Skip to main content

 

เกาหลีใต้ กำลังประสบวิกฤต “สมองไหล” เมื่อคนเก่งและคนที่มีความสามารถต่างทยอยกันย้ายออกไปหางานทำยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในที่ซึ่งจ่ายค่าตอบแทนให้สูงกว่า และมีโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพที่มากกว่า

ขณะที่เกาหลีใต้ พยายามผลักดันให้ประเทศเป็น “ฮับทางด้านนวัตกรรม” และพยายามดึงดูดคนที่มีความสามารถจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงาน โดยลดอุปสรรคในเรื่องของวีซ่า และขยายโอกาสด้านการศึกษาให้กับนักเรียนต่างชาติ แต่ขณะเดียวกัน คนเกาหลีเองที่เรียนจบระดับปริญญาเอกกลับค่อยๆ ทยอยย้ายออกจากประเทศไปอย่างเงียบๆ

ปัจจุบัน เกาหลีใต้สูญเสียบุคลากรที่ยอดเยี่ยมและมีอนาคตไกลไปให้กับบริษัทและสถาบันในต่างประเทศรวมแล้วเป็นหลักหลายร้อยคน เนื่องจากมีข้อเสนอเรื่องค่าตอบแทนที่ดีกว่า มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้กับการทำงานวิจัยที่มากกว่า ที่สำคัญ คือ มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงานที่มากกว่า  

ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศและมีสาขาการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” กลายเป็นศูนย์กลางของอาการ “สมองไหล” มีศาสตราจารย์ผู้มากความสามารถและอนาคตไกลรวม 56 คน ลาออกเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ

กระทรวงการศึกษาของเกาหลีใต้เผยว่า นอกจากนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรแล้ว เกาหลีใต้ยังสูญเสียศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไปอีก 28 คน แพทย์ศาสตร์ 1 คน ซึ่งลาออกไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน และประเทศอื่นๆ ที่ให้เงินเดือนสูงกว่าที่เกาหลีใต้ 4 เท่า

การสูญเสียคนมีความสามารถในอัตราเร่งสูง ยังส่งผลให้เกิดโดมิโนเอฟเฟ็กต์ กล่าวคือ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศย้ายเข้ามาทำงานในโซลแทนที่คนที่ลาออกไป และจากโซล คนที่ย้ายเข้ามาจากภูมิภาคก่อนหน้านี้ ก็จะลาออกเพื่อไปทำงานนอกประเทศเป็นระลอกๆ ไป

สถาบันทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงของเกาหลี คือ  KAIST, GIST, DGIST และ UNIST เผยว่า ระหว่างปี 2021 จนถึงกลางปี 2025 มีนักวิชาการและนักวิจัยจำนวน 119 คนลาออกจากสถาบันแถวหน้าทั้งสี่  และจำนวนมากย้ายเข้ามาในโซล ขณะที่มีศาสตราจารย์ 18 คนย้ายไปทำงานนอกประเทศ

สำนักข่าวโคเรียฮารัลด์ ระบุว่า ปรากฏการณ์สมองไหลนี้ เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยเกิดจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเกาหลีต่างทนกับการถูกแช่แข็งไม่ให้ขึ้นค่าเทอมต่อไปไม่ไหว ซึ่งส่งผลให้เงินเดือนของบรรดาอาจารย์คณะต่างๆ ไม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี ซ้ำเงินเดือนยังถูกกำหนดเป็นขั้นจากลำดับอาวุโสอย่างเข้มงวดอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกต่างก็พากันตามล่าตัวคนเกาหลีที่มีความสามารถด้วยเช่นกัน โดยมีแรงจูงใจเรื่องค่าตอบแทนที่สูง ซึ่งตำแหน่งศาสตราจารย์ในโซล จะได้รับค่าตอบแทนราว 100 ล้านวอน หรือราว 73,000 ดอลลาร์ แต่หากไปทำงานในต่างประเทศจะได้รับค่าตอบแทนเริ่มต้นไม่ต่ำกว่าที่ 330,000 ดอลลาร์

“ด้วยช่องห่างของเงินเดือนที่มากกว่ากันถึง 4 เท่า การพิจารณาถึงประโยชน์ของการทำงานวิจัย กับทรัพยากรที่มีอย่างล้นเหลือ และยังได้รับการสนับสนุนเรื่องที่พักอีก จริงๆ แล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปฏิเสธข้อเสนอดีๆ เหล่านี้เลย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์การวิจัยด้านเอไอของเกาหลีใต้รายหนึ่งกล่าว

ข้อมูลจากกระทรวงการศึกษาของเกาหลีใต้เผยว่า ในตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนเฉลี่ยของตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเอกชนเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.8 โดยเพิ่มจาก 100.6 ล้านวอน ในปี 2019 มาเป็น 101.4 ล้านวอนในปี 2024 ขณะที่ตำแหน่งรองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ เงินเดือนจะลดหลั่นกันลงไป

รายงานของสมัชชาแห่งชาติ หรือรัฐสภาเกาหลีใต้ เผยว่า นับจากปี 2021 ถึงพฤษภาคม 2025มหาวิทยาลัย 9 แห่งทั่วประเทศ ไม่นับรวมมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มีการสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถรวมแล้ว 323 คน

นอกจากนี้ ความสามารถของเกาหลีใต้ในการรักษาคนที่เก่งทางด้านเทคโนโลยีเอไอเอาไว้ ยังอยู่ในอันดับท้ายๆ ของประเทศกลุ่มสมาชิก OECD อีกด้วย โดยเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 35 จาก 38 ประเทศของสมาชิก OECD และพบว่า ในปี 2024 ประชากรทุก 10,000 คน จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ 0.36 คนย้ายออกจากเกาหลีใต้ เพื่อไปทำงานที่ต่างประเทศ เช่น ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี

จากการสำรวจพบว่า เงินเดือนยังคงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการตัดสินใจเรื่องการทำงาน โดยเป็นปัจจัยที่นักวิจัยด้านเอไอร้อยละ 85 ให้ความสำคัญ ผู้ที่จบปริญญาเอกสาขาเอไอที่สหรัฐ สามารถตั้งเงินเดือนเริ่มต้นที่ 114,000 ดอลลาร์ และอาจสูงถึง 139,000 ดอลลาร์สำหรับผู้ที่จบสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เมื่อเทียบกับเงินเดือนที่เกาหลีใต้แล้ว คนจบปริญญาเอกและทำงานวิจัยในบริษัทเอกชน เงินเดือนจะอยู่ที่ราว 30,000 ดอลลาร์

ความแตกต่างกันอย่างมากของค่าตอบแทนในการจ้างงานในเกาหลีใต้เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทำให้ถึงขั้นที่มีคำพูดในระหว่างนักวิจัยด้วยกันว่า “คนฉลาดต้องไม่อยู่ที่นี่ (เกาหลีใต้)”

ในการตอบโต้กับสถานการณ์สมองไหลที่กำลังเชี่ยวกรากนี้ ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้ภาครัฐยกระดับมาตรการแห่งชาติ จากการแค่ป้องกันการสมองไหล ไปสู่การส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศที่ไม่เพียงแต่จะทำให้ยังคงรักษาคนเก่งและคนที่มีความสามารถเอาไว้ได้ แต่ยังต้องเปิดรับและกระตุ้นให้นักวิจัยชาวเกาหลีที่มีความสามารถเดินทางกลับประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการจ่ายเงินเพิ่มเติมโดยวัดจากผลงาน และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแข่งขันด้านวิจัยในระดับโลก รวมถึงเสนอให้ขยายโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยกับนานาชาติ

“ถ้าไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม รวมถึงโอกาสในความก้าวหน้าแล้ว สุดท้ายคนที่เฉิดฉายที่สุดก็จะออกไปนอกประเทศ” นักศึกษาปริญาตรีด้านเอไอรายหนึ่งกล่าว


ที่มา
South Korea's brain drain -- Why top talent is leaving