Koreatimes รายงานว่า บริษัทผู้ผลิตชิปหน่วยความจำและโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างซัมซุงนั้น กล่าวว่า กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. นี้คาดว่าจะอยู่ที่ 10.8 ล้านล้านวอน หรือราวๆ 288,000 ล้านบาท ลดลง 31.7% จาก 15.82 ล้านล้านวอนหรือประมาณ 4.19 แสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (64) ตัวเลขดังกล่าวเป็นกำไรไตรมาส 3 ที่ต่ำที่สุดนับแต่ปี 2019 ที่มีมูลค่า 7.78 ล้านล้านวอน ประมาณ 2.06 แสนล้านบาท ทั้งยังถือว่าเป็นการลดลงครั้งแรกของกำไรไตรมาส 3 ของซัมซุงในรอบ 3 ปีอีกด้วย
ตามรายงานของ Koreatimes ระบุว่า ภาคธุรกิจหน่วยความจำ หรือเซมิคอนดักเตอร์ของซัมซุง ทำกำไรได้เกือบ 70% ในไตรมาสก่อนหน้า ก็เชื่อว่าจะชะลอตัวลง ทั้งนี้มาจากกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนกำลังลง ส่งผลให้ความต้องการชิปลดลงจากผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับบริษัทคลาวด์คอมพิวติ้ง และเซิร์ฟเวอร์
ทำให้นักวิเคราะห์ตลาดคาดการณ์ว่า แผนกแก้ไขอุปกรณ์ของซัมซุง ที่ทำธุรกิจชิปในต่างประเทศ จะมีกำไรจากการดำเนินงานประมาณ 6 ล้านล้านวอน หรือราว 1.59 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงเกือบ 30% จากไตรมาสก่อนหน้า
คิม อึนโฮ นักวิเคราะห์จาก IBK Securities บอกว่า ลูกค้าเหมือนไม่ตอบสนองต่อราคาชิปที่ลดลงเนื่องมาจากความต้องการที่ซบเซา และความต้องการที่ชะลอตัวนี้กำลังขยายตัวจากภาคเซิร์ฟเวอร์ไปสู่ภาคโทรศัพท์เคลื่อนที่
อุตสาหกรรมชิปทั่วโลกกำลังเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักร และทวีความรุนแรงขึ้นจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่สำคัญทั่วโลก เช่น ประเทศเศรษฐกิจใหญ่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทำให้ราคาวัตถุดิบและสินค้าต่างอยู่ในระดับสูง ทำให้ยุคเฟื่องฟูที่ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ในบ้านหมดลงแล้ว
ตามรายงานของบริษัทวิจัย TrendForce บอกว่าราคาชิปหน่วยความจำเริ่มลดลงในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ซื้อหน่วยความจำและผู้ผลิตได้ขยับตัวเพื่อปรับสินค้าคงคลัง แม้จะมีปัญหาเรื่องอุปทานและราคาที่ตกต่ำ แต่ ฮาน จินแมน รองประธานบริหารและหัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดทั่วโลกของซัมซุง กลับบอกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยภายในเกี่ยวกับการลดจำนวนการผลิตชิปหน่วยความจำลง
ซึ่งท่าทีของซัมซุง ขัดกับการเคลื่อนไหวของ Micron Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิต DRAM รายใหญ่อันดับสามของโลกของสหรัฐฯ ที่ประกาศแผนลดการใช้จ่ายต้นทุนสูงสุด 30% และอุปกรณ์ชิปสูงสุด 50% เพื่อชะลอการเติบโตของอุปทานในปีงบประมาณ 2023