Skip to main content

Japantimes รายงานว่า สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่าปี 2022 นี้มีชาวญี่ปุ่นมากกว่า 10,000 คนติดเชื้อซิฟิลิสแล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนผู้ป่วยแตะถึงตัวเลขหลักหมื่นนับตั้งแต่มีข้อมูลเปรียบเทียบกันได้ในปี 1999 

ซึ่งทั่วไปแล้วโรคซิฟิลิสในญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,000 ในปี 2013 และ 2014 สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 8,000 เคสในปี 2021 และตัวเลขล่าสุดคือ 10,141 ราย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการใช้โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันหาคู่ที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการพบปะและการมีเพศสัมพันธ์กับผู้คนมากหน้าหลายตา

ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่อ้างว่าเป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นนี้ อาจมาจากการติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ผู้ป่วยซิฟิลิสยังคงเพิ่มขึ้นแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีกฎการระบาดใหม่ของโควิดที่เข้มงวดในการเข้าประเทศ ซึ่งผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายเนื่องจากกิจกรรมทางเพศในบ้านด้วย

และมีรายงานว่าการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 164 รายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. 2022 และเมื่อแยกตามจังหวัด จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดสูงเป็นพิเศษในเขตเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียวและโอซาก้า

ซิฟิลิส เกิดจากแบคทีเรียที่เรียกว่า Treponema และบางคนกลับมาเป็นซ้ำหลายครั้ง ในระยะเริ่มต้นโรคนี้จะแสดงอาการของเนื้องอกเล็กๆ ในบริเวณที่ได้รับเชื้อ เช่น อวัยวะเพศและริมฝีปาก และสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาต้านแบคทีเรีย

อย่างไรก็ตามหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ในที่สุดอาจทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจได้

ส่วนผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิสก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์สามารถแพร่เชื้อให้กับทารกได้ และโรคที่เรียกว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด หรือมีอาการส่งผลต่อทารก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบและผื่นที่ผิวหนัง

คัตซึมิ ชิเกมูระ รองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโกเบ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านซิฟิลิส กล่าวว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคที่ส่งผลต่อคนบางประเภทเท่านั้น หากคิดว่าอาจติดเชื้อ และสังเกตเห็นจุดแดงๆ ที่ปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศหรือที่อื่นๆ ขอให้รีบไปพบแพทย์

ขณะที่สถานการณ์ซิฟิลิสในไทย ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ฯ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 13 มิ.ย. 2565 มีผู้ป่วยซิฟิลิสจำนวน 5,057 ราย อัตราป่วย 7.64 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย 1:1.39 พบมากสุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 38.46 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี ร้อยละ 26.74 และกลุ่มอายุ 35-44 ปี ร้อยละ 12.7 ตามลำดับ ภาคที่มีอัตราผู้ป่วยสูงสุดคือ ภาคกลาง 10.81 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ ภาคเหนือ 8.23 ต่อประชากรแสนคน ภาคใต้ 5.19 ต่อประชากรแสนคน และตะวันออกเฉียงเหนือ 5.07 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดในประเทศคือ จังหวัดจันทบุรี อัตราป่วย 26.84 ต่อประชากรแสนคน

ด้านกรมควบคุมโรค ชี้ว่ากลุ่มอายุ 15-24 ปีที่มีอัตราป่วยโรคซิฟิลิสสูงสุดนั้น สอดคล้องกับข้อมูลจากการสำรวจเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี (BSS) ของกองระบาดวิทยาปี 2562 พบว่า เยาวชนมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด ประมาณร้อยละ 80 ซึ่งยังมีบางส่วนที่ยังไม่ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จึงแนะนำหลัก Start Safe SEX, Use Condom : รักปลอดภัยเริ่มที่ "ถุงยางอนามัย" เพื่อเป็นแนวทางให้กับเยาวชนได้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองและคู่ให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี ตลอดจนส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติในการดูแลสุขภาวะทางเพศ รวมถึงการมีความรับผิดชอบต่อคู่และสังคม