Skip to main content

Libertus Machinus

 


ถ้าย้อนไปสัก 10 ปีก่อน จอร์เจียน่าจะเป็นประเทศที่คนไทยแทบไม่รู้จักเลย แต่ทุกวันนี้หลังเหล่า YouTuber แห่กันไปเที่ยว ชาวไทยก็น่าจะรู้จักประเทศอันสวยงามนี้มากขึ้นเยอะ ซึ่งหลายคนมักจะรู้จักในฐานะประเทศที่คุณภาพชีวิตและวิวทิวทัศน์มัน ‘มาตรฐานยุโรป’ แต่ค่าครองชีพพอๆ กับเมืองไทย


แน่นอน อะไรๆ พวกนี้ฟังดู ‘น่าเที่ยว’ แต่จริงๆ แล้วในระดับโลก จอร์เจียมีชื่อเสียงมากๆ ด้านการ ‘ปฏิรูประบบราชการ’ เพราะ ‘ตำนาน’ ของประเทศนี้ก็คือการ ‘ไล่ตำรวจออกทั้งประเทศ’ แล้วจ้างตำรวจชุดใหม่มาทำงานทั้งหมด เรียกว่าเป็นการ ‘รื้อสร้าง’ แบบความหมายตรงตัว แล้วมันเวิร์คด้วย

แต่ทำไมจอร์เจียต้องทำอย่างนั้น? และจอร์เจียทำแบบนั้นได้อย่างไร? เราอาจต้องย้อนประวัติจอร์เจียหน่อย

ย้อนประวัติจอร์เจีย

จอร์เจียคือประเทศอดีตสหภาพโซเวียตนะครับ แยกมาตอนปี 1991 ซึ่งก็คงไม่ต้องเดาว่าตอนแยกมาจากโซเวียตประเทศนี่ก็เน่ามาก คือบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป อาชญากรมีอำนาจ ตำรวจก็ใช้อำนาจไถเงินคน และประชาชนก็เรียกว่า ‘โจรที่มีกฎหมายในมือ’ (ถ้าสำนวนไทยก็คงเรียก โจรในเครื่องแบบ)

รัฐบาลยุคแรกๆ เป็นรัฐบาลเก่าที่มาตั้งแต่ยุคโซเวียต ซึ่งปกครองประเทศได้พังมาก แล้วก็รักษาอำนาจตัวเองตามระเบียบไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายประชาชนทนไม่ไหวลุกฮือ เกิดเหตุการณ์ที่ชื่อ Rose Revolution ในปี 2003 คือประธานาธิบดีลาออก มีการเลือกตั้งทันที และคนที่ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ คือผู้นำม็อบที่เป็นนักกฎหมายหนุ่มวัย 36 ปี ชื่อ Mikheil Saakashvili

ภูมิหลังคือ คนจอร์เจียต้องการให้ประเทศเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่งั้นคงไม่ต้องระดับ ‘ปฏิวัติ’ กัน ดังนั้น ตอน Saakashvili ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เค้ามีความชอบธรรมที่จะทำอะไรที่ ‘ไม่เคยทำมาก่อน’ และสิ่งสำคัญที่เลือกทำคือการ ‘ปฏิรูปตำรวจ’

การปฏิรูปตำรวจมันสำคัญมาก เพราะตำรวจในยุคนั้นไม่ทำงานรักษากฎหมายใดๆ เอาแต่ซ้อมและไถเงินประชาชน แล้วปล่อยพวกแก๊งค์มีอำนาจบนท้องถนน ดังนั้น การปฏิรูปตำรวจมันเลยเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนที่ส่วนอื่นของรัฐจะปฏิรูปใดๆ
 

แล้วการปฏิรูปต้องเป็นระดับไหน? คือโพลตอนปฏิวัติเสร็จชี้ว่า คนจอร์เจียเพียง 2.3% เท่านั้นที่มองตำรวจในแง่ดี คือมันพังระดับนั้น ดังนั้น การปฏิรูปต้องทำแบบถอนรากจริงๆ


ตำนานการไล่ตำรวจออกทั้งประเทศ

สิ่งแรกที่เค้าทำคือ ไล่ตำรวจออกทั้งหมดแบบไล่ออกเกือบหมดประเทศจริงๆ แบบไล่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการออกทั้งหมด ซึ่งนั่นคือ 80-90% ของกำลังตำรวจทั้งหมด หรือประมาณ 25,000-30,000 คน

นอกจากนี้ ยังทำการยึดทรัพย์ที่ตำรวจโกงประชาชนไป นี่ทำให้เค้ามีเงินทุนในการ ‘ปฏิรูป’ ทั้งที่ประเทศยากจนมากๆ และก็ต้องเน้นว่าที่เค้าทำแบบนี้ได้ เพราะมันเป็นบรรยากาศหลังการปฏิวัติ และคนในประเทศต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากจริงๆ มันไม่ใช่ภาวะปกติ
 

สิ่งที่สองที่เค้าทำคือ การจ้างเจ้าหน้าที่ตำรวจใหม่ทั้งหมด แต่ไอเดียไม่เหมือนเดิมแล้ว ตำรวจรุ่นเก่าคือเงินเดือนน้อย ประเทศยากจนก็เลยคอรัปชั่นให้มีกิน แต่ตำรวจรุ่นใหม่รัฐเพิ่มเงินเดือนให้เป็นเกือบ 10 เท่าตัว เพื่อ ‘ดึงคนมีฝีมือ’ มาให้เป็นตำรวจ ซึ่งตำรวจหน้าใหม่พวกนี้ก็ไม่ได้มีสายสัมพันธ์กับเครือข่ายคอรัปชั่นเก่า เพราะพวกนั้นถูกล้างบางไปหมดแล้ว โดยถามว่าแล้วคนมาเป็นตำรวจใหม่จะรู้เรื่องได้ยังไง? คือเค้ามีการตั้งโรงเรียนตำรวจขึ้นมา เพื่อผลิตตำรวจรุ่นใหมต่อไป ซึ่งถามว่าเค้าทำได้ไง เอาเงินมาจากไหน? เงินส่วนหนึ่งเกิดจากการยึดทรัพย์อย่างที่ว่า เงินอีกส่วนเกิดจากการปรับเพิ่มงบและลดปริมาณเจ้าหน้าที่ตำรวจลงเกือบครึ่ง เพราะเค้าต้องการ ‘คุณภาพ’ มากกว่า ‘ปริมาณ’ และก็แน่นอนเงินอีกส่วนมาจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา

อย่างที่สามที่เค้าทำคือ เรียกศรัทธากลับมาจากประชาชน คือมีการสร้างโรงพักใหม่จำนวนมากที่เป็นกระจกหมดให้ประชาชนเห็นการทำงานของตำรวจชัดๆ และที่ทำแบบนี้ เพื่อสะท้อน ‘ความโปร่งใส’ ของตำรวจให้ประชาชนเห็น และจริงๆ ทุกวันนี้ถ้าไปเที่ยวกรุงทบิลิซี่ของจอร์เจีย เราก็จะเห็น ‘โรงพักกระจก’ พวกนี้เต็มไปหมด นี่คือผลของการปฏิรูปตำรวจที่พวก YouTuber น่าจะไม่ได้สังเกตและเล่าให้ฟัง


ทั้งหมดนี้ผลรวมๆ 10 ปีของการปฏิรูปก็คือในปี 2013 อาชญากรรมรุนแรงลดลงเกิน 2 ใน 3 อาชญากรรมที่เคยฮิตสุดอย่างการขโมยรถหายไปหมด และจริงๆ ปริมาณอาชญากรรมรวมๆ ก็หายไปครึ่งหนึ่ง ศรัทธาของประชาชนก็กลับมา และประชาชนถึง 87% ก็ยอมรับการทำงานของตำรวจเลยในตอนพีคๆ ซึ่งช่วงนั้น จอร์เจียก็เลยเป็นตำนานเลยเพราะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ ‘ตำรวจ’ ทำงานดี และประชาชนเชื่อถือว่าประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากซะอีก

แน่นอน หลังจากนั้นตำรวจจอร์เจียก็มีแย่ลงบ้าง การมีการประท้วงและตำรวจลงไปปราบม็อบก็ทำให้ประชาชนเกลียดตำรวจขึ้น แต่ในภาพรวม ‘การคอร์รัปชัน’ ของประเทศนี้ก็ถือว่าน้อยว่าประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอื่นๆ ทั้งหมด และแน่นอนว่าท้องถนนก็ ‘ปลอดภัย’ กว่ายุคก่อนการปฏิรูป แบบเทียบกันไม่ได้

ซึ่งถ้าประเทศมันไม่ ‘ปลอดภัย’ ขนาดนี้ คนไทยก็ไม่ไปเที่ยวกันเยอะขนาดนี้หรอกครับ

แต่ประเด็นก็คือ มันมีเรื่องราวที่เป็น ‘ตำนาน’ อยู่ ที่แม้แต่คนไปเที่ยวก็ไม่เห็นอย่างน่าเสียดาย เพราะอย่างน้อยๆ พวกโรงพักที่กำแพงทำจากกระจกทั้งหมดที่เห็นได้ทั่วไปก็คือมรดกของการปฏิรูปตำรวจในตำนานที่ยังเหลือให้เห็นจนทุกวันนี้
 



ข้อมูลอ้างอิงจาก:
I Abolished and Rebuilt the Police. The United States Can Do the Same.
Georgia's National Police Corruption Project
How Georgia Abolished its Police
 

อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน