เดือนที่ผ่านมามีงานกรุงเทพหนังกลางแปลง ที่สร้างปรากฏการณ์และประเด็นให้ถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ การปรากฏตัวของนก สินจัย เปล่งพานิช ในงานการฉายหนังเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ ที่สยามสแควร์ เนื่องด้วยคนทำงานเบื้องหลังงานกรุงเทพหนังกลางแปลงในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมที่ต่อต้านการรัฐประหาร และนก สินจัย เอง คืออดีต กปปส. หนึ่งในตัวแรกที่ก่อให้เกิดการรัฐประหารในปี 2557 ในประเทศไทย และนก สินจัย เอง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถูกแขวนจากฝั่งที่เรียกตนเองว่า ‘ฝั่งประชาธิปไตย’ มาโดยตลอด
การที่นก สินจัย ซึ่งเป็นหนึ่งในนักแสดงที่มีบทบาทสำคัญมากในหนังเรื่องรักแห่งสยามปรากฏตัวในงานดังกล่าวจึงมีทั้งความตึงเครียดและการดีเบตกันเกิดขึ้นว่า หากคนจัดงานซึ่งส่วนมากเป็นนักกิจกรรมฝั่งประชาธิปไตย (ที่หลายคนก็มีคดีติดตัว) ปกติแล้วจะวิพากษ์วิจารณ์จะแบนบรรดา กปปส. มาโดยตลอด ไฉนจึงยอมให้นก สินจัย มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย (มองเฉพาะความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองในมุมกลุ่มคนจัดงาน ไม่รวมถึงมุมคนมางาน)
ดีเบตไม่รุนแรงมากนัก อาจจะเป็นเพราะ หนึ่ง งานครั้งนี้ไม่ใช่งานกิจกรรมทางการเมืองโดยตรง เพียงแต่กลุ่มคนจัดงานมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่งซึ่งขัดแย้งกับคที่ถูกเชิญมางานเท่านั้น สอง ปฏิเสธไม่ได้ว่านก สินจัย มีบทบาทสำคัญต่อหนังเรื่องนี้อย่างมาก และเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ในแง่ภาพยนตร์ และสาม โพสต์จากเฟซบุ๊กของมะเดี่ยว ชูเกียรติ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ที่โพสต์หลังจากจบงาน ที่สะท้อนให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของตนเองต่อประเด็นความขัดแย้งที่ทุกคนคิดอยู่ในใจแต่ยังไม่มีใครพูดออกมาตรงๆ โดยเฉพาะในมุมมองที่ว่า
“เราคิดจะอยู่ร่วมกันให้ได้มากกว่าจะทำลายล้างกัน” ที่ทำให้ประเด็นเรื่องการพยายามตั้งคำถาม หรือหาเส้นของ Cancel Culture ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเบาบางลง ซึ่งที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบยกกลับมาพูดถึงหรือพิจารณาว่าจริงๆ มันมีเส้นหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ กรณีที่เติร์ด Tilly Birds ซึ่งเป็นนักร้องที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมืองในฝั่งประชาธิปไตย ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มชูสามนิ้ว ร่วมร้องเพลงกับ แก้ม วิชญาณี เปียกลิ่น ซึ่งเป็นนักร้องที่มีความคิดเห็นในฝั่งอนุรักษนิยม ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าสลิ่ม ในรายการร้องข้ามกำแพงก็เคยเป็นประเด็นถกเถียงมาแล้วในระดับหนึ่งว่า
ผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจะมีเส้นแบ่งอย่างไร แค่ไหน กับอีกฝั่งที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้าม โดยเฉพาะเมื่อมองในมุม Cancel Culture จะปฏิเสธทั้งหมดโดยไม่สมาทานกันเลยแม้แต่น้อย หรือจะมีจุด มีเส้น ที่ยังสามารถสมาทานกันได้
เรื่องนี้ถูกจุดประเด็นขึ้นอีกครั้งจากเหตุการณ์การเยือนไต้หวันของแนนซี่ เพโลซี่ ซึ่งทำให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจ รวมไปถึงนักร้องที่กำลังโด่งดังเป็นกระแสมากๆ ในเมืองไทยอย่างแจ็คสัน หวัง ที่ออกมาให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่าสนับสนุนนโยบาย ‘จีนเดียว’ เท่านั้น และหากมองย้อนกลับไปก็จะพบว่าคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดียของไทยเอง ซึ่งอาจจะเป็นอากาเซ่ (แฟนคลับวง GOT7 ที่แจ็คสันสังกัด) หรือไม่เป็นก็ได้ เคยสร้างปรากฏการณ์ #MilkTeaAlliance พันธมิตรชานม กับฮ่องกง และไต้หวันมาแล้ว ในการปฏิเสธการอ้างอำนาจจากจีน และยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตย
ซึ่งทำให้เกิดคำถามและกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาก็คือ แล้วบรรดาอากาเซ่หรือแม้แต่คนที่นิยมชมชอบแจ็คสัน หวัง ที่เคยเป็นพันธมิตรชานมหรือปฏิเสธนโยบายจีนเดียว จะมีความคิดเห็นหรือปฏิกริยาอย่างไรต่อแจ็คสัน หวัง จะวิพากษ์วิจารณ์ ประณาม แขวน แบน ในแบบ Cancel Culture เหมือนอย่าางที่ผ่านมาที่เคยทำกับคนอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกันหรือไม่
เมื่อสำรวจความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ในโลกทวิตเตอร์ ก็จะเห็นว่า มีการใช้ความคิดเห็นหลากหลายแนว ตั้งแต่ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องของชาตินิยม และการเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ความเห็นต่างอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น
“เค้าเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ต้องรักชาติ”
“ว่าแจ็คสันหวังเป็นสลิ่ม fact คือเค้าเป็นคนจีนพ่อแม่จีน และกฎหมายบ้านเค้าแรง เค้ามีครอบครัวธุรกิจที่จีน การแสดงจุดยืนแบบนี้ก็ไม่แปลก ตราบใดที่เค้าต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น”
“เอาตรงๆ นะ ดาราจีนที่อยู่ประเทศคอมมิวนิสต์เลือกได้หรือป่าวว่าจะไม่สนับสนุน ถ้าไม่สนับสนุนก็โดนคนจีนแบนอ่ะ ชื่อเสียงหาย ธุรกิจเจ๊ง ถ้าคุณเป็นแจ็คสันคุณจจะทำยังไง”
หรือไม่ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา แต่เบี่ยงไปประเด็นอื่น เช่น ประเด็นเรื่องเป็นจีนแผ่นดินใหญ่หรือฮ่องกง หรือประเด็นอื่นๆ เช่น
“หลายคนอาจไม่รู้ว่าแจ็คสันคือคนจีนที่ครอบครัวมาอยู่ฮ่องกง เขาบอกตลอดว่าเป็นคนจีน ก็อย่ายัดเยียดให้เขาเป็นคนฮ่องกงที่สนับสนุนจีนเลย”
“ก่อนจะว่าแจ็คสัน เอาประเทศตัวเองให้นรอดก่อน กลับมาดูดารานักร้องบ้านตัวเองก่อน อิคนอไม่ไหว”
หรือประชดประชันความคิดเห็นของแฟนคลับที่พยายามหาเหตุผลเพื่อปกป้อง เข้าข้าง และเข้าอกเข้าใจแจ็คสัน หวัง ในกรณีนี้ เช่น
“พอมีประเด็นเรื่องแจ็คสันหวังวันไชน่าทุกคนเข้าอกเข้าใจ พอเป็นลิซ่าเข้าไว้อาลัยรุมสาปกันค่า”
“จุดแข็ง : แบนดาราสลิ่มให้หมด จุดอ่อน : รักแจ็คสันมากมาย”
แต่ก็มีหลายความคิดเห็นที่พยายามจะรอมชอม และมองว่า Cancel Culture อาจจะไม่ใช่การแบนทั้งหมด เชื่อมโยงทุกเรื่องมาสู่ตัวบุคคล แต่เป็นการเลือกมองเป็นประเด็นๆ ไป
“เราสนับสนุนเค้าได้ เราก็ออกตัวได้ว่าสนับสนุนเค้าด้านไหนบ้าง และด้านไหนที่ไม่เห็นด้วย ก็ออกตัวว่าไม่เห็นด้วย ยอมรับในความเห็นต่าง”
ในขณะเดียกวัน ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและนักกิจกรรมทางการเมืองก็ได้โพสต์ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่าหลักการในเชิงประชาธิปไตยจะต้องหนักแน่น
“บางทีดิชั้นก็งงในความเป็นแฟนคลับหวังของคนไทย โดยเฉพาะฝั่งประชาธิปไตย คือถ้าอีสลิ่มไทยจะเชียร์หวัง ดิชั้นเข้าใจได้ แต่ฝั่งเรานี่แหละ ที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในบ้านของตัวเอง พอเจอเซเลปที่ตัวเองชอบ ที่เค้าไปชอบเผด็จการ กลับเห็นว่าเป็นเรื่องที่รับได้ ดังนั้น คนพวกนี้ไม่ได้มีหลักการอะไร มีแต่ความคันเท่านั้นค่ะ”
ความคิดเห็นอันหลากหลายนี้ มีความน่าสนใจทั้งในแง่การมอง ยึดมั่น และปฏิบัติตัวตามหลักการประชาธิปไตย ว่าต้องแค่ไหนอย่างไร เราต้องปฏิเสธทั้งหมดเพื่อให้ Cancel Culture เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ได้จริง หรือจะมองในมิติอื่น ที่แยกขาดระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวบุคคล กับเรื่องอื่นๆ เช่น ผลงาน ของตัวบุคคลนั้นๆ ที่มีความแตกต่างจากอุดมการณ์ทางการเมืองของเรา
Cancel Culture มันต้องแค่ไหน อย่างไร แม้อาจจะยังไม่มีคำตอบตอนนี้ ที่ชัดเจน ตายตัว แต่การปะทะสังสรรค์ของความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายมันอาจจะทำให้เราได้กลับไปคิดกับมันอย่างจริงจังเพื่อหาเส้นของตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่ตัวเองจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง