เกษตรกรในไทยและกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงกำลังเผชิญปัญหาราคาปุ๋ย และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีหนี้สินและยากจนรุนแรง บางที่ถึงกับพ้ออาชีพเกษตรกรอาจหมดไปเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว
เว็บไซต์ Mekongeye รายงานสถานการณ์พื้นที่ทำการเกษตรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงว่า เกษตรกรหลายคนต้องทิ้งที่ทำกินตัวเอง ไม่สามารถชำระหนี้สิน หรือแม้กระทั่งเสียที่ดินไปก็มี
Kekhongeye ยกกรณีชาวนารายหนึ่งในในจังหวัดสิงห์บุรีบอกว่า ปีนี้เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเกษตรกร เพราะทุกอย่างราคาแพง ยกเว้นราคาข้าว ที่มีแต่ลดลงเรื่อยๆ อีกทั้งยังเป็นหนี้ติดต่อมาหลายปี ต้องยืมเงินและกู้จากธนาคารของรัฐเพื่อรักษาที่ดินทำกินและครอบครัวเอาไว้ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะราคาปุ๋ย ซ้ำร้ายเขายังต้องขายเครื่องใช้ไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ ด้านครอบครัวก็ต้องหย่ากับภรรยาเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูเธอได้
อย่างไรก็ตามชาวนารายนี้ ไม่ใช่เกษตรกรเพียงรายเดียวที่ประสบปัญหาหนี้สิน และปุ๋ยราคาแพง เพราะเกษตรกรทั่วภูมิภาคแม่น้ำโขงต่างประสบปัญหาในการรักษาผลผลิต ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวน อยู่เหนือการควบคุมของเกษตรกร
ข้อมูลราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของธนาคารโลก เปิดเผยว่า ราคาไดแอมโมเนียมฟอสเฟต ซึ่งเป็นปุ๋ยที่รู้จักในชื่อ DAP เมื่อเทียบปีต่อปี สูงขึ้น 30% ในเดือน ก.ค. และสูงกว่าปี 2020 และ 2019 ถึง 150% ส่วนราคาโพแทสเซียมคลอไรด์ และยูเรีย เพิ่มขึ้น 168% และ 24% จากปีที่แล้วตามลำดับ
และราคาที่พุ่งสูงนี้ได้รับแรงผลักดันจากหลายปัจจัย รวมถึงการจำกัดการส่งออกของจีนและสงครามในยูเครนที่กระตุ้นการคว่ำบาตรทางการค้ากับเบรารุสและรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ซึ่งความผันผวนของราคาอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเกษตรกรในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งภาคการเกษตรส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมีที่นำเข้ามา
ขณะที่ อาซิส เอลเบห์ริ (Aziz Elbehri) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสขององค์การอาหารและการเกษตร หรือ FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวกับ Mekongeye ว่า การพุ่งขึ้นของราคาส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในระยะยาวต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะเวลาอันใกล้นี้ ราคาที่สูงขึ้นจะเพิ่มต้นทุนการผลิตและการใช้วัตถุดิบที่ลดลง ทำให้ส่งผลกระทบด้านลบต่อการผลิตอาหาร
ทั้งนี้ เกษตรกรจำนวนมากอาจเลิกทำการเกษตรหากไม่มีการสนับสนุนในทันทีเพื่อบรรเทาวิกฤต หรือมีทางเลือกอื่นที่พร้อมกว่า ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการผลิตในอนาคต รวมถึงผลผลิตและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้วย
และผลกระทบระยะยาวนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการปรับขึ้นราคา และคาดว่าฤดูกาลผลิตในปีหน้าจะมีการผลิตน้อยลง และเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เกษตรกรรายย่อยที่ต้องพึ่งพารายได้จากที่ดินตัวเองเพื่อค่าอาหารและสิ่งของเครื่องใช้
รายงานธนาคารโลกระบุ เกษตรกรไทย 40% อาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ตามข้อมูลจากธนาคารโลกปี 2019 ภาคการเกษตรนั้นคิดเป็น 31% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทย, 35% ในกัมพูชา, 37% ในเวียดนาม, 49% ในเมียนมา และ 61% ในลาว แต่ความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยด้อยลงมาก แม้จะมีการจ้างงานในภูมิภาคเป็นจำนวนมากก็ตาม
เกษตรกรไทยประมาณ 40% ยังอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนเนื่องจากผลผลิตต่ำและขาดอำนาจต่อรองในตลาด ส่วนในเวียดนามอัตราความยากจนยังสูงกว่ามากในกลุ่มครอบครัวในชนบท ชนกลุ่มน้อย และครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
ในประเทศกัมพูชา มีรายงานว่าชาวนากู้ยืมเงินมากขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้มีหนี้สินจำนวนมาก ส่วนใหญ่พึ่งปุ๋ยนำเข้าจากไทย และเวียดนามเป็นหลัก หนึ่งในเกษตรกรชาวกัมพูชาบอกว่า ตอนนี้ยากมากที่จะทำให้ได้ผลผลิตเท่าเดิมกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเป็นสองเท่า แต่ถ้าไม่ทำการเกษตรต่อไป ก็จะไม่มีอะไรกิน
ธนาคารโลก ระบุด้วยว่า ช่วงต้นฤดูทำนา เกษตรกรจะยืมเงินจากสถาบันไมโครไฟแนนซ์หรือแหล่งเงินกู้เพื่อซื้อของจำเป็นสำหรับทำเกษตร และเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และพวกเขาจะจ่ายเงินคืนหลังจากเก็บเกี่ยวและขายพืชผลแล้ว และเป็นเรื่องปกติที่รายได้จากการเก็บเกี่ยวแทบจะไม่มีกำไร เพราะมากกว่าครึ่งหมดไปกับชำระหนี้
ส่วนเกษตรกรกัมพูชากว่า 80% เป็นหนี้ตามรายงานของสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา จำนวนเงินกู้เพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากรัฐบาลกัมพูชาบอกอีกว่า จำนวนเงินกู้เพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2020 และสูงถึง 21% ในปี 2021 โดยสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำอันเกิดจากการระบาดของโควิด-19 และแม้จะมีหนี้สิน แต่เกษตรกรในกัมพูชาส่วนใหญ่ก็เลือกจะทำการเกษตรต่อ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น อย่างน้อยที่ดินของพวกเขาก็สามารถหาเลี้ยงคนในครอบครัวได้
ชาวนาไทยเริ่มคิดถึงเรื่องเลิกทำนาแล้ว
ส่วนในประเทศไทย เกษตรกรที่ทำนาจำนวนมาก เริ่มคิดถึงการเลิกทำนา โดยปิ่นแก้ว คุณแก้วแท้ ผู้ประสานงานเครือข่ายหนี้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรไทยที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาหนี้ บอกว่า ในอนาคตจะไม่มีชาวนาอีกต่อไป ชาวนาหลายคนกำลังวางแผนจะหยุดทำนา ยิ่งทำยิ่งยากจน คนรุ่นเราอาจเป็นชาวนารุ่นสุดท้าย
มีรายงานว่า เกษตรกรในไทยต้องกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้เงินกู้และธนาคารของรัฐบาลเพื่อรักษาที่ดินของตัวเองไว้ ส่วนบรรดากลุ่มที่ล้มเหลวในการชำระหนี้ก็ต้องเผชิญกับการฟ้องร้องและถูกยึดที่ดินโดยผู้ให้กู้
รายงานประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทย หรือ OAE แสดงให้เห็นว่าพื้นที่การเกษตรจำนวน 7.8 ล้านเฮกเตอร์ หรือราว 48 ล้านไร่ ถูกจำนอง ไถ่ถอน หรือใช้ฟรีแบบเกษตรกรไม่มีสิทธิถือครองที่ดิน ในปี 2020 คิดเป็น 62% ของพื้นที่เพาะปลูกในประเทศไทย
การระบาดใหญ่ของโควิด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินมากขึ้น โดยข้อมูลจากกรมบังคับคดีแสดงให้เห็นว่า จำนวนคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์สิน การขับไล่ และทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดเพิ่มขึ้นจาก 329,681 คดี (รวมมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ ประมาณ ) เป็น 348,573 คดี (มูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ ประมาณ ) ระหว่างปี 2020 ถึง 2021
ภายใต้แรงกดดันจากหนี้สิ้นและการสูญเสียที่ดิน ทำให้ชาวนากว่า 1,000 คนรวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาลของไทยเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ การออกมาชุมนุมของชาวนาได้เติมเชื้อไฟให้ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องในไทย ที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยทหารมาหลายครั้ง ซึ่งหลายคนอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปิดกันเสรีภาพ
ทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เรียกร้องให้ธนาคารชะลอการฟ้องร้องเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินของเกษตรกร และลดหนี้ให้กับเกษตรกรกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งผู้ทุพพลภาพ และเจ็บป่วยจากความทุพพลภาพ
การขึ้นราคาของปุ๋ยอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในการพัฒนาในอนาคตอันใกล้ เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติให้ Asia Pacific Potash Corporation (APPC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Italian-Thai Development Plc ได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานีทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ การเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นจากการราคาปุ๋ยที่ขยับสูงขึ้น รัฐบาลคาดว่าสัมปทานการขุดจะนำไปสู่การผลิตโปแตซ 200 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะใช้ในการผลิตปุ๋ยในประเทศและลดการพึ่งพาปุ๋ยนำเข้า แต่โครงการนี้เคยเสนอเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และทำให้เกิดการประท้วงโดยชุมชนท้องถิ่นใกล้กับแหล่งทำเหมือง ที่เกรงว่าโครงการนี้จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในชุมชน บริษัทเหมืองแร่ และเจ้าหน้าที่จะรุนแรงขึ้นหากบริษัทได้รับสัมปทาน
เกษตรกรเวียดนามละทิ้งที่ทำกินเพราะแบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว
ด้านเกษตรกรในเวียดนามก็เผชิญปัญหาไม่แพ้กัน เมื่อต้องแบกรับราคาปุ๋ยที่พุ่งสูงที่สุดในรอบ 50 ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงโควิด ทำให้ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวเมื่อปีที่แล้ว และการปะทุของสงความรัสเซียยูเครน และช่วง 2 ปีมานี้ราคาปุ๋ยในเวียดนามเพิ่มขึ้น 300% ราคายาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้น 20-30% และค่าแรงก็เช่นกัน ค่าไถพรวน และเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น 750% และ 730% ตามลำดับ ทำให้ต้นทุนของชาวนาทั้งหมดเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แตะอยู่ที่ประมาณ 900 ดอลลาร์ (ประมาณ 34,000 บาท) ต่อ 6 ไร่ ไม่รวมค่าแรงของเจ้าของที่
เกษตรกรจากจังหวัดทางใต้ของเวียดนามบอกว่า เกษตรกรในชุมชนของเขาเริ่มละทิ้งที่นาของตัวเองแล้ว เนื่องจากไม่สามารถจ่ายต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้อีกต่อไป บางคนเลือกเปลี่ยนไปปลูกผักและผลไม้ที่มีมูลค่าสูงกว่าและต้องการน้ำน้อยกว่าปลูกข้าว
สิ่งที่กล่าวข้องต้นสะท้อนถึงแนวโน้มว่าเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ที่เปรียบเสหมือนชาวข้ามของประเทศ ในฤดูร้อน-ใบไม้ร่วงปี 2022 พื้นที่หว่านเมล็ดทั้งหมดภูมิภาคนี้มากกว่า 9 ล้านไร่ ลดลง 125,000 ไร่ จากปีก่อนหน้า
ด้านกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม ได้เปิดตัวนโยบายที่เรียกว่า "การปฏิวัติ" หวังช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยรัฐบาลได้ทดสอบและแนะนำรูปแบบการปลูกแบบใหม่ที่ใช้ปุ๋ยน้อย และปรับเปลี่ยนปัจจัยการผลิตอื่นๆ ในขณะที่ยังคงให้ผลผลิตสูง เรียกอีกอย่างว่า "หนึ่งต้องตัดห้า" โดยแนะนำให้เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวที่กำหนด พร้อมลดปุ๋ย, ยาฆ่าแมลง, ค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ, ต้นทุนการเก็บเกี่ยว และความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว
เอลเบห์ริ จาก FAO ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ทางเลือกของเกษตรกรในการใช้ปุ๋ยน้อยลงและการปลูกพืชทดแทนที่ต้องการปุ๋ยน้อยมีความเฉพาะเจาะจง วิกฤตการณ์ในปัจจุบันอาจกระตุ้นให้เกิดแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ที่ต้องพึ่งพาปุ๋ยน้อยลง หรือใช้วิธีการทำให้ดินอุดมสมบูรณ์แบบอื่นแทน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ช่วยให้สามารถกำหนดการใช้น้ำและปุ๋ยได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ลดจำนวนปัจจัยการผลิตโดยไม่สูญเสียผลผลิต แต่สิ่งเหล่านี้เป็นนวัตกรรมระยะยาวที่ต้องใช้เวลา ความทุ่มเท และการสนับสนุน
ปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติใหม่ สู้ปัญหาปุ๋ยแพง
ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวของเวียดนาม กล่าวกับ Mekongeye ด้วยว่า ราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตร พวกเขาพึ่งพาปุ๋ยเคมีน้อยลงเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยเฉลี่ยชาวนาเวียดนามใช้ปุ๋ย 735 กก. ต่อพื้นที่เพาะปลูก 6 ไร่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียว เกษตรกรใช้ปุ๋ยมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 45% และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของต้นทุนการผลิต
เกษตรกรส่วนใหญ่เคยใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป โดยเฉลี่ยแล้ว 40-70% ของปุ๋ยไนโตรเจนที่เกษตรกรใช้จะระเหยกลายเป็นก๊าซเรือนกระจกก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่การสนับสนุนทางเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่เกษตรก็ทำได้เพียงเท่านี้ เพราะอุปสรรคที่ใหญ่ที่ขัดขวางไม่ให้เกษตรกรพึ่งพาปุ๋ยเคมีน้อยลงคือ การราคาและความโปร่งใสด้านคุณภาพในตลาดสำหรับปุ๋ยอินทรีย์และจุลินทรีย์
และมีเกษตรกรเพียง 25% เท่านั้นที่ยอมเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนที่เหลือพอใจกับผลกำไรที่ลดลงเมื่อใช้ปุ๋ยเคมี เพราะเหนื่อยน้อยกว่า อีกทั้งการเปลี่ยนไปใช้วิธีออร์แกนิกต้องใช้ความรู้ เวลา และความพยายามอยากมาก เพราะต้องลองผิดลองถูก จนกว่าจะมั่นใจ