สื่อต่างชาติรายงานเหตุสลดยิงกราดในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย ซึ่งรวมถึงเด็ก 24 คน ขณะที่ รัฐบาลนานาชาติร่วมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้
จากเหตุกราดยิงที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ใน จ.หนองบัวลำภู เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) โดยอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการเมื่อปีที่แล้ว (64) เนื่องจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับยาเสพติดและกำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาลจากข้อหาดังกล่าว กลายเป็นประเด็นข่าวที่สื่อทั่วโลกให้ความสนใจ และนำเสนอทันทีพอๆ กับสื่อในประเทศ
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสื่อในไทย ว่า ปัญญา คำราบ อดีตนายตำรวจวัย 34 ปี คือ ผู้ก่อเหตุสลดครั้งนี้
หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษ รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 34 คนในศูนย์รับเลี้ยงเด็กแห่งนี้ที่มีเด็ก ๆ อยู่ราว 30 คน โดยมือปืนบุกเข้าไปในพื้นที่เวลา 12.30 น. ซึ่งเป็นเวลานอนพักกลางวันของเด็กๆ ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ โดยในกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตนั้นมีบางรายที่มีอายุเพียง 2 ขวบเท่านั้น
ซีเอ็นเอ็น รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ว่า ผู้ก่อเหตุเพิ่งไปขึ้นศาลในจังหวัดหนองบัวลำภู ก่อนจะบุกเข้ายิงกราดในศูนย์รับเลี้ยงเด็กแห่งนี้ “ขณะที่เด็ก ๆ กำลังนอนกันอยู่” ส่วน แอลเอ ไทมส์ อ้างข้อมูลจากคำแถลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า หลังก่อเหตุแล้ว มือปืนพยายามหลบหนีจนขับรถชนผู้คนไปหลายคนด้วย
ขณะที่ สำนักข่าวเอพี รายงานว่า พยานในเหตุการณ์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ของศูนย์รีบล็อกประตูทันทีเมื่อเห็นมือปืนปรากฎตัวขึ้นพร้อมอาวุธ แต่ผู้ก่อเหตุใช้ปืนยิงประตูบุกเข้าไปภายในจนได้
รายงานข่าวที่อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเปิดเผยว่า มือปืนยิงเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 4-5 คน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องแก่คนหนึ่ง ก่อนจะบุกเข้าไปในห้องที่เด็ก ๆ นอนกลางวันอยู่ แต่ข่าวระบุด้วยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่านี้ ถ้าผู้ปกครองหลายคนไม่ตัดสินใจให้ลูก ๆ อยู่บ้านเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน เพราะพายุฝนฟ้าคะนองหนักในช่วงนี้
รายงานชิ้นนี้ยังอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มือปืนใช้ปืนลูกซอง, ปืนสั้น, และมีดในการก่อเหตุ ก่อนจะหลบหนีจากจุดเกิดเหตุและขับรถกลับไปยังบ้านของตน ทำการสังหารภรรยาและลูก พร้อมตัวเอง
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า มือปืนใช้ปืนพกขนาด 9 ม.ม.ของตนเองในเหตุการณ์ครั้งนี้ และกล่าวว่า ตนเชื่อว่า คนร้ายน่าจะกระทำการต่าง ๆ ขณะที่ตกอยู่ในฤทธิยาแอมเฟตามีนอยู่
และขณะที่การสืบสวนหาสาเหตุของการยิงกราดครั้งนี้ยังดำเนินอยู่ มีหลายฝ่ายที่สงสัยว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตด้วย
รายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า มีประชาชนราว 1.5 ล้านคนในไทยที่ประสบภาวะซึมเศร้าอยู่ในเวลานี้
ขณะที่ นิวยอร์กไทมส์ ชี้ว่านี่คือ เหตุยิงกราดที่ร้ายแรงที่สุดในไทย นับตั้งแต่เมื่อปี 2020 ที่นายทหารรายหนึ่งใช้ปืนไรเฟิลยิงเข้าใส่ผู้คนในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 29 ราย สื่อต่างชาติทุกแห่งระบุเหมือนกันว่า เหตุ 'การยิงกราด' นั้นถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยในไทย แต่การที่มีอาวุธปืนนับพันกระบอกกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น เป็นประเด็นที่ทางการไทยกังวลอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับโอกาสการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากการใช้ปืน
นิวยอร์กไทมส์ ยังอ้างอิงข้อมูลจาก gunpolicy.org ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรภายใต้มหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และรายงานว่า มีปืนอยู่กว่า 10.3 ล้านกระบอกในไทยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ในปี 2017 โดยมีเพียงราว 6 ล้านกระบอกเท่านั้นที่มีการขึ้นทะเบียนไว้กับเจ้าหน้าที่
และเมื่อคำนวณดูจากจำนวนประชากรของประเทศที่ราว 69 ล้านคน อัตราการครอบครองปืนของประชาชนนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 15 กระบอกต่อประชากร 100 คน ซึ่งยังต่ำกว่าในสหรัฐฯ ในปีเดียวกันที่ 120 กระบอกต่อประชากร 100 คน
ถึงกระนั้น นิวยอร์กไทมส์ชี้ว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการครอบครองปืนโดยพลเรือนและอัตราการเกิดการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ทั้งยังเป็นตลาดใต้ดินสำหรับการซื้อขายอาวุธปืนที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ด้าน วีโอเอไทย รายงานว่า ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch บอกว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการควบคุมปืน และควรมีการลงมือทำการบางอย่างเพื่อจัดการกับเรื่องนี้ด้แล้ว
โรเบิร์ตสัน ระบุในอีเมล์ว่า “โศกนาฎกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดถึงมาก่อนนี้คือ สัญญาณเรียกร้องให้มีการลงมือแก้ปัญหา สิ่งที่ชัดเจนแล้วก็คือ ประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยปืน ทั้งแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และนี่คือเหตุยิงกราดครั้งที่สองในรอบสองปี ถึงเวลาที่ไทยจะตื่นขึ้นมาและตระหนักว่า การปกป้องประชาชนชนนั้นหมายถึง การควบคุมสถานการณ์ให้ได้ มากกว่าจะมองว่านี่คือ เหตุการณ์ที่ ‘เกิดขึ้นครั้งเดียว’ ซึ่งไม่ต้องใส่ใจมากก็ได้”
ผู้นำและตัวแทนรัฐบาลหลายประเทศแสดงความเสียใจเหตุกราดยิง
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยสะเทือนใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในจังหวัดหนองบัวลำภู เรายืนหยัดเคียงข้างพี่น้องชาวไทย และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต รวมทั้งครอบครัวของพวกเขา”
ส่วน ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทวีตข้อความที่ระบุว่า “ดิฉันตกใจที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทย ดิฉันขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่ได้รับกระทบทุกคนและส่งความห่วงใยไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สหราชอาณาจักรยืนหยัดเคียงข้างไทยในช่วงเวลาอันน่าหดหู่นี้”
แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เป็นผู้นำโลกอีกรายที่ทวีตข้อความแสดงความเสียใจต่อเหตุสลดนี้ โดยระบุว่า “ข่าวอันน่าเศร้าสลดใจในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะทำใจได้ ชาวออสเตรเลียทุกคนขอแสดงความห่วงใยและความเสียใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้”
แอนน์ ลินด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน ได้ทวีตข้อความถึงเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู ว่า “ดิฉันรู้สึกตกใจที่ได้ทราบถึงเหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู ในประเทศไทย ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมถึงเด็ก ๆ จำนวนมาก ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่งในครั้งนี้”
ด้าน ยูนิเซฟ ออกแถลงการณ์ แสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัยต่อเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น ที่ทำให้มีเด็กเล็กเสียชีวิตหลายสิบราย พร้อมบอกว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรเป็นที่ปลอดภัยให้เด็กได้เล่น เรียนรู้ และเติบโต พร้อมประณามการกระทำรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ เพราะไม่ควรมีเด็กต้องตกเป็นเป้าหมายหรืออยู่ในเหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงทุกรณี และขอความร่วมมือทุกคนและทุกสื่อไม่ส่งต่อหรือโพสต์ภาพและวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสภาพจิตใจของครอบครัวและผู้ใกล้ชิดของผู้เสียชีวิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้
ส่วน กสม.ออกแถลงการณ์ประณามเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ จ.หนองบัวลำภู พร้อมเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ ปฏิบัติและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุสลดครั้งนี้ร่วมกัน