Skip to main content

ที่หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จัดเสวนา “2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ เรามาไกลแค่ไหนกับขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน”  โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมกว่า 15 องค์กร 

โดยในช่วงเช้ากลุ่มอนุรักษ์ฯและเครือข่ายได้ร่วมกันจัดพิธีเลี้ยงปู่ย่าป่าฮวกและทำบุญตักบาตรครบรอบ 2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ พร้อมทั้งแห่ผ้าป่ากองทุนเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองหินและโรงโม่จากหมู่บ้านบ้านผาซ่อนถึงหน้าหมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี และในช่วงบ่ายได้ทีการจัดเสวนาในหัวข้อ " “2 ปี ปิดเหมืองหินดงมะไฟ เรามาไกลแค่ไหน กับขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน”

“นักต่อสู้ดงมะไฟ”ปลื้มชัยชนะได้เหยียบเหมืองในรอบ 30 ปี หวังรัฐบาลชุดหน้ามีตัวแทนของชาวบ้านเข้าไปยกเลิกเหมืองหิน  

ไชยศรี สุพรรณิการ์ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กล่าวว่า วันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้วเราได้เดินทางไปยัง จ.หนองบัวลำภู เพื่อยื่นข้อเสนอให้กับทางจังหวัดให้ยกเลิกพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ทำเหมืองเพราะว่าเราพบว่าเขาทำผิดกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งอยู่นอกเขตประทานบัตร เป็นพื้นที่แหล่งน้ำซับซึม และแหล่งโบราณวัตถุ  โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ปิดเหมืองหินและโรงโม่ 2.ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ 3.พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว  แต่ทางจังหวัดไม่ได้สนใจใยดีต่อข้อเรียกร้องของเรา จนเรามานอนกลางดินกินกลางทรายที่นี่ ช่วงแรกก็มีครูมาสอนเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม วิชาความปลอดภัยทำให้ชาวบ้านมีความรู้ที่จะพูดคุยกับภาครัฐและคนข้างนอกได้รับรู้ เมื่อ 2 ก.ย.63 เราได้เสียน้ำตาแห่งความดีใจเมื่อรถโม่หินทั้ง 4 คันได้ถอยออกไป  และใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าได้หมดลง ทำให้เราได้เข้าไปเหยียบพื้นที่ป่าที่ไม่เคยได้เข้าไปเหยียบมากว่า 30 ปี และคิดว่าจะฟื้นฟูภูเขาลูกนี้ให้เป็นของเราและต้องเป็นของเราไม่ใช่ของนายทุนคนใจบาปต่อไป ส่วนเราจะมีข้อเสนออะไรต่อรัฐบาลต่อไปนั้น  เราไม่ให้ความสำคัญกับรัฐบาลชุดนี้ และไม่ขอความช่วยเหลือจากเขา เราปิดเหมืองเอง ฟื้นฟูพัฒนาเอง และหวังว่ารัฐบาลชุดหน้าจะมีตัวแทนของเราเข้าไปยกเลิกเหมืองหิน แหล่งหิน และพัฒนาฟื้นฟูทุกพื้นที่เครือข่ายของเราด้วย 

บัวลอง นาทา กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า ชัยชนะในสิทธิของเรา ผู้หญิงมีสิทธิปกป้องบ้านเมือง เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้วยสองแขนสิบมือของชาวบ้าน ดีใจที่พี่น้องไม่เคยทอดทิ้งกัน เราสู้ด้วยสิทธิของชาวบ้านเรามีสิทธิอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย พัฒนาพื้นที่ตรงนี้เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต ซึ่งมีความภูมิใจที่เราเป็นผู้หญิงเราก็สามารถสู้ได้ ทั้งนี้ในความคิดของเราจะต้องขับเคลื่อนเรื่องเอาเหมืองแร่ออกจากประเทศไทยให้ได้ อยากให้แก้กฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิร่วมต่อสู้ คัดค้านหรือปรึกษาหารือกันร่วมกันได้ ไม่ใช่ตั้งกฎเกณฑ์ห้ามชุมนุม อยากให้ยกเลิกกรอบเหล่านี้  โดยเราต้องร่วมมือร่วมใจในเครือข่ายเหมืองแร่ไม่ทิ้งกันเพื่อให้เกิดพลังทั่วประเทศและเกิดการต่อรองกับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ทำอะไรไม่เป็น เพราะเขาเป็นทหาร เขาไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมทุ่งนาป่าไม้เราเป็นอย่างไร เขารักษาเป็นแต่ปืนของตัวเองเท่านั้น 

“กลุ่มรักษ์บ้านเกิด”จี้เลิกเหมืองทองทั่วประเทศหลังสร้างผลกระทบรัฐ-เอกชนไม่เหลียวแล 

รจนา กองแสน ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย กล่าวว่า ประเด็นเหมืองทอง จ.เลยต่อสู้มากว่า 10 ปีแล้ว โดยต้องต่อสู้ทั้งกับอำนาจรัฐและอำนาจทุนอย่างอยากลำบาก เราสร้างกำแพงปิด 3 ครั้งทางเข้าเหมืองไม่ให้รถยนต์เข้าเพราะไม่ต้องการไซยาไนต์แต่ก็ถูกทำลายลง จนกระทั่งใบประทานบัตรเหมืองหมดอายุไป เราไปสู้กันที่ อบต. รัฐก็ตรวจสอบเราเหมือนกัน อบต.ฝ่ายเขามีเยอะกว่าทำอย่างไรไม่ให้ผ่านสภา อบต. ให้แลกคดีกันก็ยอมแลกกับอะไรก็แลก สุดท้ายก็ปิดเหมืองได้ และมีการฟื้นฟู ซึ่งเราให้ดงมะไฟเป็นอาจารย์ของเรา การต่อสู้ของเราทำให้ถูกฟ้อง 27 คดี เรียกว่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ 

“อย่างไรก็ตามเรื่องเหมืองทองที่ประสบปัญหาตอนนี้คือเรื่องเดิมๆ คือผลกระทบที่ใครก็ไม่อยากลงไปช่วยเราแม้แต่หน่วยงานที่อนุญาตให้เกิดเหมือง เราอยากเสนอว่าให้ยกเลิกเหมืองทองในประเทศไม่ต้องมีแล้ว เพราะจากตัวเอง จากเหมืองพิจิตรผลกระทบก็ยังอยู่แต่ยังให้สร้างอีก ไม่ควรเอาเลือดเนื้อของเราไปแลกแค่เศษทอง การมีเหมืองทองเหมือนตายผ่อนส่ง ผลกระทบยังมีอยู่แต่บริษัทก็ปัดตูดหนีไปแล้ว  จ.เลย มีคำขวัญคือเมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาล แต่วันนี้ภูเขามีแต่สารพิษ เมืองทะเลภูเขา สุดหนาวมีแต่ไซยาไนด์ เพราะสารพิษเต็มไปหมดแล้ว รจนากล่าว 

“นักปกป้องสิทธิฯน้ำซับคำป่าหลาย”โอดทั้งเหมืองหิน-ทวงคืนผืนป่าซ้ำเติมทุกข์ชาวบ้าน 

ด้านสมัย พันธโคตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร กล่าวว่า  ขณะนี้พื้นที่ของเรากำลังอยู่ระหว่างการขอใบประทานบัตร เราต่อสู้มาตั้งแต่ปี 59 โดยชื่อกลุ่มมาจากบริเวณทำเหมืองหินซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับซึมที่ชาวบ้านใช้มาตลอดนอกจากประเด็นเหมืองแล้วยังมีเรื่องทวงคืนผืนป่าเข้ามาซ้ำเติมชาวบ้านอยู่ดีๆ ก็ถูกไล่ที่ถูกตัดอ้อย ตัดมันทิ้ง แล้วเอาป่ามาปลูกทับ ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สินและเดือดร้อน นายทุนทำเหมืองได้แต่ไม่ยอมให้พวกเราทำสวนทำไร่ แล้วเอาคดีมายัดใส่เรา แต่เราก็ต่อสู้จนป่าไม้ยอมคืนที่ดินให้และยืนยันว่าจะเข้าทำกินในที่เดิมภายในปีนี้  เราจะสร้างกลุ่มของพวกให้เข้มแข็ง จะไม่ยอมและอ่อนข้อให้พวกเขาอีก ที่ไหนมีเครือข่ายเราจะไปจะไปร่วมต่อสู้ด้วยและไม่ยอมให้มีการประทานบัตรเกิดขึ้น รวมทั้งจะเดินหน้าต่อสู้ในเรื่องประเด็นทวงคืนผืนป่าด้วย 

“รักษ์วานรฯ”ซัด จะเปิดปากเหมืองโปแตสอยู่แล้วแต่ ส.ส.ยังหุบปากเงียบ ปลุกชาวบ้านอย่าเลือกแม้จะเป็นพรรคยอดนิยม

ขณะที่กรรณิการ์ ไชยแสงราช กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร กล่าวว่า  ปัญหาของเราคือบริษัทเหมืองแร่ เขาเข้าไปสำรวจเพื่อจะทำเหมืองใต้ดินในพื้นที่ 1.2 แสนไร่ เราต่อสู้คดีโดยชนะทุกคดี ยกเว้นคดีสุดท้ายคือคดีแพ่ง เขาเรียกค่าเสียหาย 3.6 ล้านบาท แต่ศาลสั่งจ่าย 4.5 หมื่นบาท เรียกว่าถึงแพ้ก็ชนะขาดอยู่ดี เมื่อปี 63 ใบประทานบัตรเหมืองหมดอายุ กฎหมายบอกว่าห้ามต่อแต่ให้ยื่นใหม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุเรศ และเราก็สู้ต่อโดยมีเหมืองแร่โปแตสที่อุดรเป็นต้นแบบ จากนี้จะไปยื่น 6 อบต.ว่าจะเอาอย่างไรกับเหมืองแร่วานรฯ และจะไปหา ส.ส.สกลนคร วันนี้จะเปิดปากเหมืองอยู่แล้วแต่ ส.ส.สกลนคร และอุดรธานียังไม่พูดเรื่องเหมืองแร่โปแตสเลย พูดแต่หาร 100 หาร 500 ล่มสภา ถ้า ส.ส. คนใด ขับเคลื่อนแต่เรื่องการเมืองและเก้าอี้ของตัวเองพวกตนไม่เลือกแน่นอน จำเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคยอดนิยมของภาคอีสานก็ตาม พรรคยอดนิยมเองที่ทำให้เกิดเหมืองวานรฯ ตั้งแต่ปี 45 เป็นต้นมา ต่อมาปี  47 ก็ให้จีนมายื่นขออนุญาต จากนั้น 49 ก็ถูกปฏิวัติ ต่อมาปี 58 รัฐบาลนี้ให้จีนมาขอใบอาชญาบัตรอีก 

“ดังนั้นนักการเมืองไม่ว่าจะมาจากทหารหรือพลเรือนล้วนแต่สืบอำนาจและผลประโยชน์ พี่น้องจำเอาไว้ คนใดขับเคลื่อนแค่เก้าอี้ตัวเองอย่าไปเลือกมัน” กรรณิการณ์กล่าว 

สกต.ปลุกขบวนปชช.ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายตลอดจนรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็น ระบุพรรคการเมืองไหนรับไปปฏิบัติจะยอมรับพรรคนั้น 

ชูศรี โอฬาร์กิจ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่า เริ่มต่อสู้ตั้งแต่ปี 51 ในเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นของบริษัทที่ได้สัมปทาน แต่หมดสัมปทานไปหลายปีแล้ว พื้นที่เอกชนทิ้งร้าง พื้นที่บริษัทบุกรุก เรามีอยู่ 4 ชุมชน การต่อสู้ของเรามีคนล้มหายตายจากไป 4 คน และเป็นผู้หญิง 2 คน  แม้มีพยานเห็นแต่ก็ไม่สามารถจับมือใครดมได้ เป็นการต่อสู้กับอำนาจทุนและอำนาจรัฐทุน ที่โน่นเราเราไม่เชื่ออำนาจรัฐ  มันยิ่งกว่าโจร  จึงต้องมีเวรยามตรวจตราคนเข้าออกชุมชน ดังนั้นการทำงานเราจะโดดเดี่ยวไม่ได้ บทเรียนตรงนี้ทำให้เราตระหนักว่าเราต้องสร้างเครือข่ายและพี่น้องร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายตลอดจนรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม เรากำลังจะเสนอกับรัฐบาลหลังการเลือกตั้งใหม่ ถ้าคนไหน พรรคไหน รับเรื่องของเราไปปฏิบัติเราก็จะยอมรับพรรคนั้น 

“แม่สมปอง” ย้ำต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่-ต้องมีค่าตอบแทนของแม่และคนทำงานดูแล

สมปอง เวียงจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล พี่น้องดงมะไฟไม่มีผลประโยชน์เหมือนปากมูล ที่ต่อสู้แล้วได้ค่าชดเชย แต่เป็นการต่อสู้เพื่อชุมชน ซึ่งเป็นบทเรียนให้พื้นที่อื่นสร้างความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต  ทั้งนี้เรากำลังรณรงค์ในเรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญใหม่ เรากำลังเสนอกับนักการเมือง พรรคการเมือง หรือ ส.ส.ในอนาคต ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ต้องแก้ทั้งหมด เพราะเห็นปัญหาแล้วว่าส่งผลกระทบต่อชุมชุน มาตราที่เราเคยได้รับตั้งแต่ปี 40 ก็ล้มหมด ดังนั้นต้องล้ม รัฐธรรมนูญ 60 ทั้งกระดาน นอกจากนั้นในรัฐธรรมนูยต้องระบุว่าในระบบรัฐสวัสดิการต้องมีค่าตอบแทนแม่และคนทำงานผู้ดูแล เพราะผู้หญิงและคนทำงานดูแลต้องดูแลทั้งคนในครอบครัวหรือนักต่อสู้ทั้งหลาย เหมือนในบางประเทศที่รัฐบาลดูแลอย่างดี ดังนั้นงบที่จะนำไปซื้อเรือดำน้ำ หรืองบทหาร ก็ตัดมาดูแลช่วยเหลือพวกเราดีกว่า ควรผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งรัฐธรรมนูญใหม่และกองทุนฯ ซึ่งอาจจะประมาณ 5,000 หรือ 3,000 ต่อคนก็ ก็ไปพูดคุยกันต่อไป ซึ่งถ้าไม่ทำรัฐธรรมนูญใหม่เราก็ไม่เลือก 

“กลุ่มรักษ์บ้านแหงลำปาง”ปลุกเครือข่ายเข้มแข็งหวังส่งตัวแทนเข้ารัฐสภา 

แววรินทร์ บัวเงิน ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง กล่าวว่า เราใช้ดงมะไฟเป็นต้นแบบในการต่อสู้ของเรา แต่การต่อสู้ของเราต้องไม่มีคนเสียชีวิต  ซึ่งเราต่อสู้จนได้ชัยชนะ  เขาใช้คดีบังคับเรา เราก็ต้องตามกฎหมาย ทำกฎหมู่ให้เป็นกฎหมาย เขาได้ใบประทานบัตร แต่ไม่สามารถทำเหมืองได้ เพราะเราชนะคดีป่าไม้ เราสามารถทวงคืนป่าไม้ได้ เราไปกรมแผนที่ทหารบอกว่าตั้งหมู่บ้านก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่ป่าและชนะคดีนี้ทำให้การประทานบัตรล้มเป็นโดมิโน เราไม่รู้ว่าจะต่อสู้ไปถึงเมื่อไรและเหมืองจะเกิดขึ้นหรือไม่ ตอนนี้เราต้องบอกชนะทุกวันเพราะยังไม่มีเหมือง และขอขอบคุณทุกเครือข่ายที่เป็นต้นแบบในการต่อสู้ของเรา  ทั้งนี้เราไม่หวังพึ่งนักการเมือง เราทำเอง  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก เราสามารถยึดท้องถิ่นได้ เข้าไปนั่งในสภาท้องถิ่นเองทำให้เราสามารถพลิกมติ อบต. ได้  เราคิดว่าเราเป็นเจ้าของพื้นที่ อย่าคิดว่าต้องไปขอคนอื่นตลอดเวลา การเมืองก็เช่นกันจากจุดเล็กๆ ของเราในพื้นที่วันหนึ่งเราจะไปนั่งในสภา ไม่ใช่สภา อบต. แต่เป็นรัฐสภา เพราะไม่มีใครเล่าเรื่ององเราได้ดีเท่าเราเอง  หวังว่าวันหนึ่ง จ.ลำปางจะมี ส.ส.จากกลุ่มรักษ์บ้านแหงเข้าไปนั่งในสภา ทั้งนี้หาก อยากได้พื้นที่ป่าร้อยละ 80 จากลำปาง กรุงเทพต้องคืนมาร้อยละ 50  และเราจะเดินลงถนนเพื่อกำหนดกฎหมายต่อไป 

“ชุมชนเขาคูหา” จี้ยกเลิกแผนแม่บทจัดการเหมืองแร่-เห็นด้วยแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 

เอกชัย อิสระทะ สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา กล่าวว่า เขาคูหาเป็นเขาลูกโดดแบบที่นี่ เราถูกขีดวงจากหน่วยงานภาครัฐโดยประกาศพื้นที่แหล่งหิน โดยไม่มีประชาชนและชาวบ้านรับรู้เรื่องนี้ เขาประกาศเมื่อปี 2539 เรื่องแรกที่ตนคิดว่าประชาชนได้บทเรียนและได้รับชัยชนะคือเราสามารถขุดเอาความจริงที่เป็นข้อมูลออกมาให้สังคมได้รับรู้และสู้กับขบวนการที่ฉ้อฉลของรัฐ ในเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เราพบความฉ้อฉลมีการใช้เอกสารเท็จในการศึกษาผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นโจทย์ใหญ่กว่าอีไอเอซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นกระบวนการที่ใช้ไม่ได้และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้เรื่องการจัดการเหมืองแร่มีฐานความรู้และข้อมูลของคนที่ก้าวมาก่อนเรา มันไม่ได้เริ่มจากศูนย์และมีกระบวนการขั้นตอนที่จะเป็นบทเรียนให้คนรุ่นใหม่นำไปใช้ต่อไป ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้เขาคูหาขอเป็นฐานหนึ่งของเหมืองหินและเราจะยืนเป็นพื้นให้เพื่อนๆ ที่มีปัญหาเดียวกันในการปกป้องพื้นที่ต่อไป 

เอกชัย กล่าวว่า ในอนาคตคิดว่ามีเรื่องที่ต้องทำใน 3 ระดับ คือ  1. การต่อสู้ 13 ปีของพวกเรา แค่ชะลอขอประทานบัตร แต่ในทางกฎหมายเรื่องการประทานบัตรและขอประกาศแหล่งหินยังอยู่ซึ่งต้องหยุดให้ได้ 2.ต้องคิดต่อว่าจะพัฒนาเรื่องแหล่งทองเที่ยวอย่างไร ทั้งนี้ในเรื่องแผนแม่บทการจัดการแร่ไม่ได้ถูกทำให้เป็นแผนแม่บทอย่างแท้จิรง เวลานี้กำลังจะเข้าสู่แผนฉบับที่ 2 เป็นแผนที่ไม่ได้ไปสู่ปฏิรูปให้พวกเรามีส่วนร่วมได้จริง ดังนั้นจะแก้ไขหรือยกเลิกแผนนี้อย่างไรซึ่งเราจะมีการประชุมกันในเดือนนี้ และ 3. เห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับเป็นภารกิจของประชาชนทั้งประเทศ

“ทะลุฟ้า” เสนอ 3 ข้อแก้ปัญหาทรัพยากร "ไล่ประยุทธ์-เขียนรธน.ใหม่-ยกเลิก 112" 

เป๋า  กลุ่มทะลุฟ้า กล่าวว่า เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินคำพูดคล้ายกันตั้งแต่เด็กคือประเทศไทยอุดมสมบูรณ์มีทรัพยากรมากพอสามารถทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี แต่ที่เราพบคือ 1.2 ล้านคน มีปัญหาที่ดินทำกิน และพื้นที่  1.3 ล้านไร่ มีข้อพิพาททางกฎหมาย ดงมะไฟต่อสู้มา  28 ปีสังเวยชีวิตชาวบ้านไป 4 คน แต่ยังจับมือใครดมไม่ได้ จนคดีหมดอายุความ คำถามตนมีเพียงข้อเดียวระหว่างที่เรารอจนคดีหมดอายุความเจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรอยู่ ซึ่งไม่ได้ทำอะไรและปล่อยให้ชาวบ้านสู้กับนายทุนและเจ้าหน้ารัฐที่เอื้อประโยชน์กัน ทั้งนี้ข้อเสนอของกลุ่มทะลุฟ้าที่เป็นรูปธรรมและประชาชนจะได้ประโยชน์เต็มที่ คือ 1. ไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไป เพื่อกำจัดองคาพยพทั้งหมด และเลือกตั้งใหม่ 2. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ถ้าประเทศไทยมีประชาธิปไตยจริงต้องแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตราไม่เว้นแม้แต่หมวดหมวด 2 และ 3.ยกเลิก มาตรา 112 เพื่อทำให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ในทุกเรื่อง และหาคำตอบได้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการถลุงทรัยพากรของประเทศอย่างแท้จริง 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงท้าย กลุ่มอนุรักษ์ฯยังได้มีการจัดแสดงขับร้องบทเพลงผาซ่อนคอยและการแสดงตีกลองยาวจากเยาวชนนักอนุรักษ์น้อยจากดงมะไฟด้วย