช่น ช่น โครงการอาหารโลกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จำเป็นต้องได้รับทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอ เนื่องจากสถาบันเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อท้องถิ่นของตนในหลายๆ ประเทศ และให้ความสำคัญกับต้นทุนมนุษย์ ความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลัน

การให้ทุนและการสนับสนุนทางการเงินแบบผ่อนปรนจากผู้บริจาคและองค์กรระหว่างประเทศมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการสนับสนุนเงินสดและความช่วยเหลือในรูปสิ่งของสำหรับผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงจากความไม่มั่นคงทางอาหาร ในบางประเทศจำเป็นต้องมีการบรรเทาหนี้ด้วย

'ไทย' ได้รับผลพวงวิกฤตอาหารจากภาวะสงคราม-น้ำท่วม-ภัยแล้ง-โรคระบาด

ส่วนในประเทศไทย จากเว็บไซต์ BioThai ระบุว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารมาหลายยุค ตั้งแต่ สงครามโลก, น้ำท่วม, ภัยแล้ง และล่าสุดคือโรคระบาด เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นทำให้เกิดผลกระทบไปอย่างกว้างขวาง ปี 2565 ภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ค่าวัตถุดิบเพื่อนำไปประกอบอาหารราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ รวมทั้งความไม่ปลอดภัยของผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่กดทับทางเลือกของคนจนให้น้อยลงไป ค่าอาหารถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ตัวเลขประชาชนที่ถือบัตรคนจน หรือ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ซึ่งมีอยู่ 13.45 ล้านคน เมื่อปี 2564 พุ่งทะลุเป็น 20 ล้านคน ในปี 2565 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ ประชาชนเหล่านี้จะได้รับผลจากวิกฤตอาหารหนักหนาสาหัสกว่ากลุ่มอื่น เพราะค่าใช้จ่ายกว่าครึ่งหนึ่งคือค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ในขณะที่ราคาธัญพืชในระดับโลกเฉลี่ยสูงขึ้น ชาวนาซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งของเกษตรกรกลับขายข้าวในราคาตกต่ำ เกษตรกรกลุ่มอื่นที่ราคาผลผลิตมีราคาดีกว่า เช่น ปาล์ม อ้อย ไม้ผล ข้าวโพด ก็ปรากฎว่าราคาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยและสารเคมี กลับมีราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ไทยส่งออกสินค้าเกษตรปี 65 เติบโตเพิ่มขึ้น 23.22% จากปี 64

ในทางกลับกัน มีรายงานสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก อาหารจึงมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและหากมองในมุมวิกฤตอาหารโลกที่เกิดขึ้น กลับเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโตขึ้น ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญและมีเป้าหมายสู่การเป็นครัวของโลก เห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร 4 เดือนแรก ปี 2565 เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยสินค้าเกษตรไทยส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 418,883 ล้านบาท เป็น 516,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97,244 ล้านบาท หรือ 23.22% กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ข้าว ยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวปรุงแต่ง ปลาทูน่าปรุงแต่ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำยางธรรมชาติ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้

อย่างไรก็ตาม ไทยได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบผ่านกลไกในรูปคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ มีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศไว้อยู่แล้ว

ที่มา

Global Food Crisis Demands Support for People, Open Trade, Bigger Local Harvests

ฝ่าวิกฤตอาหารโลก "สินค้าเกษตรไทย" ส่งออกโตขึ้นกว่า 23% ตอกย้ำเป้าหมายความเป็น "ครัวของโลก"

ไทยกำลังเสี่ยงเข้าสู่วิกฤติอาหาร 2022 หลังโควิด