Skip to main content

สรุป

  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2563 ชี้ว่าในปีดังกล่าวมีการประหารชีวิตเกิดขึ้นอย่างน้อย 483 ครั้งใน 18 ประเทศ 
  • การประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 4 ประเทศ คือ อิหร่าน อียิปต์ อิรักและซาอุดีอาระเบีย ส่วนจีนยังเก็บข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตเป็นความลับทางการ แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อว่าจำนวนโทษประหารและการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในจีนในปี 2563 ยังอยู่ที่ระดับหลายพันคนและน่าจะเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุด 
  • ไทยยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่ แต่ปี 2563 นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศ
  • มาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้นักโทษประหารชีวิตจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงทนายความแบบตัวต่อตัวได้ ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่าการใช้โทษประหารชีวิตในสภาพการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้าย 

'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' เผยแพร่รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2563 พบว่าแม้ตัวเลขการประหารชีวิตโดยภาพรวมจะลดลง แต่ก็ยังมี 18 ประเทศที่ยังมีการประหารชีวิตอยู่ โดยเชื่อว่าจีนเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้ผู้ต้องโทษประหารจำนวนมากถูกจำกัดการเข้าถึงทนายความของตัวเองอีกด้วย 

รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2563  ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ครอบคลุมข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตตามคำสั่งศาลระหว่างเดือน ม.ค. -ธ.ค.2563 โดยเก็บข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งตัวเลขอย่างเป็นทางการของการตัดสินโทษประหารชีวิต ข้อมูลจากผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต ครอบครัวและตัวแทนของพวกเขา รวมถึงข้อมูลจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนและองค์กรภาคประชาสังคมในบางประเทศ พบว่าในปี 2563 มีการประหารชีวิตใน 18 ประเทศ รวมอย่างน้อย 483 ครั้ง ซึ่งไม่นับการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งที่เชื่อว่าเกิดขึ้นในจีน 

อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นตัวเลขที่ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 657 ครั้ง โดยยอดการประหารชีวิตในปี 2563 ถือว่าต่ำที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมาตามตัวเลขที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกไว้ ซึ่งตัวเลขที่ลดลงนั้นมาจากบางประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตอยู่ แต่มีการประหารชีวิตลดลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการงดเว้นการประหารชีวิตที่เป็นผลมาจากโรคระบาด 

แม้จากข้อมูลที่มีอยู่จะพบว่าตัวเลขการประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2563 ลดลงจากปีก่อนหน้า รวมถึงจำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตก็ลดลงจาก 20 ประเทศ เป็น 18 ประเทศ สะท้อนว่าการประหารชีวิตเกิดขึ้นในประเทศส่วนน้อยของโลก แต่แอมเนสตี้ฯ พบว่ามีข้อมูลที่น่ากังวลในบางประเทศ โดยอียิปต์มีตัวเลขการประหารชีวิตต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จาก 32 ครั้ง เป็น 107 ครั้ง ส่วนในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี 'โดนัลด์ ทรัมป์' ก็ได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตของรัฐบาลกลาง หลังงดเว้นมานานถึง 17 ปี ทำให้มีการประหารชาย 10 คนในเวลาเพียงไม่ถึง 6 เดือน ส่วนอินเดีย โอมาน กาตาร์ และไต้หวันก็ได้นำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งเช่นกัน

 

เชื่อ 'จีน' ครองแชมป์ประเทศที่ประหารชีวิตมากที่สุดในโลก แม้ทางการไม่เผยตัวเลข 

รายงานของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ร้อยละ 88 ของจำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดเท่าที่ทราบเกิดขึ้นใน 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน (อย่างน้อย 246 ครั้ง), อียิปต์ (อย่างน้อย 107 ครั้ง), อิรัก (อย่างน้อย 45 ครั้ง) และซาอุดีอาระเบีย (อย่างน้อย 27 ครั้ง) 

ขณะเดียวกัน แอมเนสตี้ฯ ก็ย้ำว่าจำนวนรวมระดับโลกที่บันทึกได้ยังไม่ครอบคลุมตัวเลขการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุด แม้อาจเป็นไปได้ว่าการประหารชีวิตจะลดลง แต่ก็ยังเชื่อว่าจำนวนโทษประหารและการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในปี 2563 ยังอยู่ในระดับหลายพันคน โดยจีนถือว่าข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตเป็นความลับของทางการ ซึ่งการเข้าถึงตัวเลขการประหารชีวิตของทางการได้ยากยังเกิดขึ้นในกรณีของเกาหลีเหนือและเวียดนามด้วย โดยแอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้ทางการจีนดำเนินการอย่างโปร่งใส และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ต่อสาธารณะ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยข้อมูล 5 ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลกในปี 2563

รายงานยังชี้ว่าในปี 2563 ขณะที่จีนเผชิญกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19  ทางการจีนดูเหมือนจะหันกลับมาใช้โทษประหารชีวิตเพื่อตักเตือนประชาชนด้วยความเชื่อว่าจะส่งผลในเชิงป้องปรามได้ และไม่ได้พยายามที่จะส่งเสริมการถกเถียงระดับชาติเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิธีลงโทษ ส่งผลให้มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 ราย ในความผิดที่กระทบต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 


กว่าครึ่งโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ส่วน 'ไทย' ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าภายในสิ้นปี 2563 มี 108 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี ทำให้จำนวนประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติรวมอยู่ที่ 144 ประเทศ เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนประเทศทั่วโลก

สำหรับสมาชิกประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ พบว่ากัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว เมียนมา และบรูไนได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ ขณะที่ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่าไทยเป็นหนึ่งใน 55 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหาร โดยในปี 2563 มีบันทึกการตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 35 ครั้ง และจากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ วันที่ 23 มี.ค. 2564 มีนักโทษประหารชีวิตอยู่ 254 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตาม นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทย

 

มาตรการป้องกันโควิด-19 กระทบสิทธิของนักโทษประหาร

รายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า ทางการในหลายประเทศได้งดการเข้าเยี่ยมในเรือนจำและการเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาลเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด เป็นเหตุให้ผู้ต้องโทษประหารชีวิตต้องถูกทอดทิ้ง ไม่ได้ติดต่อกับสังคมเป็นเวลานาน 

ขณะที่ 'แอกเนส คาลามาร์ด' เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่าการระบาดของโรคส่งผลให้นักโทษประหารชีวิตจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงทนายความแบบตัวต่อตัวได้ การใช้โทษประหารชีวิตในสภาพการณ์เช่นนี้จึงถือเป็นการโจมตีสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้าย 


ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องไปยังผู้นำประเทศทั่วโลกที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ช่วยกันทำให้ปี 2564 เป็นปีแห่งการยุติการสังหารโดยรัฐอย่างถูกกฎหมายให้หมดสิ้นไป โดยยืนยันว่าโทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรม  รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม