ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างครัวซองต์ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ และใกล้เคียง จำนวน 31 ตัวอย่าง ในช่วงเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์ค่าพลังงาน ไขมัน (ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์) และปริมาณโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เนื่องจากขนมอบชนิดนี้มีค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพลังงานจากไขมัน และยังเป็นการเฝ้าระวังเรื่องไขมันทรานส์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ปริมาณโซเดียมในขนมอบหรือเบเกอรี่ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญและตระหนักรู้ ว่านี่คือแหล่งอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณโซเดียมสูง แม้ไม่มีรสเค็ม
สรุปผลการวิเคราะห์ครัวซองต์มีดังนี้ ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 415 - 511 กิโลแคลอรีตัวอย่างที่มีพลังงานมากที่สุด คือ ครัวซองต์ของร้าน KANOM สาขา สามย่านมิตรทาวน์มีพลังงาน 511 กิโลแคลอรี่ (Kcal) ตัวอย่างที่มีพลังงานน้อยที่สุดคือ ครัวซองต์จาก Big C สาขาบางปะกอก พลังงาน 415 กิโลแคลอรี่ (Kcal)
ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าไขมันรวม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 21.6 - 33 กรัม ค่าไขมันอิ่มตัว ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 9.53 – 19.83 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ขนมอบเบเกอรี่ที่มีปริมาณไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวที่สูง สำหรับไขมันทรานส์ ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 0.13 - 1.09 กรัม ทั้งนี้ เมื่อนำมาคำนวณตามปริมาณในหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ชิ้น) พบว่ามี 3 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณไขมันทรานส์ เกิน 0.5 กรัม ได้แก่ กาโตว์ เฮ้าส์ (0.56 กรัม/หน่วยบริโภค 52 กรัม) Au bon pain (0.60 กรัม/หน่วยบริโภค 58 กรัม) และ พรมารีย์ เบเกอรี (0.63 กรัม/หน่วยบริโภค 63 กรัม)
ส่วนปริมาณโซเดียมของครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่างนั้น มีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในช่วง 244.83 - 522.26 มิลลิกรัม
สำหรับการตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปริมาณไขมันทรานส์ที่พบนั้นเป็นไขมันทรานส์จากธรรมชาติซึ่งองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization, FAO) แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันทรานส์ต้องไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) อย่างไรก็ตาม FAO ยังแนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่เกิน 10% ของค่าพลังงาน (หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) ไว้ด้วย เนื่องจากตระหนักว่าไขมันทั้งสองประเภทยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงต้องควบคุมปริมาณการบริโภคร่วมกัน
รศ.ดร.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า แม้ประเทศไทยมีการแบนไขมันทรานส์ โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะต้องไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2562 แล้ว แต่ไขมันทรานส์สามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่าง ๆ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบบางชนิดที่ได้จากสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งตามธรรมชาติมีไขมันทรานส์เป็นองค์ประกอบ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น แต่ทั้งนี้แหล่งที่มาต้องไม่ใช่จากมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน
“ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ส่วนใหญ่ให้พลังงานสูง โดยเฉพาะประเภทที่มีการใช้เนย/ครีมเป็นส่วนประกอบมาก มีทั้งไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่สูง การบริโภคเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงควรระมัดระวังไม่รับประทานมากเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีควรบริโภคผัก ผลไม้ ให้มากพอ เป็นประจำทุกวัน” รศ.ดร.วันทนีย์กล่าว