การแสดงสีหน้า “เฉยเมย” ขณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัยในบางครั้งคราว แต่สำหรับ คนเจน Z แล้ว อาการ “หน้านิ่ง” ในตอนที่กำลังมีบทสนทนากับผู้อื่นกลายเป็นพฤติกรรมปรกติ จนเกิดเป็นประเด็นถกเถียงถึง “สีหน้าไร้อารมณ์” ของคนเจน Z บนโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง X และ TikTok ว่าเกิดจากอะไรกันแน่
ทำไมคนเจน Z จึงแสดงสีหน้าแบบนั้นจนเป็นปรกติ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องการที่จะบอกหรือต้องการสื่ออะไร
“gen Z stare” หรือ ใบหน้าที่นิ่งเฉย ไม่สื่อถึงอารมณ์ใดๆ แม้ในตอนที่พบปะกับคนอื่น หรือกำลังคุยสัพเพเหระอยู่กับเพื่อนๆ สีหน้าที่ว่างเปล่านี้เกิดขึ้นทั่วไปกับคนเจน Z โดยเฉพาะคนที่ทำงานซึ่งต้องให้บริการหรือมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า
หลายคนอธิบายว่า สีหน้านิ่งเฉย เป็นการหยุดนิ่งชั่วขณะเพื่อใช้เวลาทำความเข้าใจกับคำถามที่คนเจน Z ได้รับมา ขณะที่อีกหลายคนโทษว่า เป็นเพราะคนรุ่นนี้ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป จึงทำให้ทักษะทางสังคมต่ำ บางคำอธิบายบอกว่า เป็นเพราะคนรุ่นนี้เหน็ดเหนื่อยเพราะการทำงานตามคำสั่งและได้ค่าตอบแทนต่ำ
คนเจน Z คือ คนที่เกิดระหว่างปี 1997 ถึง 2012 และเป็นคนรุ่นแรกที่ไม่เคยอยู่ในโลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต คนเจน Z จำนวนมากมีชีวิตช่วงวัยรุ่นในระหว่างการล็อกดาวน์ช่วงที่โควิดระบาดอยู่หลายปี จำนวนมากเรียนหนังสือทางออนไลน์ และจบชั้นมัธยมปลายในช่วงที่มีการล็อกดาวน์
มาร์ค แมคครินเดิล นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ บอกว่า คนเจน Z มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 30 ของแรงงาน และราวครึ่งหนึ่งไม่ได้ทำงานประจำ
“คนรุ่นนี้ชอบการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีเพราะสะดวกรวดเร็ว แต่เวลาทำงานที่ได้รับค่าจ้าง พวกเขาก็ยังต้องพบปะผู้คนจริงๆ และสื่อสารแบบต่อหน้าอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับคนรุ่นเก่า ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้น” มาร์ค กล่าว
ดร.เชน โรเจอร์ส อาจารย์สอนด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยอีดิธโคแวน ในออสเตรเลีย กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดแจ้งในทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า การล็อกดาวน์ช่วงโควิดเป็นสาเหตุทำให้ทักษะทางสังคมของคนรุ่นนี้ย่ำแย่ แต่ก็เป็นไปได้ว่า การมีชีวิตในสถานการณ์ที่แปลกประหลาดเป็นเวลาหลายปีระหว่างที่ล็อกดาวน์ อาจมีผลอย่างมากกับคนเจน Z แต่ยังมีปัจจัยเรื่องของการที่คนรุ่นนี้เติบโตมาพร้อมกับพื้นฐานการสื่อสารผ่านออนไลน์และโซเชียลมีเดียด้วย
เกรซ ซึ่งเป็นคนเจน Z เกิดเมื่อปี 1999 บอกว่า เธอไม่คิดว่าการไม่แสดงออกถึงอารมณ์ทางใบหน้า มีวัตถุประสงค์ที่จะสื่อถึงอะไรเป็นการเฉพาะ
“มันก็เหมือนแค่ว่า รู้สึกว่าต่อไม่ติด อาจเป็นเพราะสารพัดสิ่งถาโถมเข้ามามากเกินไป หรือไม่ก็แค่รู้สึกรำคาญ หรือรู้สึกกดดัน มันเป็นแบบนั้นมากกว่า” เธอกล่าว
เกรซบอกว่า เธอไม่คิดว่าการแสดงใบหน้าเฉยเมยในตอนที่พบปะคนอื่นๆ หรือระหว่างที่พูดคุยสัพเพเหระกัน เป็นการกระทำที่หยาบคายอะไร
เกรซ เป็นหนึ่งในคนรุ่นที่โตมากับอินเทอร์เน็ต และพบปะผู้คนจำนวนมากทางออนไลน์ เธอบอกว่า การสนทนาทางอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถข้ามช่วงคุยสัพเพเหระไปได้เลย และตรงเข้าประเด็นที่จะคุยกัน เพราะตอนนั้นบางคนอาจกำลังดูรายการทีวีรายการโปรดอยู่ หรืออาจกำลังแชร์หรือโพสต์บางอย่างอยู่
“พวกเราไม่ใช่คนรุ่นที่จะเม้ามอยจริงๆ เพราะไม่ได้โตมาแบบนั้น มันจึงยากกว่าที่จะรู้วิธีรับมือกับการคุยสัพเพเหระ แบบซึ่งหน้ากับคนอื่น” เกรซ กล่าว
ในอุตสาหกรรมบริการ อย่างเช่นร้านอาหาร พนักงานของร้านมักถูกคาดหวังให้มีท่าทีที่สุภาพยิ้มแย้มอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะจากคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่พอใจกับการที่พนักงานรุ่นใหม่ที่ไม่แสดงออกในลักษณะแบบนั้น
มาร์ค กล่าวว่า คนเจน Z ให้ความสำคัญกับความจริงใจ หมายความว่า พวกเขาไม่ได้ “ยอมเล่นไปตามเกม” ในงานบริการเสมอไป โดยเฉพาะในตำแหน่งที่พวกเขารู้ตัวว่าไม่ได้ตั้งใจจะทำต่อเนื่องในระยะยาว
เขาบอกว่า คนเจน Z ไม่ได้ภักดีต่อนายจ้างมากนัก และตระหนักในสิทธิของตัวเอง และรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง คนเจน Z บอกว่า ใบหน้านิ่งเฉย คือ ‘ความจริงใจ' แต่มักจะถูกมองว่า 'เย็นชา' หรือไม่ค่อยแคร์ลูกค้า
“ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่แคร์นะ แต่พวกเขาแค่ต้องการจะเป็นตัวของตัวเอง และไม่อยากแกล้งทำเสียงอ่อนเสียงหวาน หรือแสดงความอบอุ่นแบบปลอมๆ” มาร์คกล่าว
ดร.เชนกล่าวว่า สีหน้านิ่งเฉย เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ และใช้สื่อสารได้หลากหลายความหมาย อาจสื่อถึงความเบื่อหน่าย หรือความเฉยเมย หรือสื่อถึงการดูแคลนได้ด้วยเช่นกัน
เขาอธิบายว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้สายตาแบบคนเจน Z สร้างความอึดอัดให้กับคนรุ่นเก่า ก็เพราะพวกเขาตีความผิด โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นเก่า เข้าใจว่าสายตานั้นเป็นการแสดงอาการดูถูก
นอกจากนี้ ดร.เชนยังบอกว่า สายตาแบบนั้นอาจไม่ได้มีเจตนาอะไรเลยก็ได้ แค่เป็นการหยุดเพื่อคิดก่อนตอบ ซึ่งต่างจากคนรุ่นก่อนที่มักจะรีบตอบทันที