เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนระดมกำลังตรวจพื้นที่ในกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้วานนี้ (29 พ.ย.) ในความพยายามป้องกันการประท้วงที่อาจลุกลามขึ้นใหม่ จากประชาชนที่ไม่พอใจมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดของรัฐ
ความไม่พอใจของชาวจีนครั้งนี้นำไปสู่การเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อย
สถานการณ์ที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ผ่านช่วงค่ำคืนด้วยความเงียบสงบ ขณะที่ กลุ่มตำรวจปรากฏตัวที่สถานที่ที่นักเคลื่อนไหวออนไลน์ระบุว่า จะเป็นที่รวมตัวกัน ส่วนที่ฮ่องกง นักศึกษาที่ Chinese University รวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อร่วมสนับสนุนผู้ประท้วงในจีนแผ่นดินใหญ่
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา การประท้วงมาตรการ 'โควิดเป็นศูนย์' ของรัฐบาลจีน ลุกลามในหลายเมือง ซึ่งถือเป็นการเเสดงการต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีเนื่องจากประชาชนไม่พอใจระยะกักตัวที่ยาวนานและคำสั่งตรวจเชื้อต่อคนทั้งพื้นที่ในบางจุด
ทั้งนี้ นโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" ที่มุ่งเน้นการเเยกผู้ติดเชื้อ ช่วยให้จีนมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าประเทศขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น สหรัฐฯ แต่ก็ทำให้คนหลายล้านคนในจีนต้องอยู่เเต่ภายในบ้าน บางครั้งยาวนานถึง 4 เดือน และนำไปสู่การเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในประเทศ ที่มีประชากร 1,400 ล้านคน
เมื่อต้นสัปดาห์ หลังการประท้วงที่เเพร่กระจายในหลายเมือง รัฐบาลในเมืองใหญ่เช่น ปักกิ่งและกวางโจวผ่อนปรนกฎบางส่วน แต่ยังรักษายุทธศาสตร์ภาพรวมในเรื่องการควบคุมการระบาด
ชาวเซี่ยงไฮ้คนหนึ่งบอกกับวีโอเอ ว่า ในระยะเเรกประชาชนเห็นว่ามาตรการของรัฐสมเหตุสมผล แต่ความรู้สึกนี้เปลี่ยนไปเมื่อกฎที่เข้มงวดยังดำเนินต่อไป
"ในตอนเเรกเขาบอกว่า (ล็อกดาวน์) แค่สามวัน หลังจากนั้นสามวัน มันยืดไปอีกสามวัน และต่ออีกสามวัน เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม คนรู้อย่างจริงจังว่า มันไม่สมเหตุสมผล มันไม่ปกติแล้ว" ชาวเซี่ยงไฮ้ผู้นี้กล่าว
เดเนียล รัสเซล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเเละเเปซิฟิก บอกกับ วีโอเอ ว่า ความสำคัญของการประท้วงล่าสุดอยู่ที่การที่มีคนแสดงความไม่พอใจในหลายเมืองและเป็นคนจากหลากหลายอาชีพ
"มันเเสดงให้เห็นว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมเชิงลบต่อการเข้าควบคุมชีวิตคนอย่างเเทรกแซงและไม่เบามือ โดยประชาชนเกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ที่ใด หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร" รัสเซล ซึ่งขณะนี้เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Asia Society Policy Institute กล่าวกับ วีโอเอ ผ่านอีเมล
เขาบอกด้วยว่า ประธานาธิบดีสี ไม่น่าที่จะลดทอนยุทธศาสตร์ด้านโควิดของตน แม้ว่าจะปรับระบบการจัดการบ้าง แต่ผู้นำจีนน่าจะใช้ "อำนาจกดขี่ของรัฐที่ได้รับการเสริมกำลังจากเทคโนโลยี เพื่อขู่ผู้ที่เตรียมจะประท้วงให้หวาดกลัว"
รัสเซล กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าจีนผ่อนปรนการควบคุม โดยที่ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและไม่มีอัตราฉีดวัคซีนที่สูงพอ การระบาดจะถาโถมใส่ระบบสาธารณสุขของจีนที่ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน People's Daily เรียกร้องให้ "ยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์" ได้รับการปฏิบัติอย่างได้ผล ซึ่งเเสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของ สี จิ้นผิง ไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
สำหรับปฏิกิริยาจากสหรัฐฯ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ จอห์น เคอร์บี กล่าวว่า ทางการอเมริกันสนับสนุนการประท้วงอย่างสันติ
และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเครื่องมือด้านสาธารณสุขที่ใช้ได้ผล เช่น การดำเนินนโยบายฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาและการตรวจโควิดได้ง่าย
ที่มา : VOAthai