เราอยากเริ่มก่อนว่า ทุกวันนี้ "สังคมผู้สูงอายุ" เป็นภาวะที่สร้างปัญหาไปทั่วโลกจริง และทุกคนก็รู้ว่าเกิดจากอัตราการเกิดที่น้อยลงของคนยุคปัจจุบัน ตรงนี้ข้อมูลชี้ว่า ผู้หญิงช่วงวัยเจริญพันธุ์ใน 121 ประเทศจาก 227 ประเทศทั่วโลก มีลูกต่ำกว่า 2 คน (ให้เป๊ะคือ 2.01) ซึ่งการมีลูกในอัตราที่ต่ำกว่านั้น คือ อัตราที่จะทำให้ประชากรจะลดลงไปเรื่อยๆ ในระยะยาว
เราจะได้ยินซ้ำๆ ว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะการที่ผู้หญิงออกจากบ้านมาเรียนหนังสือและทำงาน พอผู้หญิงต้องเรียนหนังสือนานขึ้น บทบาทผู้หญิงในทางเศรษฐกิจก็มากขึ้น บทบาทดั้งเดิมของผู้หญิงในฐานะ "แม่" ก็ถูกสั่นคลอน ผู้หญิงเริ่ม "เลือก" จะมีลูกช้าลง น้อยลง หรือไม่มีเลย และภาวะทั้งหมดนี่ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับสังคมบริโภคที่คนต้องทำงานหาเงินมาจับจ่ายซื้อ "สินค้าจำเป็น" ในท้องตลาดที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ
นี่เป็นคำอธิบายมาตรฐานที่อาจทำให้เราเข้าใจปัญหานี้แบบผิดฝาผิดตัว และมองว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม คือ ศัตรูต่อการเพิ่มของประชากร ทั้งที่จริงๆ ปัญหาอาจเกิดขึ้นจากจุดอื่นก็ได้
เราอยากจะเริ่มจากข้อมูลก่อนว่า ย้อนไป 50 กว่าปีที่แล้วในปี 1970 ผู้หญิงไทยยุคนั้นมีลูกกัน 5-6 คนเป็นมาตรฐาน และถ้าเอาอัตราการเจริญพันธุ์ระดับนี้มาเทียบยุคทุกวันนี้ ไทยจะเป็นประเทศท็อป 5 ที่มีลูกเยอะที่สุด
นี่ไม่ได้หมายความแค่ว่า คนไทยมีลูกน้อยลง แต่หมายความว่า คนทั้งโลกมีลูกกันน้อยลง แต่ประเด็นที่อยากจะขยายในที่นี้คือ การมีลูกที่น้อยลงของคนในโลกไม่ได้เป็นไปในอัตราที่เท่ากัน และถ้าลองเปรียบเทียบข้อมูลประเทศต่างๆ เราก็อาจเห็นภาพที่เปลี่ยนไป
เอาง่ายๆ ทุกวันนี้มีคนจำนวนหนึ่งมองว่า สวัสดิการแม่และเด็กที่ดีจะทำให้คนมีลูกมากขึ้น แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมประเทศที่สวัสดิการลักษณะนี้ที่ถือว่าดีที่สุดในโลกแบบสวีเดน ถึงมีอัตราการเกิดน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าสวัสดิการแย่?
ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรามองว่าการขยายตัวของการศึกษา และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงาน จะทำให้ผู้หญิงมีลูกน้อยลง ถ้าเราลองเทียบ ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่บทบาทผู้หญิงในสังคมใกล้เคียงกัน และคนมีการศึกษาระดับใกล้เคียงกัน เราก็จะเห็นเลยว่าทั้ง 3 ประเทศมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่างกันยังกะอยู่คนละภูมิภาค
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้ต่างกัน? เอาจริงๆ สิ่งที่เป็นปัจจัยที่คนปัจจุบันลืมไปเพราะมันไม่มีแล้ว นั่นก็คือ "นโยบายประชากร"
แน่นอน คนปัจจุบันอาจลืมสิ่งพวกนี้ไป แต่จริงๆ แล้ว ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ยุคสงครามเย็น พวกองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศและรัฐต่างๆ มีความพยายามในการปั่นตัวเลข ทั้งรายได้ประชาชาติและรายได้ต่อหัวกันมาก และทุกคนรู้ว่าการทำให้คนมีลูกน้อยลง จะทำให้ตัวเลขนี้ดีขึ้น เราอาจจำแต่กรณีสุดขั้วอย่าง "นโยบายลูกคนเดียว" ของจีน แต่จริงๆ แล้วนโยบายพวกนี้มีแพร่หลายทั้งในโลกทุนนิยมและคอมมิวนิสต์
ในกรณีของไทย เรื่องนี้อาจย้อนไปที่ชายผู้ที่ บิล เกตส์ ขนานนามว่า "ราชาถุงยางอนามัย" อย่าง มีชัย วีระไวทยะ โดย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ของเขา มีบทบาทอย่างมากในการลดประชากรของไทย ผ่านการสอนให้มีการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิด โดยมีชัยเป็นคนแรกๆ ที่รณรงค์ให้คนไทยใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการคุมกำเนิดอย่างจริงจัง ซึ่งหลายๆ คนที่มีอายุพออาจทันได้ยินคำขวัญว่า “ลูกมากจะยากจน” ซึ่งนั่นแหละจุดเริ่ม
มีชัย เริ่มรณรงค์ในปี 1977 และช่วงทศวรรษ 1980 คนก็มีลูกน้อยลงจริงๆ คนเกิดยุคนี้ถ้าลองมองดูรอบๆ ก็น่าจะเห็นว่าใครมีพี่น้องเกิน 3 คนก็แปลกแล้ว และอัตราการลดลงของประชากรก็ลงมาเรื่อยๆ จนถึงปี 1993 เป็นปีแรกที่อัตราเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไทยลงต่ำกว่า 2 และก็ลดลงมาหยุดจนลงมา 1.5 ในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้ว่ากันตรงๆ ในระดับนานาชาติคนอย่างมีชัยก็ได้เครดิตเต็มๆ ว่า เป็นคนทำให้เกิดขึ้น ไม่งั้น บิล เกตส์ คงไม่เรียกเค้าว่า "ราชาถุงยาง" และถ้าคนไทยที่มีอายุพอก็อาจเคยได้ยินคนเรียกถุงยางว่า "ถุงมีชัย" เพราะเค้ามีอิทธิพลในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยขนาดนั้น
ในปี 2017 มีคนไปถามมีชัยว่า คิดยังไงที่ทุกวันนี้สิ่งที่เค้าทำไปทำให้สังคมไทยเกิดผู้สูงอายุ เค้าตอบว่า
“หากไทยไม่มีการวางแผนครอบครัว ก็จะมีประชากรใกล้ๆ กับฟิลิปปินส์วันนี้ นั่นคือเกิน 100 ล้านคนซึ่งจะทำให้สภาพเศรษฐกิจมีปัญหา ความยากจนจะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ขณะที่ไทยมีประชากรไม่ถึง 70 ล้านคน สามารถดูแลปากท้องของประชาชนได้ดีพอสมควร ...เราจะเป็นอย่างฟิลิปปินส์หรือจะเป็นอย่างเราทุกวันนี้?”
ที่ยกมาให้ดูก็อยากให้เห็นว่ามีชัยตระหนักถึงอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยของตัวเองเป็นอย่างดี และยังมองว่าสิ่งที่ตนทำคือสิ่งที่ถูกต้องอยู่
อย่างไรก็ดี คำถามง่ายๆ ก็คือ กระบวนการ "มีลูกน้อยลง" ของไทยมันเลยเถิดไปหรือไม่? มีชัยอาจมองว่าไทยมีลูกน้อยกว่าฟิลิปปินส์เกือบครึ่งนึงเป็นเรื่องดี แต่การที่คนไทยมีลูกกันน้อยกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สวีเดน หรือกระทั่งเวียดนาม เราจะมองว่ามันเป็นสิ่งพึงประสงค์จริงเหรอ?
จริงอยู่ แนวโน้มรวมๆ ในโลก เมื่อประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ยังไงคนก็จะมีลูกน้อยลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยคือ เราดันไป "เร่งกระบวนการ" ให้คนมีลูกน้อยลง และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนมีลูกน้อยลงเร็วเกินที่เศรษฐกิจจะพัฒนาไปถึงจุดที่เราจะทำอะไรหลายๆ อย่างได้ หรือกระทั่งทำการเปลี่ยนผ่านสร้างสถาบันทางสังคมใหม่ๆ มารองรับสิ่งที่จะเสื่อมถอยไปเมื่อคนมีลูกน้อยลงได้ทันท่วงที เพราะจริงๆ ไอ้ปัญหาที่เค้าเรียกว่า Sandwich Generation หรือคนวัยทำงานต้องดูแลทั้งพ่อแม่และลูกของตนไปพร้อมกัน ก็จะไม่เกิดด้วยซ้ำ ถ้าคนรุ่นพ่อแม่เราไม่มีลูกน้อยลงกว่าคนรุ่นก่อนแต่แรก และสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นผลตรงๆ ของการรณรงค์อย่าง "มีลูกมากจะยากจน"
ในโลกนี้เท่าที่ผ่านมา มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงไปกลับมาเพิ่มขึ้นอีก มีคนเสนอแนวทางมากมาย ลองเอามาใช้จริงก็ไม่ได้ แต่ไม่มีใครทำได้สำเร็จเลย และสุดท้ายพวกรัฐที่อัตราการเจริญพันธุ์ยังไม่ลดลงมากก็เลยพยายาม "เลี้ยง" อัตราการเจริญพันธุ์เอาไว้ให้ไม่ลดลงเร็วเกินไปเท่านั้น
ส่วนรัฐที่อัตราการเกิดลดลงแล้ว และยอมรับความจริงว่าไม่มีทางจะเพิ่มกลับได้ด้วยประชากรปัจจุบัน แนวทางที่ปฏิบัติได้จริงมีอย่างเดียว คือ การรับผู้อพยพมาเป็นพลเมืองเพิ่ม ซึ่งในหลายประเทศก็มีภาพที่ชัดเจนว่าผู้อพยพไม่ได้มีทัศนคติการมีลูกแบบเดียวกับพลเมืองดั้งเดิม และมีลูกกันมากกว่ากลุ่มพลเมืองดั้งเดิม
แน่นอน ผลที่ตามมาก็คือจะมีการต่อต้านผู้อพยพ พรรคขวาจัดขยายตัว ดังที่เห็นได้ทั่วไปในยุโรป แต่นี่ก็คือสิ่งที่ยังไงก็เกิด
นี่เลยทำให้คำถามจริงๆ ของประเทศที่ประชากรขาดแคลนว่า ไม่ควรจะเป็นการทำยังไงให้ประชากรมีลูกเพิ่มขึ้น แต่เป็นการ "นำเข้า" ผู้อพยพมาขยายประชากรยังไงให้ผู้อพยพเหล่านั้นยอมรับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ในชาติ และไม่มีความขัดแย้งกับกลุ่มประชากรเดิมมากจนเกินไป ไม่งั้นการเมืองแบบขวาจัดก็จะเกิดและขยายตัวอย่างฉุดไม่อยู่ จนอาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงในที่สุด
อ้างอิง
Total fertility rate
มีชัย วีระไวทยะ: ‘ถุงมีชัย’ ราชาถุงยาง ผู้ผลักดันการวางแผนครอบครัวในไทย