ช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงเจอสถานการณ์ไม่ต่างกันนั่นคือ มีแผนเดินทางกลับบ้าน รวมถึงเตรียมทริปท่องเที่ยวกันไว้อย่างยิ่งใหญ่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดอีกครั้งเลยทำให้ต้องเปลี่ยนแผน โดย 'ไวซ์ไซท์' บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดียชี้ว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวโดยเปลี่ยนจาก 'ทริปเที่ยว' ให้กลายมาเป็น 'เที่ยวทิพย์' บนโลกโซเชียลมีเดียแทน
'ไวซ์ไซท์' เก็บข้อมูลแฮชแท็ก #เที่ยวทิพย์ ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ในช่วงวันที่ 11-15 เม.ย. 2564 พบว่าชาวโซเชียลหันมา 'เที่ยวทิพย์' กันเป็นจำนวนมาก จนทำให้แฮชแท็กดังกล่าวได้รับ Engagement สูงถึง 8,000,000 Engagement โดยสิ่งที่ชาวโซเชียลไทยทำก็คือการนำรูปภาพท่องเที่ยวจากทริปเก่าๆ ที่เคยถ่ายไว้นำมาโพสต์ลงใหม่ พร้อมติดแฮชแท็ก #เที่ยวทิพย์ โดยช่องทางโซเชียลมีเดียที่ถูกใช้เที่ยวทิพย์มากที่สุดคือ อินสตาแกรม (ร้อยละ 42) ตามด้วยทวิตเตอร์ (ร้อยละ 30) และเฟซบุ๊ก Facebook (ร้อยละ 28)
เมื่อความรู้สึกอัดอั้นที่อยากจะเที่ยวกำลังปะทุและยังต้องผ่านสถานการณ์โควิดไปให้ได้ ทำให้ชาวโซเชียลหาวิธีปลดปล่อยโดยลุกขึ้นมาสนุกไปกับเทศกาล 'เที่ยวทิพย์' นอกจากนี้ ยังเป็นที่มาของเหล่าแฮชแท็กเรื่อง 'ทิพย์ๆ' ที่ได้รับการตอบรับสูงสุดในช่วงเวลาที่ไวซ์ไซท์ได้ทำการเก็บข้อมูล ดังนี้
อันดับที่ 1: สงกรานต์ทิพย์ 2,171,961 Engagement (29%)
ต่อให้มีมติแนวทางการเล่นน้ำสงกรานต์แบบ New normal ไหว้พระขอพร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ได้ก็ตาม แต่ชาวโซเชียลก็ยังรู้สึกว่าสงกรานต์ที่สาดน้ำกันไม่ได้ก็ยังไม่ใช่สงกรานต์จริงๆ อยู่ดี สงกรานต์ยังคงหายไปไม่ต่างจากเมื่อปี 2563 โดยในนี้ก็ยังคงเป็น 'สงกรานต์ทิพย์' ตามนิยามของชาวโซเชียลเท่านั้น
อันดับที่ 2: ทะเลทิพย์ 1,844,856 Engagement (23%)
ช่วงเดือน เม.ย. อากาศร้อนๆ ทะเลมักเป็นสถานที่แรกๆที่ทุกคนนึกถึง ทั้งเพื่อดำน้ำทิพย์คลายร้อน หรือแม้กระทั่งใส่ชุดว่ายน้ำโพสต์ท่าสวยๆ ให้ทะเลลุกเป็นไฟ โดยถึงแม้ไม่ได้ไปทะเล แต่โครงการท่องเที่ยวในจินตนาการยังคงดำเนินต่อไปได้เพราะชาวโซเชียลยังคงมีรูปฮอตๆ ในสต็อกอีกเยอะมาทำคอนเทนต์ในช่วงวันหยุดยาวที่จะไปไหนก็ลำบากเช่นนี้
อันดับที่ 3 : ต่างประเทศทิพย์ 1,361,645 Engagement (17%)
หยุดยาวขนาดนี้คงอดคิดถึงการท่องเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ยุโรป มัลดีฟส์ ฯลฯ ชาวโซเชียลเลยนำรูปที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศมาลงใหม่ปลอบใจตัวเอง หรือแม้แต่นำสถานที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ไม่เคยไปมาตัดต่อใส่รูปตัวเองลงไปเเล้วจินตนาการว่าได้ไปเที่ยวทิพย์ เป็นการสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะทำได้ในสถานการณ์นี้
อันดับที่ 4: อ่อยทิพย์ 938,131 Engagement (12%)
เมื่อเทศกาลที่ควรจะคึกคักที่สุดแห่งปี กลายเป็นเทศกาลที่ต้องกักตัวให้ห่างกันมากที่สุด คนเหงาเลยต้องบรรเทาด้วยการคิดแคปชั่นเพื่อสร้างมิตรภาพแบบทิพย์ๆ เช่น "แดดร้อนอ้อนใครได้บ้าง" หรือ "อยู่อย่างเหงาๆ อยากไปหาเขาอีกแล้ว" เป็นต้น
อันดับที่ 5: หยุดทิพย์ 488,605 Engagement (6%)
วันหยุดที่ยังคงทำงานตลอดเวลา วันหยุดที่ไม่ได้หยุด วันหยุดที่ไม่มีจริง เหล่าพ่อค้าแม่ค้าก็ยังคงต้องหาเลี้ยงปากท้องกันไป พนักงานบริษัทก็ยังคงนัดประชุมกันไปรัวๆ เสมือนว่าวันหยุดยาวนี้ไม่มีจริง
นอกจากนี้ ไวซ์ไซท์ยังระบุว่า มีเรื่อง 'ทิพย์ๆ' ของชาวโซเชียลให้เราได้เห็นอีกคือ เงินทิพย์ 358,434 Engagement (ร้อยละ 4) , ล่มทิพย์ 335,082 Engagement (ร้อยละ 4) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “ทริปล่ม” นั่นเอง, ภูเขาทิพย์ 249,592 Engagement (ร้อยละ 3) ที่พูดถึงความคิดถึงป่าเขา อยากตั้งเเคมป์กับเพื่อนๆ ดูต้นไม้ ฟังเสียงน้ำตก ชื่นชมธรรมชาติ, ช้อปปิ้งทิพย์ 119,553 Engagement (ร้อยละ 1) อยากช้อปปิ้งจะไปเดินห้าง เดินตลาด ก็กลัวโควิด เงินในบัญชีก็ไม่ค่อยจะมีสิ่งที่บรรเทาก็คือเปิดรูปสิ่งของที่อยากได้ เเล้วจินตนาการว่าได้ช็อปปิ้งทิพย์วนไป และ ดื่มทิพย์ 109,776 Engagement (ร้อยละ 1%) กิน ดื่ม สังสรรค์ปาร์ตี้กับเพื่อนไม่ได้ ก็นั่งกิน ดื่ม คนเดียวแบบเหงาๆ กันไปตามมีตามเกิด