Skip to main content
  • สถานทูตประเทศฝั่งตะวันตกร่วมแถลง 'ทั่วโลกจับตาเมียนมา'
  • มีการตัดสัญญาณสื่อสารและอินเทอร์เน็ตช่วง 01:00-09:00 น.
  • รถถังเคลื่อนไปประจำการที่โรงไฟฟ้าในรัฐกะฉิ่นและอีกหลายเมือง
  • รัฐบาลทหารขยายเวลาคุมตัว ‘อองซาน ซูจี’ และ ปธน.วิน มยินต์

::: สถานทูตสหรัฐฯ เตือนชาวอเมริกันในเมียนมา ให้เก็บตัวในที่พัก :::

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแจ้งเตือนชาวอเมริกันที่อยู่ในเมียนมาให้อยู่ในที่พักอาศัย หลังมีการเคลื่อนกำลังพลและรถถังตรึงกำลังในหลายเมืองทั่วเมียนมา เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2564 ทั้งยังมีการยิงปืนขู่กลุ่มผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารในรัฐกะฉิ่น ทางเหนือของเมียนมา

ขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตจากหลายประเทศในเมียนมา ทั้งสหรัฐฯ แคนาดา สาธารณรัฐเชก ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สวีเดน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐประหารเมียนมาหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม พร้อมระบุ "ทั่วโลกกำลังจับตามอง" และคณะทูตยืนเคียงข้างผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตย

สำนักข่าวเดลีเทเลกราฟของออสเตรเลีย รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ ‘โทมัส แอนดรูว์’ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า การเคลื่อนกำลังรถถังไม่ต่างจาก "สัญญาณแห่งความสิ้นหวัง" ของกองทัพเมียนมาที่ต้องการประกาศสงครามกับประชาชน ทั้งยังเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นอีกหลายอย่าง

นอกเหนือจากคำสั่งสัญญาณโทรศัพท์และสายสื่อสารทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 01:00-09:00 น.ที่ผ่านมา ปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลทหารเมียนมายังออกคำสั่งจับกุมผู้ต่อต้านรัฐประหารและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจากที่พักช่วงกลางดึกอีกกว่า 350 คนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

::: ปล่อยตัวอองซาน ซูจี อาจไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น :::

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า วันนี้ (15 ก.พ.2564) จะครบกำหนด 15 วันที่ศาลเมียนมาอนุญาตการคุมขังอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และประธานาธิบดี วิน มยินต์ แต่มีคำสั่งให้ขยายเวลาคุมตัวคนทั้งคู่ไปจนถึงวันที่ 17 ก.พ.

สื่อต่างประเทศประเมินว่าการปล่อยตัวซูจีและ ปธน.วิน มยินต์ รวมถึงผู้ถูกจับกุมคนอื่นๆ ไม่ทำให้สถานการณ์ประท้วงต้านรัฐประหารในเมียนมาดีขึ้น เนื่องจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไม่ใช่แค่การปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม แต่รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาคืนอำนาจแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนการชุมนุมต้านรัฐประหารในเมียนมากระจายตัวไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่นครย่างกุ้ง กรุงเนปิดอว์ เมียวดี และมัณฑะเลย์ รวมถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในรัฐกะฉิ่น ทำให้รัฐบาลทหารสั่งกองกำลังเคลื่อนพลไปตรึงกำลังพร้อมอาวุธครบมือ

ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลทหารทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะมีการใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุม เพราะในอดีต กองทัพเมียนมาก็เคยใช้อาวุธสลายการชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง ขณะที่ท่าทีของผู้ชุมนุมทั่วประเทศก็ยืนยันว่าจะไม่ยุติการชุมนุมจนกว่าจะมีการคืนอำนาจให้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมประท้วงมีหลายกลุ่ม ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาชน พระสงฆ์ ชาวคริสต์ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ รวมถึงแรงงานอีกหลายกลุ่มและบุคลากรการแพทย์ที่นัดหยุดงานประท้วงกดดันรัฐบาลทหาร

ภาพ : "Kalaw Myanmar Flag" by CMoravec is licensed under CC BY-SA 2.0