Skip to main content

คนที่ชอบอ่านรีวิวหนังสืออาจเคยได้อ่านเพจ ‘รองขาโต๊ะ’ มาก่อนแล้ว เพจนี้เป็นเพจรีวิวหนังสือที่แตกต่างไปจากเพจอื่นๆ ด้วยเกณฑ์การให้คะแนนที่กลับหัวกลับหางจากคนอื่น นั่นคือ ให้คะแนนว่าหนังสือนั่นน่านำไปรองขาโต๊ะเท่าไหร่ ส่วนหนังสือที่ควรอ่านนั้นจะได้คะแนนติดลบ เพราะไม่น่านำไปรองขาโต๊ะนั่นเอง 'ดิ โอเพนเนอร์' ชวนแอดมิน ‘รองขาโต๊ะ’ คุยถึงการทำเพจ หนังสือฮาวทู ชีวิตหลังโควิด-19 และความฝันในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ในละแวกบ้าน

‘อัด’ แอดมินเพจ ‘รองขาโต๊ะ’ เล่าให้ฟังว่า เขาโพสต์ด่าหนังสือเล่มหนึ่งอย่างจริงจัง จนคนรู้จักบอกให้เขาเปิดเพจรีวิวหนังสือไปซะเลย โดยเขาเองก็มีความตรงไปตรงมาว่านี่เป็นความคิดเห็นของเขาและอคติของเขาเองที่มีต่อหนังสือบางเล่ม ต่อให้เขาได้รับหนังสือมาอ่านฟรี ก็จะรีวิวตามความจริง ซึ่งใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นสิทธิของผู้อ่าน และเมื่อมีคนติดตามเพจของเขามากขึ้น เพจของเขากลายเป็นตัวกลางในการแจกหนังสือน่าอ่านบ้าง เป็นแหล่งให้คนมาร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับหนังสือต่างๆ บ้าง

 

 

คนใช้หนังสือฮาวทูมาหลอกกัน


โพสต์ที่ทำให้คนหันมาสนใจและติดตามเพจ ‘รองขาโต๊ะ’ กันมากขึ้นมักจะเป็นเพจที่เขาวิพากษ์วิจารณ์หนังสือฮาวทู ซึ่งมักเป็นหนังสือขายดีหรือหนังสือยอดนิยมที่แนะนำแนวทางการใช้ชีวิตหรือแนวทางการมองโลกในแง่บวกทั้งหลาย ซึ่งอัดก็ยอมรับว่า เขาอคติกับหนังสือเหล่านี้ และมักจะเชื่อมโยงหนังสือเหล่านี้เข้ากับพฤติกรรมการขายตรง ซึ่งมักจะวาดฝันให้กับคนฟังหรือคนอ่าน

“เมื่อก่อนเป็นคนอคติเลย แต่ว่าช่วงหลังๆ ผมเริ่มเห็นว่ามันก็มีหนังสือดีอยู่ในนั้น โดยจริงๆ แล้ว เราก็ยังไม่ชอบหนังสือประเภทนั้นอยู่ แต่ว่าพยายามหาอ่าน คือเป็นการทำเพจไปด้วย เมื่ออ่านไปบางที 10 เล่ม เนื้อหาแทบจะเหมือนกันหมดเลย มันอาจจะเพราะว่าแนวนี้มันขายได้ คนก็เลยเขียนออกมา แล้วก็เลยออกมาเหมือนๆ กันหมดเลย”

“หนังสือพวกนี้ถูกไปผูกกับธุรกิจพวกขายตรง เขาก็ชอบแนะนำหนังสือ หรือพวกไลฟ์โค้ชชอบแนะนำหนังสือแบบพูดให้กำลังใจ ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ผิดนะ พูดให้กำลังใจ แต่ว่าผมเคยเจอคนที่ติดอยู่ในโลกความฝัน เราฝัน เราคิดบวก แต่ตัวเองไม่ได้มีทักษะอะไร ก็กลายไปเป็นเครื่องมือของเขา เพื่อให้เขามีรายได้ หนังสือฮาวทูจริงๆ มันไม่ได้หลอกคนครับ แต่คนเอาหนังสือฮาวทูมาหลอกคนกันเอง”

 

รัฐไม่ส่งเสริมให้คนอ่าน

 

อัดเชื่อว่า การอ่านไม่ควรถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่รัฐควรจัดสรรทรัพยากรมาส่งเสริมให้คนได้อ่านและศึกษาหาความรู้ได้อย่างทั่วถึง รวมถึงควรมีนโยบายในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เด็กด้วย เขาเล่าว่า ตอนเด็กๆ เขาเองก็ไม่ชอบโครงการที่โรงเรียนบังคับให้อ่านหนังสือ แต่ตัวเขาเองก็ได้เห็นว่า การอ่านหนังสือทำให้เขามีสมาธิมากขึ้น จากปกติที่เป็นเด็ก ‘อยู่ไม่สุข’ ชอบนั่งเขย่าขา แต่เมื่ออ่านหนังสือแล้วเขา เขาสามารถนั่งนิ่งๆ ได้นานขึ้น

“รัฐอาจจะต้องศึกษามากขึ้นว่ามันมีทางออกยังไงบ้างที่ไม่ต้องบังคับเด็กจนเกินไป ให้เด็กได้เลือกเอง ซึ่งก็แค่เปลี่ยนวิธีการ จากการบังคับมาเป็นหนทางใหม่ๆ ผมก็คิดว่า ถ้าเด็กบางคนรู้สึกว่าถูกบังคับและไม่อยากอ่าน รัฐก็แค่ต้องหาวิธีอื่น แต่เมื่อรัฐไม่สนับสนุนการอ่าน แล้วก็ทำให้การอ่านมันกลายเป็นเรื่องส่วนตัว หมายความว่าคุณจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือ มันก็ทำให้คนอยากอ่านน้อยลงด้วยหรือเปล่า”

“ผมก็เคยลองไปดูตามห้องสมุด บ้านเอื้ออาทรมันจะมีห้องสมุดส่วนกลาง เดินเข้าไปมีแต่หนังสือธรรมะ หนังสือสวดมนต์ คือมันไม่มีหนังสืออะไรให้อ่านน่ะครับ มันเหมือนว่ามันต้องรอคนบริจาคอย่างเดียว ผมก็เคยคุยกับเจ้าของร้านหนังสืออิสระอยู่ร้านหนึ่ง เขาเคยบอก แม้แต่ตอนเขาเรียนเอง เขาเรียนอยู่ศิลปากร หนังสือในมหาวิทยาลัยเขายังมีให้ยืมไม่พอเลย จะต้องเดินไปยืมที่ธรรมศาสตร์ แม้แต่มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ค่อนข้างมีทุนแล้ว มันยังไม่สามารถครอบคลุมความต้องการของคนได้ขนาดนั้น แล้วคนอื่น เด็กๆ มัธยมฯ ล่ะ”

 

ความฝันอยากเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้ชุมชน

 

ห้องสมุดสาธารณะดูจะเป็นสถานที่หายากสำหรับประเทศไทย นอกจากจะมีน้อยและกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองแล้ว ยังมีหนังสือน้อย ไม่หลากหลาย และไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดีอีกด้วย ทำให้อัดมีความฝันว่า อยากรวบรวมหนังสือที่เขามีรวมกับของเพื่อน แล้วเปิดห้องสมุด หรือเปิดร้านกาแฟ พร้อมพื้นที่อ่านหนังสือฟรีในละแวกบ้านที่เขาอยู่ เพราะหนังสือได้เปลี่ยนชีวิตเขา จากคนที่เคยติดยาเสพติด จนเลิกยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด กลับมาใช้ชีวิตปกติ เขาก็หวังว่า ถ้าเขามีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปอ่านหนังสือได้ฟรี หนังสือก็อาจจะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้เช่นกัน

“ผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีความฝันเหมือนกันเลยคือ เราอยากให้ละแวกที่อยู่อาศัยของเรา มันมีพื้นที่การเรียนรู้ให้กับสังคม ก็ในเมื่อรัฐไม่จัดสรรให้เรา เราก็อาจจะต้องจัดกันเอง เราอยากจะเปิดเป็นห้องสมุด โดยให้ห้องสมุดนั้น อาจจะไม่ใช่ห้องสมุดแบบห้องสมุดมหาวิทยาลัย มันอาจเป็นหนังสือทั่วไปที่เราเก็บกันมา ให้คนในพื้นที่ได้เข้ามาใช้อ่าน นั่งอ่านฟรี แต่ว่าในเมื่อเรายังอยู่ในโลกทุนนิยม เราก็ต้องใช้เงินใช่ไหมครับ เราก็อาจจะประกอบธุรกิจอะไรเล็กๆ สมมติเราจะเช่าตึกซัก 3 ชั้น ประกอบธุรกิจ ขายอาหาร กาแฟ นู่นนี่ เพื่อให้มันครอบคลุมค่าใช้จ่ายของการใช้บริการได้”

 

ไม่ว่ายังไงก็จะไม่ขายหนังสือ

 

อัดก็ยังไม่แน่ใจว่า เขาจะทำความฝันในการเปิดพื้นที่อ่านหนังสือฟรีให้เป็นจริงได้เมื่อไหร่ แต่เขาตั้งใจว่าจะทำมันให้ได้ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้แม้เขาจะตกงานกะทันหันปลายปี 2563 ที่มีโควิด-19 ระบาดระลอก 2 เขาก็ไม่ยอมขายหนังสือของเขาตามคำแนะนำของลูกเพจ แต่เลือกที่จะหางานใหม่ พร้อมกับขายกาแฟโคลด์บรูว์ในเพจไปด้วย


“ก่อนนี้ก็เป็นพนักงานขับรถครับ แล้วก็สัญญาจ้างหมด ก็มาตกงานในช่วงโควิดระลอก 2 ตอนนี้ขายกาแฟโคลด์บรูว์ครับ แต่ว่าเราทำเอง คือเกือบทุกขั้นตอนเราทำคนเดียว มันก็เลยจะออกมาทีละหน่อยๆ ค่อนข้างที่จะช้า แต่ละล็อต แต่ก่อนที่เคยทำงานในร้านกาแฟ ก็รู้จักแต่เครื่องชงกาแฟ แต่ผมมีเพื่อนสนิทที่มีร้านกาแฟ ซึ่งเขาค่อนข้างซีเรียสกับกาแฟ ผมก็ได้ความรู้จากเขาว่า กาแฟมันมีกี่ชนิด มันมีวิธีการอะไรยังไง ขั้นตอนยังไง แล้วตอนหลังเราก็เริ่มหาหนังสือเกี่ยวกับมาอ่านเอง”


กาแฟของเพจ ‘รองขาโต๊ะ’ นั้นก็ยังมีการออกแบบให้คงคอนเซปต์เกี่ยวกับหนังสือ โดยอัดกล่าวว่า “มันเป็นเพจหนังสือ เราก็อยากเลือกหนังสือที่เราชอบมาล้อเลียนน่ะครับ ที่ผมคุยกับเพื่อนเอาไว้ว่าจะทำคือ เราพยายามจะดึงรสชาติกับอารมณ์หรือเนื้อหาของหนังสือให้มันเชื่อมโยงกันว่า กาแฟตัวนี้มันสื่อไปถึงหนังสือเล่มนี้ได้ยังไง เช่น กาแฟตัวที่รสชาติเข้มข้นดื่มแล้วตาสว่างก็จะใช้ป้ายที่คล้ายหนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา และ พญาอินทรี’ ของณัฐพล ใจจริง เพราะเป็นหนังสือที่คนบอกว่าอ่านแล้วตาสว่าง”


อนาคตของ ‘รองขาโต๊ะ’


ในยุคที่ใครๆ ก็หารายได้จากโซเชียลมีเดีย อัดกลับไม่เคยคิดว่าจะหารายได้อะไรจากการทำเพจรีวิวหนังสือเลย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขาประเมินแล้วว่า การทำรายได้จากเนื้อหาออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น และเขาก็ไม่อยากให้งานอดิเรกของเขากลายมาเป็นงานประจำที่จำเป็นต้องทำ


“ผมว่าด้วยเนื้อหาเพจมันน่าจะไปไม่ได้ไกลขนาดนั้นครับ ผมก็เลยมองมันว่าเป็นงานที่ หลังจากว่างจากงานที่มีรายได้ แล้วค่อยทำดีกว่า จริงๆ ถามว่าอยากทุ่มเต็มตัวไหม มันก็น่าทุ่ม แต่มันมีความเสี่ยง เราไม่มีต้นทุนเลย ถ้าเราเอาเวลาไปทุ่มตรงนี้ แล้วเราไม่ได้เงินเนี่ย”


“คือจริงๆ ผมก็ไม่ได้อยากจะทุ่ม ไปเป็นอาชีพนั้นเต็มตัวด้วย คือผมรู้สึกว่ายังมีงานอื่นที่ มันทำแล้วสนุกเหมือนกัน ผมมีเพื่อนที่เป็นสตรีมเมอร์เลย การเป็นสตรีมเมอร์มันต้องทำงานเหมือนเราทำงานประจำ ตื่นมาต้องมาสตรีมเกม พักกินข้าวแล้วต้องสตรีมเกม ผมไม่อยากมีชีวิตวนลูปแบบนั้นด้วยมั้งครับ คือเรายังอยากมีเวลาไปทำอย่างอื่น”


นอกจากเพจแล้ว อัดยังสนใจทำพอดแคสต์ด้วย ดังนั้น ช่วงแรกเขาจึงรวบรวมเพื่อนฝูงที่มีความสนใจหลากหลายมาทำพอดแคสต์ด้วยกัน แล้วหากชีวิตของเขาลงตัวเมื่อไหร่ ค่อยเริ่มทำพอดแคสต์ของ ‘รองขาโต๊ะ’ เอง


“เคยมีแฟนเพจมาบอกว่า ทำพอดแคสต์บ้างสิ เพราะว่าเขาอ่านไม่ค่อยไหว สายตาไม่ค่อยดี ไม่อยากจ้องโทรศัพท์นานๆ ทำพอดแคสต์ เขาจะได้เปิดฟังได้ แต่พอดแคสต์ของรองขาโต๊ะเอง จริงๆ ยังไม่ได้ทำครับ ตอนแรกมีแพลนว่าจะทำ แต่ว่าพอชีวิตมันยุ่งมากก็เลยยังทำไม่ได้”


“ที่ทำตอนนี้คือเป็นช่อง The Chit Chat ซึ่งอันนี้ทำกับเพื่อน เรามีเวลา คือหลายคนช่วยกันทำ แต่ช่องนี้ก็จะเป็นคุยเรื่องทั่วไปครับ ตอนแรกผมประกาศหาว่า จะทำพอดแคสต์ของตัวเอง แต่คราวนี้ พอมาหลายคน เรารู้สึกว่า จริงๆ มันไปไกลได้มากกว่าการทำพอดแคสต์รายการหนังสือ เพราะแต่ละคนอ่านหนังสือเยอะ อ่านการ์ตูน ดูหนังฟังเพลง ไม่งั้นเราก็คุยทุกเรื่องไปเลยดีกว่า กลายเป็นวงสนทนาไปเลยไม่ดีกว่าหรอ เราก็จะเวียนกัน ให้แต่ละคนคิดมาว่าวันนี้เราอยากจะเสนอประเด็นอะไรมา คือมันเป็นรายการเหมือนการยกวงสนทนา 1 วงขึ้นไปอยู่ในพอดแคสต์”