Skip to main content

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีค่าไฟแพง หลังจากรัฐบาลมีมติขึ้นค่าไฟ โดยให้คงค่าไฟเฉพาะครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน ส่วนผู้ใช้ไฟกลุ่มอื่นรวมถึงประชาชนที่ใช้ไฟเกิน 500 หน่วย/เดือน จะต้องเจอค่าไฟที่แพงขึ้น 1 บาท/หน่วย จากเดิม 4.72 บาท/หน่วย เพิ่มเป็น 5.7 บาท/หน่วย เริ่มต้นเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป 

วรภพกล่าวว่า ของขวัญปีใหม่ของคนไทยไม่ควรเป็นค่าไฟที่แพงขึ้น ตนเคยท้วงติงรัฐบาลหลายครั้ง ว่าต้นตอเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง มีโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น เพราะรัฐบาลอนุญาตให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟให้กลุ่มทุนเหล่านี้ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,400 ล้านบาท/เดือน ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งเจรจากับเอกชน ให้ลดค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) โดยอาจแลกกับการขยายสัญญาออกไป ทำให้ในอนาคตไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงในการเจรจาเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน

วรภพกล่าวว่า ประเด็นที่สอง คือการเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติ เพราะปัจจุบันรัฐบาลอนุญาตให้กลุ่มทุนพลังงานเอาก๊าซราคาถูกไปขายเป็นกำไรของกลุ่มทุนตัวเอง โดยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย หากแปลงเป็นค่าไฟฟ้า มีต้นทุนเพียง 2 บาท/หน่วย และปัจจุบันมีการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศ แต่รัฐบาลกลับอนุญาตให้กลุ่มทุน ปตท. นำก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกนี้ ไปขายให้อุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิงและขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือก่อนถูกนำมาใช้เป็นพลังงานให้ประชาชน ดังนั้น เมื่อก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอ โรงไฟฟ้าจึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) ที่แปลงมาแล้วมีราคา 10 บาทต่อหน่วย ทำให้ประชาชนต้องเสียค่าไฟฟ้า 5-6 บาท/หน่วย ดังนั้น นโยบายนี้ควรถูกทบทวน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ทรัพยากรในอ่าวไทย ซึ่งเป็นของทุกคน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นกำไรของกลุ่มทุนพลังงาน แต่เป็นภาระของประชาชน รัฐบาลต้องจูงใจให้อุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เปลี่ยนเทคโนโลยีไปใช้น้ำมันเตา ซึ่งราคาถูกกว่า 

วรภพ กล่าวว่า ประเด็นสุดท้าย คือรัฐบาลต้องเร่งให้บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ในอ่าวไทยแหล่งบงกชเอราวัณ เร่งผลิตก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระให้ค่าไฟฟ้าในประเทศลดลง และเร่งเจรจากับประเทศกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อน ให้สามารถนำก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาใช้ได้มากขึ้น เป็นนโยบายระยะยาวที่จำเป็นต้องทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าในประเทศไทยใน 3-4 ปีข้างหน้า แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นความคืบหน้าจากรัฐบาล จึงต้องฝากประชาชนติดตามเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นทุกสี่เดือนก็ต้องกลับมาคุยว่ารัฐบาลจะขึ้นค่าไฟ ทั้งที่ไม่มีประชาชนคนไหนสมควรจ่ายค่าไฟแพง เพราะทรัพยากรเรามีเพียงพอ แต่เกิดจากความผิดพลาดของการบริหารนโยบายของรัฐล้วนๆ