Skip to main content

คำว่า ‘แม่’ มีหลายหลายมิติ ทั้งคุณแม่ ขุ่นแม่ หรือแม้กระทั่งตัวแม่ The Opener สัมภาษณ์พิเศษ ‘เจี๊ยบ-อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คือ บุคคลที่มีบทบาทเป็นทั้งตัวแม่ในสภา พระมารดาแห่งม็อบ และคุณแม่ลูก 2 ในชีวิตส่วนตัว 

อมรัตน์ คือ คนที่มีบทบาทที่โดดเด่นในสภาผู้แทนราษฎรทั้งการอภิปรายในประเด็นสิทธิมนุษยชน และในกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เธอเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากมาตรา 112 ที่มีต่อสื่อมวลชนและประชาชน รวมทั้งยังเป็นนายประกันตัวเยาวชนที่โดนจับกุมในข้อหาทางการเมืองมากว่า 30 ราย นอกจากนี้หลังเวลางาน ในบทบาทของประชาชนทั่วไปเธอก็มักจะไปร่วมแสดงพลังทางการเมืองกับเยาวชนในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยด้วย

 

มารดาแห่งม็อบ สู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างไม่เคยเกรงกลัว


เธอเล่าให้ฟังว่า เป้าหมายในการทำงานการเมืองคือการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศไทย เมื่อมีโอกาสเข้ามาเป็น ส.ส. และทำงานด้านนี้แล้วก็ต้องทำให้มากขึ้น กล้าหาญให้มากขึ้น เพื่อพูดและทำแทนประชาชนที่เลือกตัวเองเข้ามา คนที่เขาไม่มีพื้นที่ที่จะพูดหรือทำแบบตัวเอง เมื่อถามว่าการที่ยืนตรงข้ามกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจมีอะไรที่ต้องเสีย หรือต้องแลกไปบ้าง? เธอบอกว่า ไม่เคยรู้สึกว่าเสียอะไรเลย แต่รู้สึกว่าถ้าเกิดไม่ได้ทำแบบที่ทำ นี่แหละคือสิ่งที่จะเสียโอกาส ลูกสาวก็เคยถามว่า แม่จะตายไหม? กลัวแม่มีอันตรายที่ไปแข็งกร้าวต่อสู้กับผู้มีอำนาจ เธอก็ตอบลูกไปว่า ถ้าคนจะตายก็ต้องตาย แต่ตายแบบได้ทำอะไรอย่างที่อยากทำดีกว่าอยู่จนถึง 90-100 ปี อายุยืน แต่ไม่ได้ทำอะไร

อมรัตน์ บอกว่าเธอมีลูกสาว 2 คน อายุ 30 และ 31 ปีตามลำดับ แต่ละคนก็มีครอบครัวแล้ว เธอจึงไม่มีภาระและสามารถทำอะไรอย่างที่อยากทำได้ แต่พอบทบาททางการเมืองของเธอเริ่มชัดเจนขึ้น จากตอนแรกๆ ที่ลูกๆ ไม่เข้าใจ ก็เริ่มเข้าใจ ทั้งลูกและสามีเป็นกำลังใจให้ ค่อยช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เช่นงานด้านไอทีที่เธอไม่ถนัด ขณะเดียวกันเพื่อนๆ ลูกก็เริ่มชื่นชอบและมาเป็นแฟนคลับเธอ แล้วลูกก็เริ่มมาชอบบทบาทของแม่ตามเพื่อน อมรัตน์ เล่าด้วยรอยยิ้ม

แต่มักจะคำถามผ่านมาทางลุกและสามีบ้างเวลาที่ไปเจอเพื่อนข้างนอกว่า “อยู่บ้านแม่เป็นคนดุไหม?” อมรัตน์เลยขอใช้พื้นที่นี้ชี้แจงว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่คนดุ แต่ที่ต้องมีอารมณ์เกี้ยวกราดเวลาเจอกับ พล.อ.ประยุทธื จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในสภาฯ เพราะเขาเป็นคนที่สมควรได้รับ เขามักจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เช่นชี้หน้าผู้แทนราษฎรในสภา ซึ่งก็สมควรต้องมีคนที่ชี้หน้ากลับ สิ่งที่เธอไม่ชอบที่สุดก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ มักจะพูดซ้ำๆ ด้อยค่าเยาวชนว่าที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นเพราะมีคน หรือพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นความคิดที่ล้าหลังและสะท้อนความเขาไม่เคยมองเห็นความผิดพลาดของตัวเองในการบริหารราชการแผ่นดินจนคนต้องออกมาประท้วง แถมยังใช้กฎหมายสร้างความกลัวให้ประชาชน

 

เห็นต่างนิยามคำว่า ‘แม่’ กับพิธีกรรมประกอบสร้างความรัก


เมื่อถามถึงนิยามคำว่า ‘แม่’ ในมุมมองของอมรัตน์ เธอกล่าวว่า สังคมดราม่ากับคำว่าแม่มากเกินไป คาดหวังกับคำว่าแม่มากเกินไป เช่น แม่ต้องเสียสละ หรือแม่ก็มักจะเอาความคาดหวังตัวเองไปกดดันลูก เป็นต้น จริงๆ แล้วแม่ก็คือคนธรรมดาที่ก็มีทำผิดๆ ถูกๆ มีผิดพลาด เราก็ไม่เคยเป็นแม่มาก่อน แล้วอยู่ดีๆ ก็ต้องมาเป็นแม่ มันก็แค่ขวนขวายศึกษาหาความรู้ แต่มันก็ผิดพลาดได้ ตัวเองก็ไม่กล้าเคลมว่าเป็นแม่ที่ได้เรื่อง เพราะเป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่องได้ราวในบางอย่างเหมือนกัน บางอย่างก็เรียนรู้ เติบโตไปพร้อมกัน

อมรัตน์ ยอมรับว่าเธอเป็นคนเลี้ยงอะไรไม่ค่อยเป็น ตามใจ และไม่มีระเบียบ จนลูกเคยบอกว่า ถ้ามีหลาน เขาก็ไม่เอามาให้แม่เลี้ยง เพราะกลัวตามใจจนเสียเด็ก ยังโชคดีนะที่หนูไม่เสียเด็ก อมรัตน์ กล่าว เธอบอกว่าเธอเป็นคนที่มีวิธีการเลี้ยงลูกไม่ได้เป็นไปตามกรอบของสังคม เช่น ลูกเป็นคนเรียนดี เวลาโรงเรียนจัดติวพิเศษเพื่อที่จะจะส่งลูกไปแข่งขันอะไร เธอก็จะต่อต้านโดยการพาลูกไปเที่ยว เพราะเธอเห็นว่าลูกอุตส่าห์เรียนเก่งแล้วก็ควรได้รับรางวัลเป็นการพักผ่อนกับครอบครัวและโรงเรียนควรทุ่มเทติวให้เด็กที่ยังไม่เก่งมากกว่า

เช่นเดียวกับพิธีวันแม่ เธอเล่าว่าเคยเข้าร่วมแล้วรู้สึกเขินอายที่ต้องไปนั่งบนเวทีให้ลูกคลานเข่ามากราบและมอบดอกมะลิ มันไม่เป็นธรรมชาติ ทั้งสถานที่และอารมณ์ 

“อยู่บ้านไม่เคยไหว้ ไม่เคยอะไรกันเลย แล้วอยู่ดีๆ มาคลานๆ มันไม่ได้ซึ้งมันกระอักกระอ่วน มันกระอักกระอ่วน บอกจริงๆ เลย แล้วทำไมมันต้องมาแสดงความรักกันอย่างนั้นอ่ะ เขาก็รักกันทุกวันอ่ะ” อมรัตน์ กล่าว

ขณะเดียวกันมันไปสร้างปัญหาให้กับน้องๆ เด็กๆ หลายคนที่แม่ของเขาไม่พร้อมที่จะมานั่งให้ลูกกราบแบบนี้ ตั้งเยอะแยะมากมาย ลูกบางคนเขาก็อยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ เธอถามต่อว่าเมื่อไรจะเลิกพิธีกรรมแบบนี้ ไม่เห็นด้วย เพราะทุกปีก็มีเด็กที่แอบไปร้องไห้ ที่แม่ตัวเองไม่ได้มา แล้วมันก็ไม่ได้ผิดอะไร แล้วมันก็ไม่ได้มีแม่ที่ไหนดีกว่ากัน หรือบางครั้งที่ครูสั่งให้ลูกปลูกมะลิให้แม่แล้วเอามาส่งครู เธอเองก็ไปขอมะลิจากห้องที่เพิ่งไปส่งครู มาให้ลูกเอาไปส่งอีกที

อย่างไรก็ตาม อมรัตน์เองก็มีวิธีในการแสดงความรักความหวังดีต่อลูก เธอบอกว่าทุกวันนี้ที่ทำอยู่ การเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งในและนอกสภา เธอบอกว่าสังคมที่มันเป็นแบบนี้ ย่อมส่งผลเสียต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมทั้งลูกตัวเอง เห็นได้จากเทรนด์ที่เด็กๆ อยากย้ายประเทศ เธอบอกว่าถ้าวันนี้เธอไม่กล้าหาญเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนที่ถูกอำนาจรัฐกดขี่ คนที่จะต้องเสียโอกาสก็คือคนรุ่นใหม่รวมทั้งลูกเธอ “ก็ทำให้เขานั่นแหละ จริงๆ ก็ทำเพื่ออนาคตของเขานั่นแหละ” เธอกล่าวปิดท้าย