Skip to main content

นาซา เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียม ‘มลพิษทางอากาศ’ บริเวณภาคเหนือของไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาการเผาในที่โล่ง และภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบินสำรวจเหนือน่านฟ้าของไทยที่บันทึกไว้วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ earthobservatory.nasa.gov เผยแพร่ภาพถ่ายจากดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศบริเวณตอนบนของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาหมอกควันพิษปกคลุม

ในเว็บไซต์ระบุว่า ก่อนเข้าฤดูร้อนปีนี้ ดาวเทียมสำรวจคุณภาพอากาศ ASIA-AQ ได้เคลื่อนที่มาเหนือประเทศไทย และจับตาภาวะหมอกควันในบริเวณนี้อย่างใกล้ชิด และในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของ มี.ค.เครื่องบิน DC-8 และ Gulfstream III ขององค์การนาซา ได้ทำการบินเหนือน่านฟ้าเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบเพื่อเก็บตัวอย่างคุณภาพอากาศ ซึ่งทำไปพร้อมๆ กันกับที่ดาวเทียมสังเกตการณ์ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลหมอกควัน

ในเดือน ม.ค.และ ก.พ.ของทุกปี ดาวเทียมสังเกตการณ์จะเริ่มตรวจจับคลื่นของควันและการเกิดไฟไหม้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริเวณป่าบนพื้นที่สูงของกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทย ซึ่งพบว่า การเผาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงเดือน เม.ย. และค่อยจางลงเมื่อเข้าสู่เดือน พ.ค.ซึ่งเป็นต้นฤดูฝน

เว็บไซต์ของนาซาระบุด้วยว่า จุดไฟที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการที่มีคนจุดโดยตั้งใจ และมีขนาดเล็กไหม้อยู่ไม่นาน แต่มักก่อให้เกิดควันจำนวนมาก และสร้างมลพิษทางอากาศปกคลุมไปทั่วพื้นที่ชนบทและพื้นที่เมือง ชั้นหนาของหมอกควัน จะเต็มไปด้วยอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่า แอโรซอล และแก๊สต่างๆ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนออกไซด์ และโอโซน ที่ทำลายคุณภาพอากาศและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

 

 

ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2024 


เจมส์ ครอว์ฟอร์ด นักสำรวจของ ASIA-AQ บอกว่า “ทีมทำงานจะใช้ข้อมูลในการหารูปแบบของหมอกควันที่ค่อยๆ พัฒนาไปเป็นสารเคมี และแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค”

หมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอนุภาคขนาดเล็กที่อยู่ในควันจะเข้าสู่ปอด กระแสเลือด และทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 33,000 คน และมีผู้ล้มป่วยอีกจำนวนนับล้านคน

 

 

ภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบิน DC-8 เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2024

 

ในเว็บไซต์ระบุด้วยว่า นาซาทำงานร่วมกับหุ้นส่วนในภูมิภาค และโครงการ USAID-NASA SERVIR ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อการให้ข้อมูลกับประชาชนเกี่ยวกับหมอกควันในฤดูการเผา และกำลังพัฒนาเครื่องมือหนึ่งชื่อว่า “Smoke Watch” ซึ่งสามารถรายงานการเกิดไฟไหม้แบบเรียลไทม์โดยดาวเทียมสังเกตการณ์ VIIRS เพื่อแจ้งนักผจญเพลิงให้เข้าไปดับไฟในบริเวณที่มีไฟไหม้ได้โดยเร็วที่สุด

นาซาระบุว่า หลังจากนี้นักวิทยาศาสตร์จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากเครื่องบินสำรวจ ร่วมกับข้อมูลจากการตรวจจับของดาวเทียม รวมถึงเครื่องมืออื่นๆ ต่อไป

ที่มา Grappling with Thailand’s Seasonal Haze