Skip to main content

จากเมื่อ 15-20 ปีก่อนกับความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโบราณที่ฝังอยู่ในเซลล์ร่างกายคนเราส่วนใหญ่นั้นอาศัยอยู่แบบเงียบๆ ซึ่งถูกผลักให้อยู่ในหมวดหมู่ของดีเอ็นเอขยะ แต่งานวิจัยล่าสุดพบว่า ไวรัสโบราณบางตัวอาจสามารถช่วยแพทย์ในการตรวจหาโรคได้ และบางตัวอาจถึงขั้นช่วยในการรักษามะเร็งได้
   
เว็บไซต์ livescience เปิดเผยรายงานล่าสุดที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Biology เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา นำเสนอแนวความคิดเห็นใหม่ที่กว้างขึ้น ซึ่งเป็นการศึกษาครั้งแรกกับเนื้อเยื่อปกติ ซึ่ง แมทธิว เบนดอลล์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวิจัยชีววิทยาการแพทย์ที่ Weill Cornell Medicine ในนิวยอร์ก แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ยังบอกว่า ไวรัสโบราณเหล่านี้ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ดีเอ็นเอขยะ ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน แต่งานวิจัยใหม่นี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อไป

งานวิจัยนี้ดึงข้อมูลจากโครงการ Genotype Tissue and Expression (GTEx) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่มีตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เก็บจากผู้เสียชีวิตไว้ราวๆ 950 ราย ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเนื้อเยื่อที่ไม่เป็นโรคและอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมทั้งในสมอง, หัวใจ, ไต, ปอด, และตับ โดยนักวิจัยได้วิเคราะห์เนื้อเยื่อเหล่านี้เพื่อดูว่ายีนใดที่ถูกทำให้ใช้งาน ซึ่งเห็นได้จากการมีสาย RNA เฉพาะ และมองหาหลักฐานของไวรัสโบราณภายในร่างกายมนุษย์ หรือ HERVs ที่ใช้งานอยู่ที่เรียกว่า HML-2 

ผู้วิจัยพบหลักฐานไวรัส HML-2 อยู่ในเนื้อเยื่อที่ไม่เป็นโรคทั้งหมด 54 ชนิดในฐานข้อมูล GTEx แต่พบว่ามีการกระตุ้นในระดับสูงสุดในสมองส่วนท้ายด้านบน หรือเซรีเบลลัม ซึ่งอยู่ด้านหลังก้านสมองทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย และที่ต่อมพิทูอิตารี หรือต่อมใต้สมองซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนหลายชนิด นอกจากนี้ ยังพบที่ต่อมไทรอยด์บริเวณคอซึ่งควบคุมการเผาผลาญ และพบที่ลูกอัณฑะ ซึ่งที่เซรีเบลลัมและลูกอัณฑะพบว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัสฝังอยู่ในดีเอ็นเอของเนื้อเยื่ออวัยวะทั้งสอง โดยมีจำนวนไวรัส 17 และ 19 ตัวแสดงออกตามลำดับ สิ่งที่ไวรัสโบราณทำกับเนื้อเยื่อเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องลึกลับ และผลลัพธ์ที่ออกมามักแตกต่างกันไปตามลักษณะของเนื้อเยื่อแต่ละประเภท 

นักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นหาต่อไปว่า ไวรัสโบราณเหล่านี้ส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร นักวิจัยกล่าวว่า การมีข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสิ่งที่ไวรัสสร้างขึ้นในเนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดี เป็นพื้นฐานในการเปรียบเทียบกับเซลล์ที่เป็นโรค ซึ่ง HERV สามารถบ่งชี้ถึงความผิดปรกติในร่างกาย (biomarkers) และมีศักยภาพที่จะใช้ในการตรวจหาโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ

ในทางทฤษฎี HERV บางตัวอาจทำหน้าที่รักษาโรคมะเร็งได้ หากพบว่ามีการทำงานเฉพาะกับเนื้องอกบางชนิด แต่ในการใช้ HERV ในลักษณะนี้ นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องรู้ว่า HERV มีพฤติกรรมอย่างไรในเซลล์ที่แข็งแรงเมื่อเทียบกับเซลล์มะเร็ง