หลังเหตุโศกนาฏกรรมอิแทวอนที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เน้นให้เห็นความสำคัญของการทำ CPR และทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รัฐบาลเกาหลีใต้จึงวางแผนขยายการฝึกอบรม CPR ให้กับวัยรุ่นและคนงานในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน
โดยในช่วงที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนทั่วไปตามท้องถนนถูกพบเห็นว่ากำลังช่วยกันทำ CPR อย่างสิ้นหวังกับผู้คนหลายสิบคนที่หัวใจหยุดเต้นหลังจากพวกเขาถูกเบียดและถูกทับกันในตรอกแคบๆ ของพื้นที่ดังกล่าว
การทำ CPR เป็นขั้นตอนการช่วยชีวิตฉุกเฉินที่คือการกดหน้าอกและการช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิตคน ซึ่งจะทำก็ต่อเมื่อหัวใจของคนคนนั้นหยุดเต้น และการทำ CPR ทันทีช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตเป็น 2-3 เท่า
โศกนาฏกรรมอิแทวอน ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับวิธีการช่วยชีวิตนี้ ชาวโซเชียลในขณะนี้กำลังแชร์คลิปวิดีโอเกี่ยวกับการทำ CPR ในขณะที่คนจำนวนมากสมัครเข้าฝึกอบรมฟรีที่เสนอโดยหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น
ด้านกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว ประกาศเมื่อวานนี้ (3 พ.ย.) ว่าจะขยายการสอน CPR ให้กับกลุ่มวัยรุ่นและคนงานในศูนย์เยาวชน และช่วง 3 วันที่ผ่านมา กระทรวงได้แจกจ่ายสื่อการสอนการทำ CPR ให้กับศูนย์เยาวชน โดยกำหนดให้หลักสูตรการฝึกอบรมเป็นข้อบังคับสำหรับผู้ที่ประสงค์จะรับงานในสถานประกอบการ
ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่าจะเพิ่มการฝึกอบรม CPR ในโรงเรียนทั่วประเทศ ภายใต้หลักสูตรของโรงเรียนปัจจุบัน นักเรียนในโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา, มัธยมศึกษา จะได้รับการฝึกอบรมการทำ CPR และทักษะการปฐมพยาบาลอื่นๆ เป็นเวลา 2 ชม. ต่อปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขาดทรัพยากร เช่น ชุดอุปกรณ์ CPR จึงไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่สามารถให้การฝึกอบรมการทำ CPR ภาคปฏิบัติได้
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จะขยายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การศึกษาที่จำเป็น และจะแก้ไขโปรแกรมการศึกษาด้านความปลอดภัยเพื่อรวมมาตรการด้านความปลอดภัยในสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน
แพทย์เรียกร้อง ก.ม.หน้าที่พลเมืองดี เพื่อให้ผู้ทำ CPR ไม่มีความผิด หรือผิดน้อยลง
ขณะเดียวกัน แพทย์ชี้ว่าควรแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทำ CPR ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างจริงจัง เนื่องจากประชาชนอาจลังเลที่จะทำเพราะกลัวว่าตนเองอาจต้องเผชิญกับความรับผิดทางกฎหมายในกรณีที่เกิดผลในทางลบ
ภายใต้กฎหมายทางการแพทย์ปัจจุบัน หากบุคคลธรรมดาหรือแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตซึ่งไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ทำ CPR และก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วย บุคคลนั้นจะได้รับการยกเว้นจากความผิดทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเสียชีวิต ผู้ที่ทำ CPR อาจได้รับโทษทางอาญาลดลง
แพทย์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้กฎหมายจะมุ่งไปที่การปกป้องผู้ที่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ยากแต่อาจช่วยชีวิตคนได้ อาจทำให้มีช่องว่างสำหรับความรับผิดทางอาญาเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น
พัค ซูฮยอน แพทย์ห้องฉุกเฉิน จากโรงพยาบาลมอกดง มหาวิทยาลัยอีฮวา กล่าวว่า แม้จะยังไม่มีกรณีศึกษาว่ามีคนถูกลงโทษทางอาญาหลังจากทำ CPR แต่ก็มีบางกรณีที่พวกเขาต้องเผชิญกับการฟ้องร้องทางแพ่งที่เกิดขึ้นโดยผู้ป่วยหรือครอบครัวของพวกเขา ซึ่งทุกวินาทีมีความสำคัญในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการทำ CPR เป็นการรักษาเดียวที่บุคคลที่ไม่ใช่แพทย์สามารถทำได้ขณะที่รอความช่วยเหลือทางการแพทย์ และมีหลายกรณีที่ CPR ดำเนินการโดยผู้ที่ยืนดูที่ไม่ได้รับการฝึกฝนให้ช่วยชีวิตผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ กฎหมายฉบับปัจจุบันจึงดูไม่เหมาะสมที่จะปล่อยให้มีโทษทางอาญาหากผู้ป่วยเสียชีวิต
พัค กล่าวต่ออีกว่า เธอรู้สึกประหลาดใจและประทับใจมากที่ผู้คนช่วยทำ CPR ทันทีกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในโศกนาฏกรรมอิแทวอน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนธรรมดาที่มีความรู้การทำ CPR ที่จะกระโดดเข้าไปในสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้ และเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจริงๆ
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนจากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายทางการแพทย์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือแก้ผู้ที่ตกอยู่ในอันตราย โดยการจำกัดความรับผิดชอบต่อผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ โดยใช้ชื่อว่า "กฎหมายพลเมืองดี" ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ป่วย ในกรณีที่ผลในทางลบ
ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะปกป้องผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินได้ดี โดยสนับสนุนใก้ผู้คนเข้าไปแทรกแซงในการช่วยชีวิตอย่างแข็งขันมากขึ้น