สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลเข้ายื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางแค มีนบุรี และกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำพิพากษาสั่งยกเลิกการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และสั่งให้มีการประมูลรอบใหม่ โดยให้มีการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม อย่างน้อยบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯจำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพฯจำกัด (มหาชน) หรือ BEM สองเจ้าใหญ่ต้องเข้าร่วมได้ อีกทั้งสั่ง รฟม. ต้องชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ปฏิเสธ อ้างว่าอยู่ในกระบวนการของศาล เพราะมีเรื่องจำเป็นหลายประเด็นที่ประชาชนควรรู้ก่อนมีการเซ็นสัญญา และขอให้เปลี่ยนคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการประมูลรอบใหม่ นอกจากนี้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน และกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยมีคำสั่งระงับการเซ็นสัญญาไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
สุรเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีข้อเคลือบแคลงหลายประเด็น ทั้ง การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศ การยกเลิกการประมูลครั้งก่อน ทั้งที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาไปแล้ว ว่าการยกเลิกการประมูลดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกีดกัน BTS ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่ ทำให้เกิดคำถามว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พยายามรักษาผลประโยชน์ของรัฐจริงหรือไม่ และเหตุใดจึงปล่อยให้เกิดเรื่องอย่างนี้ ที่สำคัญตอนประมูลรอบแรกหาก BTS ชนะรัฐจะต้องจ่ายอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท แต่การประมูลรอบ 2 ที่ BEM ชนะรัฐต้องจ่ายอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้งที่ในทางเทคนิคเป็นเรื่องการสร้างสิ่งเดียวกัน ขนาดและและระยะทางเท่ากัน แต่ราคากับมีส่วนต่างถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เคยให้โอกาส รฟม.มาชี้แจง 2 ครั้งแต่ก็จงใจเบี้ยว เท่ากับปฏิเสธอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมาพึ่งกระบวนการของศาลปกครอง
นอกจากนี้ยังเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้ไม่ควรโบ้ยให้คนอื่นชี้แจงแทน ซึ่งต้องตอบให้ได้ ว่าส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านหายไปไหนเหตุใด BTS จึงถูกกีดกัน ทั้งที่รู้กันอยู่ว่าเมืองไทยมีแค่ 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น
“ขณะนี้กำลังจะมีการปันผลประโยชน์สำเร็จ หากศาลปกครองไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เร็วๆนี้ เรื่องจะถึงคณะรัฐมนตรีและก็คงจะอนุมัติเมกะดีลในตำนานนี้ไปอย่างน่ากังขา แล้วรัฐบาลหน้าจะตามไปแก้ไข ก็ทำได้ลำบาก จึงอาจกลายเป็นค่าโง่ก้อนใหม่ที่เป็นภาระให้ประชาชนต้องรับภาระจ่ายภาษีถึง 6.8 หมื่นล้าน” สุรเชษฐ์ กล่าว