ผู้กำกับการ สน.ทองหล่อถูกสั่งย้ายไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 (ศปก.บก.น.5) วันนี้ (12 เม.ย.2564) หลังจากที่ ‘คลัสเตอร์โควิดระลอกใหม่’ ที่พบต้นเดือน เม.ย.เกี่ยวพันกับ ‘คริสตัลคลับ’ ที่สื่อหลายสำนักตั้งฉายาว่าเป็น ‘ไทยคู่ฟ้าสาขา 2’ กับอีกที่หนึ่งคือ ‘เอมเมอรัลด์ผับ’ อยู่ในความดูแลของสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อทั้งคู่ ทั้งยังมีตำรวจติดเชื้อแล้วราว 50 นาย และต้องกักตัวอีกราว 500 นาย
ส่วน ผกก.สน.ทองหล่อซึ่งถูกเด้งหมาดๆ ก็คือ ‘พ.ต.อ.ดวงโชติ สุวรรณจรัส’ หลานเขย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และลูกเขย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชายของรองนายกฯ ทั้งยังมีคำสั่งจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องบกพร่อง ปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจตราดูแลให้สถานบริการและสถานที่ต่าง ๆ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจริงหรือไม่
แต่ 'คลัสเตอร์โควิด' ไม่ใช่แค่ประเด็นเดียวที่เกี่ยวพันกับทำเลทองในความดูแลของ ‘สน.ทองหล่อ’ เพราะซอยนี้และซอยเอกมัยที่อยู่ข้างกัน เป็นย่านแฮงก์เอาต์ขึ้นชื่อของกรุงเทพฯ ด้วยกันทั้งคู่ และถ้าค้นข้อมูลในกูเกิลแมปก็จะพบว่ามีผู้ที่ปักหมุดสถานบันเทิงในย่านนี้เอาไว้ราว 100 แห่ง ยิ่งเมื่อสืบค้นข่าวย้อนไปหลายปีก็จะพบว่ามี 'คดีเด็ด' ในย่านนี้ที่เกี่ยวพันกับ สน.ทองหล่ออีกหลายเรื่อง
(1) คริสตัลคลับ-เอมเมอรัลด์ผับ มีใบอนุญาตหรือไม่?
เมื่อ 11 เม.ย.2564 พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 แถลงข่าวว่าได้ดำเนินคดีกับ 'ชวลิต พุทธราช' อายุ 30 ปี ผู้จัดการร้านคริสตัลคลับ และ 'ครรชิต ซื่อบริสุทธิ์ใจ' อายุ 29 ปี ผู้จัดการร้านเอเมอรัลด์ จากความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.สถานบริการ โดยศาลแขวงพระนครใต้ สั่งจำคุกผู้จัดการร้านเป็นเวลา 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
แต่โลกออนไลน์ยังมีข้อสงสัย เพราะ 'ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์' อดีต ส.ส. และอดีตผู้บริหารธุรกิจอาบอบนวดชื่อดังในอดีต รวมถึงเพจ 'อีจัน' อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ตั้งคำถามว่า คริสตัลคลับและเอมเมอรัลด์ผับ มีใบอนุญาตเปิดบริการอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยเพจอีจันระบุว่าติดต่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบหรือการยืนยันข้อมูลใดๆ
ถ้าพบว่าสถานบันเทิงทั้งสองแห่งไม่มีใบอนุญาต เจ้าพนักงานในท้องที่ก็น่าจะเข้าข่ายทั้งบกพร่อง ปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจตรา ดูแล ปล่อยให้สถานบันเทิงขนาดใหญ่เปิดบริการอย่างเปิดเผย ซึ่งชูวิทย์ยังได้ตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บส่วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังต้องรอการชี้แจงต่อไป (a) (b)
(2) แฟนนักธุรกิจญี่ปุ่นร้องเรียน-อ้างถูกตำรวจไถเงิน?
เมื่อเดือน มี.ค.2564 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งระบุว่าตนเองเป็นแฟนเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในย่านทองหล่อ บอกเล่ากรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อราว 7-8 นายเข้ามาขอดูหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานของเชฟและพนักงานชาวญี่ปุ่นที่ทำงานให้กับร้าน และเจ้าของร้านบอกว่าเอกสารอยู่ที่บ้าน แต่ตำรวจไม่รอ ทั้งยังพาตัวพนักงานไปที่สถานีตำรวจ และเรียกเงิน 40,000 บาท
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าวบอกว่า ถ้าไม่จ่ายก็จะไม่ได้ออกจาก สน. แต่เมื่อจ่ายแล้วก็ไม่มีไม่มีใบเสร็จและไม่มีการชี้แจงเหตุผล จึงสอบถามโลกออนไลน์ว่าเจอเหตุการณ์เช่นนี้แล้วจะร้องเรียนอะไรได้บ้าง ทำให้สื่อหลายสำนักรายงานข่าวดังกล่าวออกไป
หลังจากนั้น พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้แถลงข่าวในวันที่ 8 มี.ค.2564 โดยยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่เป็นเพราะตำรวจ สน.ทองหล่อ ได้รับร้องเรียนเรื่องใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จึงได้เข้าไปตรวจสอบเชฟและพนักงานชาวญี่ปุ่น เมื่อพบว่าถูกต้องตามกฎหมายก็ได้ปล่อยตัวไป แต่ก็ได้สั่งการเพิ่มเติมให้ พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการเรียกรับเงินจริงหรือไม่ (c) (d)
(3) แจ้งความกลับ 'นางงาม' โพสต์พาดพิง ตร.ตรวจรถ หากินกับ ปชช.
ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่มีข่าวร้านอาหารญี่ปุ่น 'ฏีญาภาร์ กฤษณสุวรรณ' หรือ 'น้ำเพชร' มิสเอิร์ธไทยแลนด์ 2020 และท็อป 20 มิสเอิร์ธ 2019 ได้โพสต์อินสตาแกรมว่าตนเองเจอด่านตรวจ 2 ครั้งใน 2 สัปดาห์ โดยครั้งแรกเป็นการตั้งด่านของ สน.ทองหล่อ ส่วนครั้งที่ 2 เป็นพื้นที่ สน.หัวหมาก และตำรวจให้เหตุผลที่โบกรถให้หยุดและเข้าตรวจค้นเป็นเพราะรถติดฟิล์มดำเกินไป ทั้งยังไม่สวมหน้ากากและถุงมืออนามัย
น้ำเพชรได้ระบุเพิ่มเติมในอินสตาแกรมว่า “กฏหมายห้ามติดฟิล์มดำมันยกเลิกไปนานแล้ว จะมาหากินกับ ปชช.ง่ายๆ แบบนี้ไม่ได้” จากนั้นตำรวจฝ่ายงานจราจร สน.ทองหล่อ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จึงมีการมอบหมายให้ ร.ต.อ.สุฤทธิ์ หลวงวงษ์ รอง สว.จร. เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ เพื่อดำเนินคดี 'น้ำเพชร' ในข้อหา "หมิ่นประมาท และ นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พรบ. คอมพิวเตอร์" พร้อมระบุว่าจะออกหมายเรียกให้น้ำเพชรมาให้ข้อมูลต่อไป
วันที่ 12 มี.ค. น้ำเพชรได้โพสต์ข้อความขอโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยระบุว่าตอนนั้นตกใจและโมโห (e)
(4) มหากาพย์ 'บอส อยู่วิทยา' กับข้อครหา ตร.อุ้มทายาทกระทิงแดง
คดี 'วรยุทธ อยู่วิทยา' หรือ 'บอส' ทายาทเจ้าของธุรกิจในเครือกระทิงแดง ขับรถชนคนตายแล้วหลบหนีเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2555 เกิดขึ้นในพื้นที่ สน.ทองหล่อ และผู้เสียชีวิต 'ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ' ก็เป็นตำรวจปราบปรามอยู่ที่ สน.ทองหล่อ ในขณะนั้นด้วยเช่นกัน
แม้สำนวนคดีของวรยุทธจะถูกนำส่งต่ออัยการศาลอาญากรุงเทพใต้ตั้งแต่ มี.ค.2556 แต่อัยการมีความเห็นแย้ง และหลังจากนั้นทีมทนายของวรยุทธร้องเรียนขอความเป็นธรรมหลายครั้ง รวมถึงขอเลื่อนคดีโดยระบุว่าติดธุระอยู่ต่างประเทศ ทำให้คดีลากยาวจนถึงปี 2559 วรยุทธไม่มาพบพนักงานอัยการตามนัด จึงนำไปสู่การขอออกหมายจับในปี 2560 แต่วรยุทธก็เดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้ว
คดีวรยุทธกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะประชาชนจำนวนมากมองว่าทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการดำเนินเรื่องล่าช้า ทำให้คดีบางส่วนหมดอายุความ เอื้อให้ผู้ก่อเหตุที่เป็นทายาทกลุ่มทุนใหญ่ลอยนวลไปได้ ต่างจากการดำเนินคดีกับประชาชนคนธรรมดา ขณะที่สื่อต่างประเทศก็เกาะติดรายงานข่าวนี้ด้วยเช่นกัน โดยซีเอ็นเอ็นรายงานว่าคดีนี้บ่งชี้ว่า 'คนรวย' ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างแตกต่างจากคนธรรมดาในประเทศไทย
จนกระทั่งเดือน มิ.ย.2563 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอดีต ผบก.น.5-รอง ผบก.และตำรวจ สน.ทองหล่อรวม 7 นาย ฐานผิดวินัย ไม่ดำเนินคดี-ไม่ออกหมายจับวรยุทธในคดีเมาแล้วขับ-ชน ตร.ตาย แต่ก็วินิจฉัยว่าเป็นการผิดวินัย 'ไม่ร้ายแรง' และต่อมา อัยการสูงสุดก็ตัดสินยกคำฟ้องวรยุทธ และคณะกรรมการตำรวจไม่คัดค้านการตัดสินใจ กลายเป็นประเด็นค้านสายตาและขัดแย้งความรู้สึกของประชาชนจำนวนมาก (f) (g) (h)
(5) ปืนหลวงหายกลาง สน. 11 กระบอก-คาดเป็นฝีมือคนใน
เมื่อเดือน เม.ย.2562 พ.ต.อ.ชนิน วชิรปาณีกูล รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 รักษาราชการแทนผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่าปืนที่ไว้ใช้ในราชการ 11 กระบอก หายไปจากตู้เก็บพัสดุ บนชั้น 3 ของ สน.ทองหล่อ โดยสันนิษฐานว่าผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจคนใน เพราะเป็นการทยอยขโมยปืนออกไป ไม่ใช่หยิบออกไปทั้งหมดในคราวเดียว
นอกจากนี้ยังประเมินว่าผู้ก่อเหตุจะลงมือช่วงเดือน พ.ย.2561 เป็นต้นมา และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยตำรวจผู้รับผิดชอบดูแลพัสดุ เพื่อหาข้อเท็จจริงว่ากระทำการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้อาวุธปืนสูญหายไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลคดีนี้ในสื่อออนไลน์ ยังไม่พบข้อชี้แจงบทสรุปของคดี (i) (j)
(6) ปลด 3 ตำรวจถูกสอบคดีไถนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส
23 ธ.ค.2562 ช็อง เซบาตียง นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส ร้องเรียนสถานทูตฝรั่งเศสว่าถูกตำรวจ สน.ทองหล่อเรียกเงินกว่า 8,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 250,000 บาท) โดยอธิบายว่าเขาถูกเรียกค้นตัวขณะกำลังเดินอยู่ในซอยสุขุมวิท และถูกตำรวจพาไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล พบสารอนุมูลกัญชาเล็กน้อย เกิดจากการใช้น้ำมันกัญชาบรรเทาอาการป่วย แต่ทำให้เขาถูกนำตัวไปยัง สน.ทองหล่อในข้อหายาเสพติด เขาจึงติดต่อเพื่อนที่เป็นลูกครึ่งไทย-อินเดียให้ช่วยเหลือ และเพื่อนบอกให้จ่ายเงินตำรวจเพื่อให้เรื่องจบเร็ว (k)
ภายหลังเซบาตียงรู้สึกว่าเพื่อนอาจจะร่วมมือกับตำรวจในการเรียกรับเงินดังกล่าว จึงไปร้องเรียนกับสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเพื่อขอความช่วยเหลือ และสถานทูตได้พาเขาไปยื่นเรื่องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อแจ้งความดำเนินคดี และต่อมา พล.ต.ต.สามารถ ศรีสิริวิบูลย์ชัย ผบก.น.5 ขณะนั้น พบว่าข้อกล่าวหา 'มีมูล' จึงได้สั่งให้ตำรวจ 3 นายของ สน.ทองหล่อ ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดฐานรับสินบน (l)
(7) ย้าย 5 ตำรวจ หลังพบนักเที่ยวฉี่ม่วงในผับไร้ใบอนุญาต
เดือน มิ.ย.2558 พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น.ในขณะนั้น นำกำลังตำรวจกว่าร้อยนาย พร้อมด้วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ปิดล้อม 'ลิเบอร์ตี้ผับ' ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 2 อาคารลิเบอร์ตี้ ซอยทองหล่อ โดยระบุว่าได้รับร้องเรียนเรื่องสถานบันเทิงเปิดให้บริการเกินเวลาที่กำหนด
การตรวจค้นดังกล่าวพบว่าผับชื่อดังเปิดบริการโดยไม่มีใบอนุญาต ทั้งยังตรวจปัสสาวะพนักงานและนักเที่ยว พบว่า ‘ฉี่ม่วง’ รวม 5 คน จึงดำเนินคดีในข้อหายาเสพติด และคุมตัวผู้จัดการร้านลิเบอร์ตี้ผับเพื่อดำเนินคดีในข้อหา “เปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต” หลังจากนั้นได้มีคำสั่งย้ายนายตำรวจยศนายพัน 5 นายออกจากท้องที่ สน.ทองหล่อ (m)
นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่ "มีความบกพร่อง ปล่อยปะละเลยไม่สนใจในการสืบสวนปราบปรามจับกุม ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ป้องกันปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอบายมุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องกับแหล่งอบายมุขที่กระทำผิดกฎหมาย เรียก รับ หรือมีผลประโยชน์ เกี่ยวข้องกับอบายมุขดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร" (n) (o)
(8) คดี 'ซานติก้า' กับข้อกล่าวหาจับแพะ 'นักร้อง'
เหตุไฟไหม้ 'ซานติก้าผับ' คืนส่งท้ายปี 31 ธ.ค.2551 ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่คนจำนวนมากยังจดจำได้ดี เพราะมีผู้เสียชีวิตถึง 67 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ทั้งยังเป็นภาพสะท้อนความหละหลวมของภาครัฐ ทำให้อุบัติภัยที่่ควรป้องกันได้บานปลายจนถึงขั้นสูญเสียเลือดเนื้อ เพราะผับดังกล่าวถูกต่อเติมและดัดแปลงอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งยังไม่มีระบบแจ้งเหตุไฟไหม้และป้ายเตือนทางหนีไฟ
แต่ประเด็นร้อนที่เกี่ยวข้องกับ สน.ทองหล่อ เกิดขึ้นเพราะเจ้าพนักงานรีบตั้งข้อหา 'สราวุธ อะริยะ' นักร้องนำวงเบิร์น โดยระบุว่าเขาเป็นผู้จุดพลุกระดาษที่เป็นสาเหตุเพลิงไหม้ แต่ 'พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น แถลงแย้งสำนวนของตำรวจ โดยอ้างอิงภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดในซานติก้าผับ และผลการทดลองยิงพลุไฟเอฟเฟกต์ใส่ฝ้าเพดานของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ขณะนั้น พบว่าสาเหตุที่ไฟไหม้ลามรวดเร็วในซานติก้าผับเกิดจากพลุเอฟเฟ็กต์ที่ทางร้านเตรียมไว้ ไม่ใช่เกิดจากพลุที่นักร้องนำวงเบิร์นจุด (p) (q)
ภายหลัง 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' นายกรัฐมนตรีขณะนั้น มีคำสั่งให้โอนคดีซานติก้าผับให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้สอบสวนต่อ โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ตรงกัน จึงอยากทำให้เกิดความรอบคอบและเป็นมาตรฐานในการตัดสินคดีอื่นๆ ต่อไป และเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2561 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 7 เดือน ไม่รอลงอาญา 'วิสุข เสร็จสวัสดิ์' หรือ 'เสี่ยขาว' ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของซานติก้าผับ ในข้อหา "ไม่ยื่นเสียภาษี" (r)
ส่วนครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บส่วนหนึ่งยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชยจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฐานละเลยต่อหน้าที่ ไม่ควบคุมดูแลอาคารที่เปิดเป็นสถานบริการ ไม่ตรวจสอบสภาพ โครงสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อ 31 ต.ค.2559 ให้ กทม.ชำระค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยให้ผู้ฟ้องทั้ง 12 คน เป็นเงินราว 5.7 ล้านบาท (s)