Skip to main content

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สินค้าแบรนด์หรูยังคงขายดี แม้จะเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย เหตุคนรวยคิดว่าพวกเขามีสิทธิใช้จ่าย

ตลอดปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับภาวะค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะค่าอาหาร, เชื้อเพลิง หรือแม้แค่ค่าเดินทางท่องเที่ยว แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่กระทบกับบรรดาคนรวยๆ เพราะพวกเขายังควักเงินในกระเป๋าซื้อรองเท้าคู่ละ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 42,000 บาท) ไปจนถึงรถสปอร์ตคันละ 300,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 10 ล้านบาท) ได้

บริษัทแบรนด์สินค้าที่เหล่าคนรวยใช้กันอย่าง เฟอร์รารี, และบริษัทแม่ของดิออร์, หลุยส์ วิตตอง และเวอร์ซาเช รายงานว่ายอดขายของพวกเขายังคงแข็งแกร่ง พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น และผลลัพธ์ที่เป็นบวกนี้เกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในทางกลับกันวอลมาร์ต, เบสต์ บาย, แก๊ป และบริษัทอื่นๆ กลับปรับลดท่าทีทางการเงินลง โดยให้เหตุผลว่าการใช้จ่ายในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยลดลง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ

มิลตัน เปดราซา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Luxury Institute บริษัทวิจัยตลาดและการจัดการธุรกิจ กล่าวว่า ความร่ำรวยเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่ทรงพลัง และการแสดงสัญลักษณ์นี้มีความสำคัญที่สุดในกลุ่มที่ร่ำรวยมากๆ 

ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา LVMH บริษัทแม่ของแบรนด์แฟชั่นชั้นสูง และเป็นเจ้าของดิออร์ (Christian Dior), เฟนดิ (Fendi), และจิวองชี (Givenchy) รายงานการเติบโตของรายได้ที่เกิดขึ้นอยู่ที่ 21% คิดเป็น 36.7 พันล้านยูโร หรือประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (64) ขณะที่เวอร์ซาเช มีรายรับรายไตรมาสเพิ่มขึ้นเกือบ 30% เป็น 275 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 9,700 ล้านบาท จากปีที่แล้ว และเมื่อตัดตัวแปรเรื่องการผันผวนของสกุลเงิน บริษัทแม่ Capri Holdings ซึ่งเป็นเจ้าของ Michael Kors และ Jimmy Choo กล่าวว่า รายรับโดยรวมนั้นเพิ่มขึ้น 15% เป็น 1.36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 48,000 ล้านบาท 

โดยที่ จอห์น ไอดอล ซีอีโอของ Capri กล่าวว่า แม้มีปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่บริษัทยังคงมั่นใจในเป้าหมายระยะยาว เพราะมีการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือย 

ขณะที่ อมริตา บันตา กรรมการผู้จัดการของ Agility Research & Strategy ซึ่งเชี่ยวชาญด้านผู้บริโภคกลุ่มร่ำรวย กล่าวว่า แม้อุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือยจะมีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ แต่ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดใหญ่ก็กำลังเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจฟุ่มเฟือยในปัจจุบัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2008 (2551) และผู้บริโภคที่มีรายได้สูงในปัจจุบันรู้สึกผิดน้อยกว่ากับการใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะพวกเขารู้สึกมีสิทธิที่จะใช้ความมั่งคั่งของพวกเขา