Skip to main content

ยิ่งอ่าน ยิ่งได้(เงิน) : การศึกษาและการลดปัญหาความยากจนในประเทศไทย

สรุป

  • โครงการเปลี่ยนการอ่านเป็นทุนการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ด้อยโอกาส และปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • โครงการเปลี่ยนการอ่านเป็นทุนการศึกษา มีการนำร่องครั้งแรกในปี 2561 โดยการสนับสนุนของมูลนิธิ POSCO 1% และทรูคอร์ปอเรชั่น ร่วมกับมูลนิธิเพื่อเยาวชนในชนบท (มยช.) สำหรับนักเรียนราว 150 คนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดปทุมธานี
  • โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ กองทุนการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ครูในโรงเรียนของรัฐและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในประเทศไทย 53 แห่ง และอาสาสมัครนิสิตจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์เมอร์ซี่ในกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเยาวชน
  • โครงการสามารถปรับขนาดได้ เพื่อรองรับนักเรียนที่มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วทั้งภูมิภาค
  • ยูเนสโกและสหประชาชาติ ประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการดังกล่าวโดยอาศัยความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลไทย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ผลักดันความมุ่งมั่นในการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันด้วยการลงทุนที่ไม่สูงจนเกินไปเพื่อสนับสนุนผู้เรียนที่ขาดแคลนมากที่สุด

 

ท่ามกลางภูมิประเทศอันเป็นหุบเขาในภาคเหนือของประเทศไทย ชีวิตของ 'ชัยศรี ธยาน์' ครูในจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของการศึกษา แม้จะเป็นบุคคลไร้สัญชาติโดยกำเนิด แต่ครูชัยศรีก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและได้รับสัญชาติไทย ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ได้กลายเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน ถ่ายทอดประสบการณ์ของตนให้กับเด็กและเยาวชนด้วยภาษาและมุมมองที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน 


สำหรับเด็ก ๆ ที่บ้านในสอย ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์การเรียนชุมชนที่ครูชัยศรีสอนอยู่ถึง 4 กิโลเมตร การเดินทางคืออุปสรรคใหญ่หลวงทางการศึกษา กว่าจะถึงศูนย์ฯ ต้องผ่านถนนลูกรังซึ่งยิ่งสัญจรลำบากในฤดูฝน และที่บ้านก็ไม่มีอินเทอร์เน็ต ส่วนไฟฟ้าที่ผลิตเองนั้นก็มีอยู่อย่างจำกัด


นอกจากนี้ การเป็นบุคคคลไร้สัญชาติยังปิดกั้นศักยภาพของเด็กหลายคน แม้เด็กทุกคนในประเทศไทยจะได้รับประกันสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาไม่ว่าจะอยู่ในสถานะอะไร แต่ปราการทางภาษา การเลือกปฏิบัติ การไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร ฐานะที่ฝืดเคือง และสภาพภูมิประเทศ คืออุปสรรคต่อการลงทะเบียนเรียน โดยมีเด็กไม่ทราบจำนวนที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน


"การเป็นคนไร้สัญชาติทำให้เยาวชนเหล่านี้ขาดโอกาสในการเรียนรู้และบรรลุศักยภาพสูงสุด สถานะคือสิ่งที่ทำให้เด็ก ๆ ขาดความมั่นใจในการไปโรงเรียน" ครูชัยศรีกล่าว "พวกเขามีโอกาสได้เริ่มเรียนก็ด้วยการศึกษานอกโรงเรียน และผมก็เห็นว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้พยายามอย่างมากและตั้งใจที่จะเรียนรู้"


พลังของ Learning Coin เปลี่ยนการอ่านเป็นทุนการศึกษา


Learning Coin หรือ 'โครงการเปลี่ยนการอ่านเป็นทุนการศึกษา' ซึ่งได้รับการสนับสนุนองค์การสหประชาชาติ คืออีกหนึ่งพลังในการสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ ฝ่าฟันการเดินทางที่ยากลำบากเพื่อไปพบคุณครู นักเรียนจากบ้านในสอยเดินทางไปยังบ้านของครูชัยศรีและศูนย์การเรียนรู้ด้วยรถจักรยานยนต์ เพื่อไปเรียนหนังสือและดาวน์โหลดเนื้อหาลงในแท็บเล็ตที่ได้รับแจกจากโครงการ ทำให้พวกเขาสามารถอ่านหนังสือแบบออฟไลน์ได้ที่บ้าน ช่วยให้การศึกษาของพวกเขารุดหน้า ซึ่งหากเป็นก่อนหน้านี้ 'ถนนสู่การเรียนรู้' (ทั้งในความหมายตรงตัวและเชิงเปรียบเปรย) ของพวกเขาอาจถูกตัดขาดก็เป็นได้

เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ค. 2563 โครงการ 'เปลี่ยนการอ่านเป็นทุนการศึกษา' ได้สนับสนุนเยาวชนด้อยโอกาสเกือบ 500 คนทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ชนกลุ่มน้อยและชุมชนไร้สัญชาติในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปจนถึงเยาวชนไทยด้อยโอกาสในจังหวัดยะลา


นักเรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหา บทเรียน และสื่อการอ่านหลายภาษาจากแท็บเล็ต แอปพลิเคชัน Learning Coin จะทำการบันทึกข้อมูลการใช้แท็บเล็ตของนักเรียนในแต่ละวัน ทำให้สามารถระบุจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนแต่ละคนใช้ในการหาความรู้ ความสม่ำเสมอ และคำตอบที่ส่งมา ข้อมูลเหล่านี้จะถูกคำนวณเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนระหว่าง 800 ถึง 1,200 บาท (25-38 ดอลลาร์สหรัฐ) ในแต่ละเดือน ซึ่งคิดเป็น 10% ของรายได้เฉลี่ยของครอบครัวในชุมชนเหล่านี้


การระบาดใหญ่อาจพรากโอกาสในการเรียนจากเด็ก ๆ ไปอย่างถาวร


"แม้ว่านวัตกรรมอย่าง 'โครงการเปลี่ยนการอ่านเป็นทุนการศึกษา' จะสามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวก แต่การมีนโยบายที่เข้ามาสอดรับคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องมีโครงการอื่น ๆ ควบคู่กันไปเพื่อแก้ปัญหาทางการเงินและสุขภาวะ ต่อต้านการเลือกปฏิบัติและปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากร" กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (ผู้แทนระดับสูงสุดขององค์การสหประชาชาติในระดับประเทศ) กล่าว "ยังมีความท้าทายอีกมากในการสร้างการศึกษาที่เท่าเทียมสำหรับผู้เรียนที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และภาษา เด็กหญิงและหญิงสาว และชุมชนที่อยู่ชายขอบที่สุดของสังคม"
การระบาดใหญ่ของโควิด 19 ทำให้ความท้าทายที่มีอยู่ยิ่งยากขึ้น ส่งผลกระทบที่รุนแรงที่สุดต่อชุมชนชายขอบเป็นกลุ่มแรก ทำให้ระบบการศึกษาหยุดชะงัก และอาจนำไปสู่การปิดกั้นการเรียนรู้อย่างถาวร เด็กหญิงและหญิงสาวมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษที่จะสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในช่วงที่มีการระบาด เนื่องจากพวกเขามักจะต้องแบกรับภาระหน้าที่ในครอบครัว


"เยาวชนเหล่านี้มีศักยภาพและความใฝ่ฝันไม่ต่างจากคนอื่น" กีต้า กล่าว "แม้ในขณะที่พวกเขาต้องสู้ชีวิตเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว พวกเขายังมีความฝันและเปี่ยมไปด้วยความหวัง บ้างอยากเป็นหมอ นักกีฬา บ้างก็อยากเป็นล่าม เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตไปกับการพิชิตเป้าหมายภายในตัวตนอย่างเต็มที่และเพื่อชุมชนของพวกเขา เหล่านี้คือความฝันที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่แข็งแกร่งและเท่าเทียมมากขึ้นสำหรับทุกคน"