Skip to main content

สำนักงานเกียวโด เปิดเผยว่า ละครโทรทัศน์ในญี่ปุ่นที่เน้นเรื่องนิติเวชศาสตร์เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนทั่วประเทศหันมาประกอบอาชีพแพทย์ชันสูตร เพราะความหลงใหล กระตือรือร้นที่อยากจะไขปริศนาในคดีที่น่าสงสัย

รายการโทรทัศน์ยอดนิยม เช่น รายการที่มีแพทย์ชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แปลกๆ มีผู้คนติดตามจำนวนมาก ทำให้แพทย์นิติเวชอาวุโสออกมาแสดงความยินดี และมองว่านี่คือสัญญาณที่ดี สำหรับอนาคตวงการนิติวิทยาศาสตร์ที่มักถูกมองข้าม

ทั้งนี้ อาชีพด้านนิติวิทยาศาสตร์นั้น มักถูกดูถูก และจัดให้อยู่ในประเภท 3K หรือ "kitsui," "kusai" และ "kiken" ซึ่งแปลว่างานที่ท้าทาย มีกลิ่นแรง และอันตราย ถึงจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลามแต่ตำแหน่งงานแบบเต็มเวลาในมหาวิทยาลัยนั้นยังขาดแคลน จึงเป็นอุปสรรคกับนักศึกษาที่จะได้งานในสาขาวิชาชีพนี้ 

มามิโกะ ฟุคุตะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนาโกยา กล่าวว่า เธอค้นพบว่างานที่ทำนั้นมีค่าเพราะเป็นงานบริการสังคม ในการค้นพบใหม่ๆ อยู่เสมอไม่ว่าจะทำงานอยู่ในอาชีพนี้มาแล้วกี่ปีก็ตาม ซึ่งฟุคุตะ นั้นรู้จักสายงานนิติเวชจากการดูละครโทรทัศน์เรื่อง "Twinkle" ของเครือ Fuji television ที่นำมาออกอากาศซ้ำ ในปี 1998 เนื้อหาเน้นไปที่งานของเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพหญิง ที่ได้แรงบันดาลใจจากความพยายามปะติดปะต่อเบาะแสจาก "เสียงที่ไร้เสียง" หรือ "Voiceless voice" ของผู้ตาย ทำให้เธอมุ่งมั่นเข้าสู่วงการนิติเวชวิทยา

และตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในปี 2018 ฟุคุตะ ชันสูตรศพมาแล้วกว่า 200 ศพ ทำให้พบว่าอาชีพนี้มีค่าเป็นพิเศษเมื่อการเสียชีวิตของคนคนหนึ่งที่ตอนแรกการตายของเขาอาจเหมือนอุบัติเหตุ แต่กลับกลายเป็นการฆาตกรรมไปได้ และงานนี้ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตด้านครอบครัวน้อยกว่าแพทย์ทั่วไปที่ต้องคอยรับโทรศัพท์กลางดึกอยู่เสมอ

จากข้อมูลของสมาคมแพทย์กฎหมายแห่งญี่ปุ่น พบว่า จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ต้องการเป็นแพทย์นิติเวชเพิ่มขึ้นจาก 68 คนในปี 2016 เป็นมากกว่า 100 คนในปี 2020 และแม้เจ้าหน้าที่ของสมาคมจะบอกว่าไม่ทราบสาเหตุของการเพิ่มจำนวนนี้ แต่กระแสดังกล่าวดูเหมือนจะใกล้เคียงกับการออกอากาศของละครโทรทัศน์ยอดนิยม เช่น "Unnatural" และ "Asagao: Forensic Doctor" ทางเครือข่าย TBS และ Fuji ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2019

ด้าน ยาซุฮิโระ อาโอกิ ศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชที่มหาวิทยาลัยนาโกยา อธิบายว่า ประชาชนไม่ค่อยสนใจสาขานิติวิทยาศาสตร์มานานแล้ว แต่ความปรารถนาที่จะเข้าเรียนในสาขาวิชานี้เพิ่มมากขึ้นผ่านซีรีส์เหล่านี้

ข้อพิสูจน์นี้เกิดกับ ฮิเมโกะ คูโบตะ ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิบะ โดยเธอยอมรับว่า เป็นคนหนึ่งที่หลงใหลสาขานี้หลังรับชมซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่คล้ายๆ กัน เพราะการศึกษาค้นคว้าจะนำไปสู่การคลี่คลายคดีอาชญากรรมในอนาคตได้

ถึงอย่างนั้น ตำแหน่งงานแบบเต็มเวลาสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมักถูกครอบครองด้วยแพทย์อาวุโส ทำให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่จบใหม่มักไม่ได้รับโอกาสเข้าทำงาน

ในเดือน พ.ค. 2020 จาก 47 จังหวัดของประเทศ มี 17 จังหวัดที่มีผู้ตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์เต็มเวลาเพียง 1 คน โดยรัฐบาลได้อนุมัติแผนในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อปีที่แล้วเพื่อเพิ่มทรัพยากรบุคคลด้านนี้ แต่แผนดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงการเพิ่มตำแหน่งงานในภาคสนาม กลับปล่อยให้การตัดสินใจนี้ให้เป็นหน้าที่รัฐบาลของจังหวัดและมหาวิทยาลัยแทน ทำให้บางมหาวิทยาลัยลังเลที่จะรับคนเข้าทำงาน เนื่องจากตำแหน่งงานที่จำกัด โดยฮิโรทาโร อิวาเสะ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยชิบะ หวังว่าละครโทรทัศน์จะกระตุ้นความสนใจของสาธารณชนในประเด็นนี้และผลักดันให้รัฐบาลใช้มาตรการงบประมาณได้อย่างเหมาะสม

ที่มา : Kyodo