Skip to main content

 

ท่ามกลางการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นนิยมสมัครหางานผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดของการให้บริการดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่นักวิชาการกังวลว่า ผู้สูงวัยอาจต้องตรากตรำงานหนักจนเกินไปเพื่อแลกกับค่าแรงเพียงเล็กน้อย 

Timee หนึ่งในแอปพลิเคชันตัวกลางยอดนิยมที่จับคู่ผู้สูงวัยที่ต้องการทำงานกับนายจ้าง ดำเนินการโดยบริษัทในโตเกียว เผยว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมาลงทะเบียนเพื่อหางานกับแอปถึงราว 51,000 คน

จำนวนผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่ลงทะเบียนกับแอปหางานเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ผลสำรวจของ Timee พบว่า ร้อยละ 65 ของผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนสมัครงานระบุว่า เพราะต้องการให้สุขภาพยังคงดีอยู่ ร้อยละ 59 ระบุว่า เพื่อหาเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละวัน และร้อยละ 59 ตอบว่า เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ขณะที่ร้อยละ 33 ตอบว่า ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และร้อยละ 27 ต้องการที่จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

สภาพการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงของญี่ปุ่น ผลักดันให้นายจ้างต้องหันมาพึ่งพาแรงงานสูงอายุ สถาบันรับสมัครงานของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ภายในปี 2040 ญี่ปุ่นจะขาดแรงงานที่ราว 11 ล้านคน

หญิงวัย 70 ปีรายหนึ่งในโตเกียว เดินทางจากที่ทำงานหนึ่งไปยังที่ทำงานอีกแห่ง เธอลงทะเบียนกับ Timee ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างร้านอาหารต่างๆ และธุรกิจอื่นๆ กับคนที่ต้องการทำงานภายใต้การทำงานแบบที่เรียกว่า Spot work หรือการงานแบบชั่วคราวที่มีชั่วโมงการทำงานสั้นๆ โดยผู้จ้างจะทำสัญญาจ้างงานกับคนทำงาน และ Timee จะหักเงินค่าบริการร้อยละ 30 จากค่าแรงของผู้ใช้งาน

เธอทำงานเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง โดยทั่วไปจะเป็นงานล้างจาน ทำความสะอาดร้านอาหาร บรรจุห่อและเรียงผักต่างๆ เข้าชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต เธอบอกว่า ไม่ประสบความสำเร็จในการสมัครงานตามที่ลงโฆษณาในนิตยสาร หรือที่ติดประกาศตามศูนย์จัดหางานสำหรับผู้สูงอายุ ทำให้หันมาใช้งานแอปนี้

เธออาศัยอยู่ลำพังอยู่กับแมวหนึ่งตัว และเปลี่ยนงานบ่อยมาตั้งแต่อายุยังน้อย เธอบอกว่า ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยเงินจากประกันสังคมเพียงอย่างเดียว จึงต้องหางานทำ โดยมีรายได้จากการทำงานแบบ Spot work ราวเดือนละ 1 แสนเยน หรือตกประมาณ 23,670 บาท และตั้งใจว่าจะลงทะเบียนเพิ่มเติมกับแอปอื่นๆ เพื่อหาโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น

“ฉันดีใจที่ยังทำงานไหว และอยากทำงานต่อไปอีกสัก 10 ปี” เธอบอก

เธอบอกว่า จะเลือกงานที่เหมาะกับสภาพร่างกายและการจัดเวลาในแต่ละวัน และมองหางานที่ไม่ต้องเครียด นอกเหนือจากรายได้แล้ว เธอบอกว่า ข้อดีของการออกไปทำงานนอกบ้าน คือ การไม่รู้สึกว่าถูกกีดกันออกจากสังคม ซึ่งนั่นทำให้เธอยังคงกระฉับกระเฉงและแข็งแรง

ขณะที่ผู้สูงอายุอื่นๆ ในญี่ปุ่น หวนกลับมาหางานผ่านแอปกันมากขึ้น อดีตครูวัย 60 รายหนึ่งบอกว่า หลังจากเกษียณแล้ว เขาเริ่มใช้แอปหางานเพื่อให้ยังคงติดต่อกับสังคม โดยทำงานส่งอาหารเพราะชอบการขี่มอเตอร์ไซค์

ผลการสำรวจโดย สถาบันวิจัยยาโน ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านการตลาด เผยว่า มูลค่าของการให้บริการเป็นตัวกลางในหางานให้ลูกจ้างกับนายจ้าง มีมูลค่าถึง 82.4 พันล้านเยนในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 จากปีก่อนหน้า ทำให้หลายบริษัทมีแผนที่จะเปิดให้บริการแอปพลิคชันหางานให้ผู้สูงอายุในลักษณะเช่นเดียวกันนี้

อายากะ คาโตะ โฆษกของ Timee บอกว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้แอป Timee ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น คือ ความต้องการอันหนักแน่นของผู้สูงอายุที่ยังต้องการติดต่อกับสังคมต่อไป

“ความสามารถของคนเรา ไม่ควรถูกตัดสินจากแค่เรื่องที่ว่า คุณอายุเท่าไหร่แล้ว นายจ้างควรอัพเดตความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุเสียใหม่” โฆษก Timee กล่าว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนแสดงความกังวลต่อการขยายตัวของการจ้างงานผู้สูงอายุว่า จะทำให้เกิดการตรากตรำจากงานหนักภายใต้สภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง

ฮิเดโอะ คีโนชิตะ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโอซากา กล่าวว่า มาตรฐานของเงินบำนาญจากกระทรวงสวัสดิการสังคม สำหรับคู่สมรสอยู่ที่ 2 แสน 3 หมื่นเยน แต่เงินจำนวนนี้อยู่บนสมมติฐานที่ว่า สามีทำงานเป็นพนักงานบริษัทมาเป็นเวลา 40 ปี ขณะที่ภรรยาเป็นแม่บ้านตลอดระยะเวลานั้น

ศาสตราจารย์ฮิเดโอะกล่าวว่า จะต้องมีการจ่ายบำนาญให้กับผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นแรงงานสัญญาจ้าง ซึ่งทำงานโดยไม่ได้รับผลประโยชน์ในแบบที่ลูกจ้างปรกติได้รับ

“มีผู้สูงอายุที่ไม่มีทางเลือก ต้องทำงานเพื่อแลกกับเงินจำนวนน้อยนิด เราควรจะตระหนักถึงความจริงที่ว่า พวกเขาถูกทำให้ต้องทำงานไปเรื่อยๆ จนแก่เฒ่า” ศาสตราจารย์ฮิเดโอะกล่าว


ที่มา
More seniors join expanding ‘spot work’ market for survival