ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดหาชุดลูกเสือให้กับนักเรียนตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ว่า ทุกอย่างต้องไม่เป็นภาระกับประชาชน หากให้กทม.หาก็ต้องสนับสนุนงบประมาณมาด้วย ในส่วนชุดนักเรียนกทม.มีสนับสนุนให้ส่วนหนึ่ง แต่ชุดลูกเสือซึ่งมีราคาสูงอาจเนื่องจากมีอุปกรณ์มาก ดังนั้นต้องมาพิจารณาว่า จริงๆ แล้วชุดเป็นเพียงส่วนหนึ่ง อาจมีรูปแบบที่ง่ายกว่านี้ สิ่งสำคัญคือการฝึกวินัย หรือแนวความคิดมากกว่า หากองค์ประกอบมีราคาแพงก็เห็นว่าไม่จำเป็น น่าจะไปทำอะไรที่มีประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะสามารถปรับรูปแบบได้หรือไม่ หากมีคำสั่งเป็นนโยบายมา กทม.ก็มีหน้าที่ต้องทำตามอยู่แล้ว ซึ่งหากเป็นคำสั่งมาก็น่าจะมีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้ควบคู่กันไปได้ และหากพบปัญหา กทม.ก็จะแจ้งกลับไปเช่นกัน
“ในตอนนี้เราต้องพูดกันด้วยความจริง ไม่ให้เป็นภาระกับผู้ปกครอง และต้องดูแลทุกคน ไม่สามารถเลือกดูแลคนใดคนหนึ่งได้ หากกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าจำเป็นก็คงต้องดูแลเด็กทุกคนให้เท่าเทียมกัน ทั้งหมดนี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่หาทางออกได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อชุดลูกเสือเนตรนารี/ ยุวกาชาด/ชุดนอน/ชุดพละให้กับนักเรียนทุกคน โดยให้ผู้บริหารโรงเรียนจัดซื้อให้ตามความประสงค์ ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดหาชุดลูกเสือให้กับนักเรียน ชั้น ป. 1 ป.4 ม.1และ ม.4 ทุกปีเพราะเป็นระดับที่เริ่มต้นของแต่ละประเภทและระดับของลูกเสือและยุวกาชาด ได้แก่
-ป. 1-3 ประเภทลูกเสือสำรอง ยุวกาชาดระดับ 1
-ป. 4-6 ประเภทลูกเสือสามัญ ยุวกาชาดระดับ 2
-ม.1-3 ประเภทลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ยุวกาชาดระดับ 3
-ม.4-6 ประเภทลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ยุวกาชาดระดับ 4
นอกจากนี้ สำนักการศึกษาได้จัดทำประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องการแต่งเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาดของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยให้การจัดกิจกรรมลูกเสือ/ยุวกาชาดในสถานศึกษาสามารถใช้ชุดนักเรียนร่วมกับผ้าผูกคอ และหมวกได้ กรณีการฝึกอบรมเข้าค่ายสามารถแต่งชุดลำลองร่วมกับผ้าผูกคอและหมวกได้ การเเต่งกายชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด กำหนดให้แต่งในพิธีทางลูกเสือหรือยุวกาชาด เช่น พิธีถวายราชสดุดี หรือพิธีปฏิญาณตนสวนสนาม จึงทำให้โรงเรียนสังกัด กทม. ไม่มีประเด็นปัญหาเรื่องการแต่งกายชุดลูกเสือฯ ดังกล่าว